CIMBT เล็งตัดขายหนี้เสีย 3 พันล้าน กด NPLs เหลือ 5%

สุธีร์ โล้วโสภณกุล
สุธีร์ โล้วโสภณกุล

ซีไอเอ็มบี ไทย จ่อตัดขายหนี้เสียทิ้ง 3 พันล้านบาท กดหนี้อ็นพีแอลเหลือ 5% ย้ำเงินกองทุนยังแกร่ง 20% รับความเสี่ยงโควิด-19 เพียงพอ ประกาศโฟกัสธุรกิจรายย่อย-ธุรกิจสินเชื่อรายใหญ่สู่อาเซียน เล็งขยับพอร์ตเป็น 40% จาก 30% หรือ 7.5 หมื่นล้านบาทจากพอร์ตสินเชื่อรวม 2.3 แสนล้านบาท พร้อมโกยลูกค้าใช้โมบายแบงกิ้งเพิ่มจาก 30% หรือ 1.5 แสนบัญชี หวังต่อยอดธุรกิจ

นายสุธีร์ โล้วโสภณกุล รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า สำหรับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมาอยู่ที่กว่า 5% โดยธนาคารจะมีการตัดขายหนี้เสียออกประมาณ 3,000 ล้านบาท ส่งผลให้หนี้เสียปรับลดลงเหลือ 5%

อย่างไรก็ดี ธนาคารต้องติดตามหลังมาตรการพักชำระหนี้ (Debt Holiday) ว่าลูกค้าจะเป็นอย่างไร ซึ่งดูสัญญาณลูกค้าเข้าโครงการ 70-80% พบว่าลูกค้ากลับมาชำระหนี้ได้เป็นปกติ ขณะที่การตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญก็เป็นไปตามความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น โดยตั้งสำรองเพิ่มขึ้น 20% ส่งผลให้เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS) ของธนาคารอยู่ในระดับที่เพียงพอเกือบ 20%

ทั้งนี้ ภายใต้สถานการณ์ความไม่แน่นอนที่เกิดจากการระบาดของโควิด-19 ธนาคารจึงต้องปรับกลยุทธ์สอดคล้องกับ CIMB Group โดยต้องการให้ธนาคารเป็นธนาคารชั้นนำที่ทำธุรกิจโฟกัสการเติบโต โดยเครือ CIMB Group มีจุดแข็งแตกต่างกัน เช่น มาเลเซีย ต้องการเป็น Universal Banking

“ในช่วง 6-7 เดือนที่ผ่านมาเราเกิดช็อกครั้งใหญ่ที่ไม่มีใครรู้มาก่อน และเกิดขึ้นทั่วโลก โดยมองว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้น่าจะติดลบ ซึ่งหลายคนคาดการณ์ว่าจะติดลบ 10% แต่เริ่มเห็นสัญญาณฟื้นตัวส่งผลให้การติดลบน้อยลงเหลือ 7-8% และคาดการณ์ว่าเศษฐกิจไทยจะกลับมาฟื้นตัวอีกทีไตรมาสที่ 3 ของปีหน้าที่คาดว่าจะโตได้ราว 3-4% ได้”

Advertisment

โดยธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จุดแข็งการเติบโตจะเป็น ธุรกิจรายใหญ่ (Wholesale) โดยเฉพาะการเติบโตในอาเซียนที่ใช้จุดแข็งเครือข่ายที่มีอยู่ และธุรกิจรายย่อย (Consumer Finance) ธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง (Wealth Management) และธุรกิจบริหารเงิน (Treasury) โดยการนำดิจิทัลมาปรับใช้ให้มากขึ้น โดยการขยายความร่วมมือกับพันธมิตรในการวิเคราะห์ลูกค้า และขยายผลิตภัณฑ์ไปสู่แพลตฟอร์มดิจิทัลมากขึ้น จากปัจจุบันเปิดบัญชีเงินฝาก ซื้อขายหุ้นกู้ และสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ผ่านตลาด THOR และการบริหารความเสี่ยง และซื้อขายกองทุน-ประกัน

ทั้งนี้ ปัจจุบันธนาคารมีฐานลูกค้าที่ใช้ “CIMB THAI Digital Banking” มีประมาณ 30% หรือราว 1.5 แสนบัญชีของฐานลูกค้ารวมที่มีการใช้งานสม่ำเสมอ (Active) อยู่ที่ราว 6-7 แสนราย ซึ่งโดยเฉลี่ยจะมีลูกค้าสมัครใช้ดิจิทัลแบงกกิ้งราว 4-5 พันรายต่อเดือน ซึ่งคาดว่าในระยะข้างหน้าจะเติบโตได้ก้าวกระโดด เนื่องจากโควิด-19 ทำให้คนหันมาใช้ดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น สะท้อนจากธุรกรรมที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด

สำหรับในส่วนของธุรกิจรายใหญ่ ธนาคารยังคงจุดยืนในการเป็นธนาคารเพื่ออาเซียน เน้นธุรกิจ CLMV (ไทย,ลาว,เมียนมา,เวียดนาม) ด้วยการสร้าง ASEAN Platform โดยการใช้จุดแข็งทางด้านเครือข่ายสาขาที่มีอยู่ในการสนับสนุนลูกค้าให้ขยายการลงทุนไปยังต่างประเทศ ประกอบกับในจังหวะที่ค่าเงินบาทแข็งค่าถือเป็นโอกาสในการเติบโตของลูกค้า โดยธนาคารคาดว่าจากการผลักดันการเติบโตจะทำให้ยอดสินเชื่อคงค้างธุรกิจรายใหญ่ขยับเพิ่มขึ้นจาก 30% หรือ 7.5 หมื่นล้านบาทของฐานสินเชื่อรวมที่มีอยู่ประมาณ 2.3 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็น 40% ได้ในปี 2564 โดยไทยถือเป็นประเทศที่สร้างรายได้จากธุรกิจข้ามประเทศในสัดส่วนที่มากที่สุดให้กับ CIMB Group

ขณะที่สินเชื่อรายย่อยปัจจุบันมีสัดส่วนประมาณกว่า 50% หรือประมาณ 1 แสนล้านบาท จากยอดคงค้างรวม 2.3 แสนล้านบาท นอกจากการเติบโตสินเชื่อรายย่อยภายในธนาคารแล้ว ธนาคารจะมุ่งเน้นขยายการเติบโตในส่วนของสินเชื่อบริษัทในเครือผ่านการให้สินเชื่อรถจักรยานยนต์และสินเชื่อรถยนต์มือสองที่มีแนวโน้มเติบค่อนข้างดี และเพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าใหม่ โดยที่สาขาอาจจะมีการปรับเปลี่ยนและโยกย้ายเพื่อให้มีความสะดวกมากยิ่งขึ้น และขยาย Wealth Center เพิ่มเติม ส่วนเอทีเอ็มอาจจะต้องทยอยปรับลดลงและให้ลูกค้าสามารถปใช้ร่วมกับธนาคารอื่นได้

Advertisment

“จากนี้ 3-4 ปีจะเป็นธนาคารที่นำดิจิทัลมาทำธุรกิจรายใหญ่ที่จะเข้าถึงภูมิภาคนี้ หลังจากในปี 61-62 เราทำ Fast Forward และหลังจากนี้เราถึงเวลาเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ที่เราลงทุนไปแล้ว โดยการนำดิจิทัลมาใช้ ควบคู่กับการลดต้นทุนต่อรายได้ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาสามารถลดลงมาได้ 13.2% จากระดับ 63.2% มาอยู่ที่ 50% มาอยู่ใกล้เคียงกับเพื่อนๆ”