จับตาเฟดประชุม หลังเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐแค่วันเดียว ส่อคงดอกเบี้ย

เลือกตั้งสหรัฐ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกบทวิเคราะห์ ประเมินว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.0-0.25% สำหรับการประชุมนโยบายการเงินที่จะมีขึ้นในวันที่ 4-5 พ.ย.นี้ เนื่องจากปัจจัยต่างๆ ดังต่อไปนี้

  • เศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มฟื้นตัวดีขึ้น ส่งผลให้แรงกดดันต่อการลดดอกเบี้ยนโยบายนั้นลดลง โดยเครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เช่น ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ยอดค้าปลีก และตัวเลขการจ้างงาน ทยอยปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาส 3/2563 น่าจะฟิ้นตัวดีขึ้นจากไตรมาส 2/2563 อย่างมีนัยสำคัญ หลังจากมีการทยอยปลดล็อกดาวน์ ทั้งนี้ IMF ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจสหรัฐฯ ปี 2563 หดตัวลดลงที่ -4.3% จากคาดการณ์เดิมที่ -8.0% ขณะที่คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ น่าจะใช้ระยะเวลายาวนานในการฟื้นตัว อย่างไรก็ดี มาตรการทางการเงินและการคลังต่างๆ ที่ได้ดำเนินไปแล้วน่าจะเพียงพอที่จะประคองเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปีนี้ให้อยู่ในกรอบที่ IMF คาดการณ์ไว้

 

  • เฟดมีการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์นโยบายการเงินและเป้าหมายในระยะยาวในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยปรับเปลี่ยนมาใช้เป้าหมายเงินเฟ้อเฉลี่ย (Average Inflation Targeting) แทนเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อเดิมที่คงที่ ซึ่งเฟดได้ส่งสัญญาณว่าจะคงดอกเบี้ยในระดับใกล้ศูนย์ไปอย่างน้อยจนถึงปี 2566 ท่ามกลางแนวโน้มเงินเฟ้อที่น่าจะยังอยู่ในระดับต่ำ ดังนั้น เฟดน่าจะยังคงดอกเบี้ยที่ระดับ 0.0-0.25% และไม่น่ามีการออกนโยบายใหม่ๆ เพิ่มเติมในการประชุมนโยบายการเงินที่จะถึงนี้

 

  • สหรัฐฯ จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีในวันที่ 3 พ.ย. ก่อนการประชุมนโยบายการเงินเพียง 1 วัน ดังนั้น เฟดมีแนวโน้มที่จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินในการประชุมนโยบายเงินครั้งนี้ เนื่องจากเป็นช่วงที่มีความอ่อนไหวทางการเมือง ซึ่งการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ครั้งนี้ ส่อเค้าที่จะนำมาซึ่งความวุ่นวายและการรับรองผลการเลือกตั้งอาจมีความยืดเยื้อ เนื่องจากประชาชนจำนวนมากมีแนวโน้มที่จะเลือกตั้งผ่านทางไปรษณีย์ ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังไม่สามารถควบคุมได้

อย่างไรก็ดี ต้องติดตามผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่จะส่งผลกระทบต่อทิศทางของนโยบายการคลังและการเงินในระยะข้างหน้า ท่ามกลางเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังเผชิญความเสี่ยงสูง ทั้งนี้ โดนัลด์ ทรัมป์ และโจ ไบเดนมีนโยบายที่ค่อนข้างแตกต่างกัน เช่น ทรัมป์มีนโยบายที่จะลดภาษีเพิ่มเติม ขณะที่ไบเดนมีนโยบายที่จะขึ้นภาษีเพื่อรองรับการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในการกระตุ้นเศรษฐกิจ

ซึ่งหากไบเดนชนะการเลือกตั้งและพรรคเดโมแครตครองเสียงข้างมากทั้งสองสภา จะส่งผลให้พรรคเดโมแครตสามารถผลักดันนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ได้โดยง่าย แนวโน้มขาดดุลทางการคลังเพิ่มขึ้นอย่างมาก และเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวได้เร็ว ซึ่งอาจหนุนให้อัตราเงินเฟ้อและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของสหรัฐฯ เร่งสูงขึ้นในระยะข้างหน้า อันจะก่อให้เกิดความท้าทายต่อการคงอัตราดอกเบี้ยในระดับใกล้ศูนย์ของเฟด

อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าเฟดจะยังไม่ลดระดับการผ่อนคลายทางการเงินและปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้น หากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังไม่ฟื้นตัวอย่างเต็มที่ ซึ่งท่ามกลางความเสี่ยงที่ยังอยู่ในระดับสูง ทั้งจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประเด็นทางการเมือง และประเด็นความขัดแย้งทางภูมิศาสตร์ เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะยังคงอ่อนแรง และน่าจะใช้ระยะเวลายาวนานกว่าในการฟื้นตัว ขณะที่หากอัตราเงินเฟ้อปรับสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เฟดก็ยังคงมีทางเลือกในการใช้นโยบายการควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทน (yield curve control) เพื่อรักษาอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับต่ำต่อไปในระยะข้างหน้า

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ยังต้องติดตาม โดยเฉพาะในจังหวะเวลาช่วงต้นปีหน้า ทั้งประเด็นการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ปัจจุบันจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันในสหรัฐฯ และยุโรปเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าในช่วงเดือนมี.ค.-เม.ย. ที่ผ่านมา และยังมีแนวโน้มที่จะเกิดการแพร่ระบาดหนักขึ้นในช่วงฤดูหนาวนี้ ประเด็นการเลือกตั้งสหรัฐฯ ที่อาจจะมีการฟ้องร้องกันจนทำให้การรับรองผลการเลือกตั้งล่าช้าออกไป ตลอดจนการผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ

ทั้งนี้ ในกรณีเลวร้ายที่ปัจจัยเสี่ยงทั้ง 3 ดังกล่าวเกิดขึ้นในจังหวะเวลาพร้อมๆ กัน กล่าวคือ สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 เลวร้ายลงไปกว่าปัจจุบันที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันในสหรัฐฯ ล่าสุดพุ่งขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์เกิน 8 หมื่นรายต่อวัน ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่รอบใหม่ยังไม่สามารถผลักดันออกมาได้

และหากเกิดกรณีที่การรับรองผลการเลือกตั้งล่าช้าออกไปหลังจากวันที่ 20 ม.ค. 2564 ซึ่งเป็นวันสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี จนทำให้สหรัฐฯ เผชิญสูญญากาศทางการเมืองหลังการเลือกตั้ง และไม่สามารถผลักดันมาตรการกระตุ้นได้ในช่วงต้นปีหน้า จะส่งผลให้แรงกดดันกลับมาอยู่ที่เฟดในการออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อช่วยสร้างความเชื่อมั่นและประคองเศรษฐกิจสหรัฐฯ ให้ผ่านพ้นช่วงวิกฤตินี้ไปได้