คปภ.ดันประกันPAพ่วง “โควิด” เบี้ยถูกแค่10บาท “ของขวัญปีใหม่” คนไทย

เลขาฯ คปภ.สั่งอัพเกรดประกันอุบัติเหตุเป็นของขวัญปีใหม่แก่คนไทย เพิ่มคุ้มครองโควิด-19 “เจอ จ่าย จบ” อีก 3 พันบาท ท็อปอัพจากความคุ้มครองปกติ ระยะเวลาคุ้มครอง 30 วัน เคาะค่าเบี้ยเพิ่มอีก 3 บาท เป็น 10 บาทต่อกรมธรรม์ ดีเดย์เริ่มขาย 1 ธ.ค.นี้

นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า ได้ให้สำนักงาน คปภ.ไปหารือร่วมกับทางสมาคมประกันชีวิตไทยและสมาคมประกันวินาศภัยไทยเพื่อให้ปรับเพิ่มความคุ้มครองในผลิตภัณฑ์ “ประกันภัยอุบัติเหตุอุ่นใจปีใหม่พลัส” (ไมโครอินชัวรันซ์) ที่จะออกมานำเสนอให้กับประชาชนเป็นประจำทุกปีในช่วงเทศกาลปีใหม่

โดยปีนี้เห็นว่า ควรเพิ่มแรงจูงใจด้วยการเพิ่มความคุ้มครองประกันภัยโควิด-19 เข้าไปในกรมธรรม์ด้วย

แหล่งข่าวจากสำนักงาน คปภ.กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ล่าสุด การหารือกับภาคเอกชน ได้ข้อตกลงร่วมกันให้เพิ่มความคุ้มครองไวรัสโควิด-19 กรณี “เจอ จ่าย จบ” อีก 3,000 บาท ในประกันอุบัติเหตุ (PA) โดยคิดอัตราเบี้ยประกัน 10 บาทต่อคน เพิ่มขึ้นเล็กน้อย จากปีก่อนที่คิดเบี้ยที่ 7 บาท

ซึ่งจะให้ความคุ้มครองกรณีเสียชีวิต/สูญเสียอวัยวะ/ทุพพลภาพถาวร จำนวน 100,000 บาทต่อคน กรณีถูกฆาตกรรมและเกิดเหตุจากโดยสารรถจักรยานยนต์ จำนวน 50,000 บาท กรณีเสียชีวิตแต่ไม่ใช่จากอุบัติเหตุ จำนวน 5,000 บาท กรณีรักษาพยาบาลอันเนื่องมาจากอุบัติเหตุ จ่ายตามจริงไม่เกิน 5,000 บาท

“ตอนนี้มีการปรับเงื่อนไขความคุ้มครองในกรมธรรม์และขออนุมัติจากนายทะเบียน ซึ่งก็คือเลขาธิการ คปภ.เสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยเร็ว ๆ นี้จะมีการพูดคุยกับบริษัทประกันภัยทั้งหมดอีกที รวมไปถึงพันธมิตรทางการค้าของบริษัทประกันที่จะเข้าร่วมโครงการนี้ด้วย หลังจากนั้นช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือน พ.ย.นี้จะเสนอเรื่องเข้าคณะกรรมการ (บอร์ด) คปภ.เพื่อรับทราบ ก่อนจะเริ่มดำเนินโครงการวันที่ 1 ธ.ค. 63 เป็นต้นไป” แหล่งข่าวกล่าว

ขณะที่นายพิชา สิริโยธิน ผู้อำนวยการบริหาร สมาคมประกันชีวิตไทย กล่าวว่า เมื่อวันที่ 12 พ.ย.ที่ผ่านมา ทาง คปภ.ได้มีหนังสือเวียนส่งมาให้ทางสมาคมประชาสัมพันธ์บริษัทสมาชิกทั้ง 23 บริษัทเกี่ยวกับการเพิ่มความคุ้มครองโควิดในกรมธรรม์ไมโครอินชัวรันซ์ โดยจะมีระยะเวลาขายตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2563-31 ม.ค. 2564 รวมเป็นเวลา 2 เดือน และมีระยะเวลาความคุ้มครอง 30 วัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในปี 2562 ที่ผ่านมามีบริษัทเอกชนผู้ประกอบการสินค้าอุปโภคบริโภค บริการ และกิจการโทรคมนาคม รวม 22 บริษัทที่ร่วมโครงการ โดยคู่กับบริษัทประกัน แจกกรมธรรม์ให้กับลูกค้า คู่ค้าหรือผู้เกี่ยวข้องของแต่ละบริษัท อาทิ บมจ.ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก (PTTOR) กับ บมจ.อาคเนย์ประกันภัย, บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP) กับ บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต, แบล็คแคนยอน กับ บมจ.กรุงเทพประกันภัย, บมจ.บิ๊กซีซูเปอร์เซ็นเตอร์กับ บมจ.เอ็ม เอส ไอ จี ประกันภัย,

บมจ.แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ตเวอร์คกับ บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต, บมจ.เคาน์เตอร์ เซอร์วิสกับ บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต, บริษัท เทสโก้ โลตัส เจอเนอรัลอินชัวรันส์ โบรคเกอร์กับ บมจ.กรุงเทพประกันภัย, บริษัท เงินติดล้อกับ บมจ.วิริยะประกันภัย, กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กับ บมจ.ทิพยประกันภัย, บมจ.อยุธยา แคปปิตอล ออโต้ลีสกับ บมจ.เอ็ม เอส ไอ จี ประกันภัย, Shopee กับ บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต, โตโยต้าซัมมิทกับ บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต, TQM Broker กับ บมจ.กรุงเทพประกันภัย,

PKR Broker กับ บมจ.กรุงเทพประกันภัย, Rabbit Insurance Broker กับ บมจ.กรุงเทพประกันภัย, เทสโก้ โลตัสกับ บมจ.กรุงเทพประกันภัย, Toyota Buzz กับ บมจ.กรุงเทพประกันภัย, เอไอเอ ร่วมกับTrue, ซิตี้แบงก์กับ บมจ.บัตรกรุงไทย (KTC), กรุงเทพประกันภัย สาขาต่างจังหวัดกับ บมจ.กรุงเทพประกันภัย, ฝ่ายการตลาดและสื่อสารองค์กรกรุงเทพประกันชีวิต, บมจ.ธนชาตประกันภัยกับapplication U Choose ของกรุงศรีคอนซูมเมอร์ และธนาคารออมสินกับ บมจ.ทิพยประกันภัย