“ไอบีเอ็ม” เปิดบริการบล็อกเชน ชูโอนเงินสกุลต่างชาติ เร็ว ง่าย! เร่งเพิ่มพันธมิตรลองใช้งาน

“ไอบีเอ็ม” เปิดบริการบล็อกเชน ชูโอนเงินสกุลต่างชาติ เร็ว ง่าย! เร่งเพิ่มพันธมิตรลองใช้งาน ในไทยมีเคแบงก์

ไอบีเอ็ม เปิดตัวบริการชำระเงินข้ามประเทศระบบสากลผ่านบล็อกเชน โดยร่วมกับ พันธมิตรStellar.org และ KlickEx Group ปัจจุบันปรับใช้กับการโอนเงิน 12 สกุลทั่วหมู่เกาะแปซิฟิกและออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และสหราชอาณาจักร ตอนนี้เร่งเพิ่มพันธมิตรขณะนี้มีธนาคารกสิกรไทยด้วย อนาคตเตรียมต่อยอดบริการการค้า เช่น สัญญาการค้า

“บริดเจ็ต แวน คราลินเก็น” รองประธานอาวุโส ไอบีเอ็มอินดัสทรีแพลตฟอร์ม กล่าวว่า ไอบีเอ็ม (IBM) ร่วมกับ ร่วมกับพันธมิตรด้านเทคโนโลยีอย่างสเตลลาร์ (Stellar.org) และคลิกเอ็กซ์ กรุ๊ป (KlickEx Group)เปิดตัวโซลูชั่นการชำระเงินข้ามประเทศระบบสากลผ่านบล็อกเชน หรือ เทคโนโลยีเลดเจอร์แบบกระจายศูนย์ (distributed ledger) ในชื่อ “ไอบีเอ็ม บล็อกเชน” เข้าใช้กับบริการหักบัญชีและชำระดุล (clearing and settlement) ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ให้กระบวนการทั้งหมดเร็วขึ้น และใกล้เคียงเรียลไทม์ ในขณะเดียวกันยังสามารถลดต้นทุนการทำธุรกรรมด้วย

ทั้งนี้ ปัจจุบัน การ clearing and settlement ที่เป็นส่วนหนึ่งของหลายธุรกรรมข้ามสกุลเงิน เช่น การโอนเงินข้ามประเทศ ถือว่ามีต้นทุนสูง ราคาแพงและใช้เวลานาน รวมถึงมีความผิดพลาดเกิดขึ้นจากกระบวนการที่มีตัวกลางจำนวนมาก

ดังนั้น ทางไอบีเอ็มเลยสร้างโซลูชั่นในการ clearing and settlement ผ่านการทำโมเดลใหม่ ให้มีประสิทธิภาพในระยะเวลาสั้นลง ผ่านการเชื่อมโยงข้อมูลในเครือข่ายเดียวกัน

ปัจจุบันโซลูชั่นดังกล่าวมาใช้ในการทำธุรกรรมในเส้นทางสกุลเงิน 12 สกุลทั่วหมู่เกาะแปซิฟิกและออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ รวมถึงสหราชอาณาจักร ซึ่งข้อดีของการบล็อกเชนหรือ เลดเจอร์แบบกระจายศูนย์ (distributed ledger) จะทำให้ทุกฝ่ายสามารถเข้าถึงและทราบสถานะของการทำธุรกรรมหักบัญชีและชำระดุลได้ โซลูชันนี้ได้รับการออกแบบมาเพื่อเพิ่มการไหลเวียนของเงินทั่วโลก สำหรับการชำระเงินทุกประเภท ไม่ว่าจะมีมูลค่าเท่าใดก็ตาม อีกทั้งยังช่วยให้สถาบันการเงิน สามารถเลือกเครือข่ายการชำระดุลที่ต้องการสำหรับการแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง

ADVERTISMENT

ในอนาคต เครือข่ายนี้จะช่วยให้ชาวนาในซามัวสามารถจัดทำสัญญาการค้ากับผู้ซื้อในอินโดนีเซียได้ โดยบล็อกเชนช่วยให้สามารถบันทึกเงื่อนไขของสัญญา จัดการเอกสารการค้า ช่วยให้ชาวนาสามารถเสนอหลักประกันที่ไม่ใช่เงินสด รับตราสารเครดิต(เล็ตเตอร์อ็อฟเครดิต) และบรรลุข้อตกลงรายการค้าโดยการชำระเงินในทันที ซึ่งเป็นการทำการค้าระดับโลกด้วยความโปร่งใสและสะดวกครบวงจร

ทั้งนี้ ไอบีเอ็มได้ร่วมกับกลุ่มธนาคารชั้นนำในการร่วมพัฒนาและนำโซลูชันนี้มาใช้ ประกอบด้วยธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารบิลเบาวิซคายาอาร์เคนตาเรีย, ธนาคารดานามอน อินโดนีเซีย, ธนาคารแมนดิริ, ธนาคารเนการา อินโดนีเซีย, ธนาคารเพอร์มาตา, ธนาคารรัคยาต อินโดนีเซีย, มิซูโฮ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป, ธนาคารแห่งชาติออสเตรเลีย, ธนาคารพาณิชย์ริซัล (RCBC) ฟิลิปปินส์, ซูมิโตโม มิตซุย ไฟแนนเชียลกรุ๊ป, ทีดีแบงค์ วิซดรอว์ (HK) แห่งเวิร์ลด์คอมไฟแนนซ์ และสถาบันการเงินอื่นๆ

ADVERTISMENT

“เจด แมคคาเล็บ” ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายไอที (CTO) ของ Stellar.org กล่าวว่า เรากำลังนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาอำนวยความสะดวกในการชำระเงินข้ามประเทศในหลายสกุล

“ก่อนหน้านี้การชำระเงินข้ามประเทศจะต้องใช้เวลาหักบัญชีนานหลายวัน โซลูชันใหม่นี้จะสร้างผลกระทบเชิงบวกที่สำคัญต่อบรรดาประเทศในภูมิภาคแปซิฟิกใต้ และทันทีที่ได้รับการขยายใช้อย่างเต็มที่โดยไอบีเอ็มและคู่ค้าในธุรกิจธนาคาร โซลูชันนี้ก็จะสามารถเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเคลื่อนย้ายเงินทั่วโลก ช่วยพัฒนาการทำธุรกรรมระหว่างประเทศในปัจจุบัน และส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงินที่ก้าวล้ำในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา”