ธปท.งัดมาตรการสู้บาทแข็ง ‘สกัดไม่อยู่’ฝรั่งซื้อบอนด์ต่อ

ธปท.งัด 3 มาตรการดูแลค่าเงินบาท เปิดเสรีเงินทุนเคลื่อนย้าย เน้นปรับโครงสร้าง-เกาะติดพฤติกรรมนักลงทุนต่างชาติ นักวิเคราะห์มองไม่ส่งผลระยะสั้น เผยหลังแบงก์ชาติออกมาตรการ ฟันด์โฟลว์กลับเข้าซื้อบอนด์อีกรอบ ส่งผลเงินบาทแข็งค่าขึ้นทันที ด้าน “ทีเอ็มบี” เผยต่างชาติเก็งกำไรผ่านตลาดบอนด์ล้วน ๆ แนะแบงก์ชาติใช้ “ไม้แข็ง” สู้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อ 18 พ.ย.ที่ผ่านมา กนง.ได้ส่งสัญญาณชัดถึงความกังวลที่อัตราแลกเปลี่ยน “เงินบาท” ปรับแข็งค่าขึ้นเร็วซึ่งกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังเปราะบาง

งัด 3 มาตรการสู้บาทแข็ง

นางสาววชิรา อารมย์ดี ผู้ช่วยผู้ว่าการสายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.ได้ออก 3 มาตรการเพื่อช่วยลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาทและแก้ปัญหาอัตราแลกเปลี่ยนเชิงโครงสร้าง ประกอบด้วย

1.ให้คนไทยฝากเงินตราต่างประเทศ (FCD) ได้เสรี และโอนเงินระหว่างบัญชี FCD ของคนไทยได้เสรี เพื่อให้ผู้ส่งออกบริหารจัดการเงินตราต่างประเทศและบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้คล่องตัวมากขึ้น

2.เพิ่มวงเงินให้รายย่อยลงทุนโดยตรงในต่างประเทศได้เป็น 5 ล้านดอลลาร์ต่อปี จากเดิม 2 แสนดอลลาร์ต่อปี ทั้งไม่จำกัดวงเงินลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศที่ลงทุนผ่านตัวกลางในประเทศ และไม่จำกัดวงเงินลงทุนหลักทรัพย์ต่างประเทศ สำหรับนักลงทุนภายใต้การกำกับของสำนักงาน ก.ล.ต. จากเดิมที่กำหนดไม่เกิน 1.5 แสนล้านดอลลาร์ต่อปี และเปิดให้นำหลักทรัพย์ต่างประเทศมาซื้อขายในไทยได้โดยไม่จำกัดวงเงิน

“2 มาตรการแรกสามารถดำเนินการได้ทันทีในเดือน พ.ย.นี้ เมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา จากนั้นจะมีประกาศ ธปท.และประกาศ ก.ล.ต.ออกมา โดยปัจจุบันมีผู้เปิดบัญชี FCD อยู่กว่า 2 หมื่นบัญชี ขณะที่ปัจจุบันมีนักลงทุนรายย่อยที่ลงทุนต่างประเทศประมาณ 500 ราย”

ส่องพฤติกรรมต่างชาติ

และ 3.ให้ผู้ลงทุนต่างชาติต้องลงทะเบียนแสดงตัวตนก่อนการซื้อขายตราสารหนี้ซึ่งมาตรการนี้จะเริ่มในปี 2564 เพื่อให้ ธปท.ระบุตัวตนและติดตามพฤติกรรมของนักลงทุนได้อย่างใกล้ชิด สอดคล้องกับแนวทางของเกาหลีใต้ มาเลเซีย และไต้หวัน

“เราอยากให้นักลงทุนมีความมั่นใจว่า ธปท.จะไม่เปิด/ปิดมาตรการ และแม้ว่าเราเปิดเข้าและออกเสรีของเงินทุน แต่เราต้องมอนิเตอร์ เพื่อจะได้สามารถเข้าไปดูแลได้ถูกจุด และทันการณ์มากขึ้น เพราะในตลาดมีทั้งผู้เล่นที่เป็นเรียลดีมานด์และที่เก็งกำไรระยะสั้น” นางสาววชิรากล่าว

ทั้งนี้ เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเร็วเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างมาจาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ 1.เงินทุนเคลื่อนย้ายของไทยที่ไม่สมดุล โดยมีเงินไหลเข้าจำนวนมาก แต่ไม่มีการไหลออก เพราะนักลงทุนยังเน้นการลงทุนในประเทศเป็นหลัก 2.ภาคธุรกิจมีการป้องกันความเสี่ยงค่าเงินค่อนข้างน้อย และ 3.ผู้เล่นในต่างประเทศมีอิทธิพลต่อค่าเงินค่อนข้างมาก ธปท.จึงต้องปรับให้โครงสร้างเงินบาทดีขึ้น สร้างระบบนิเวศใหม่ของตลาดอัตราแลกเปลี่ยนไทย

เก็งกำไรค่าเงินผ่านบอนด์

นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี กล่าวว่า การออก 3 มาตรการของ ธปท.เป็นการส่งสัญญาณมากกว่า เพราะมาตรการที่ออกมาไม่ได้ส่งผลในระยะสั้นทันที เห็นได้จากเมื่อ 19 พ.ย. ต่างชาติขายสุทธิตราสารหนี้ (บอนด์) ไทยราว 8,000 ล้านบาท แต่หลัง ธปท.ประกาศมาตรการต่างชาติก็ไหลกลับเข้ามาในบอนด์ทันที

สำหรับการเปิดเสรีบัญชี FCD ต้องบอกว่า เป็นมาตรการสำหรับอนาคต ไม่ได้ส่งผลกับระยะสั้น เนื่องจากผู้ที่มีเงินฝาก FCD ทั้งที่เป็นบริษัทและนักลงทุนได้ดึงเงินกลับเข้ามาในประเทศตั้งแต่เกิดโควิด-19 ในไตรมาส 2-3 มาหมดแล้ว มาตรการจึงไม่ได้ช่วยอะไรในช่วงนี้ ส่วนมาตรการให้ไปลงทุนต่างประเทศได้มากขึ้นถือว่าช่วยเรื่องค่าเงินบาทได้ เพียงแต่ในเวลานี้ไม่ได้อยู่ในบรรยากาศที่จะออกไปลงทุนต่างประเทศ และมาตรการ
ที่สามที่ให้ลงทะเบียนแสดงตนเพื่อซื้อขายตราสารหนี้ ไม่ได้มีผลต่อค่าเงิน เป็นเพียงการเก็บข้อมูลผู้เข้ามาลงทุน

“มาตรการคงได้ผลระดับหนึ่ง แต่จากที่เงินไหลกลับเข้าบอนด์อีกก็สะท้อนได้ว่ายังไม่ได้ผล เพราะช่วงสัปดาห์กว่าที่ผ่านมาเงินไหลเข้าบอนด์เป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะบอนด์ระยะสั้นต่ำกว่า 1 ปี และเข้ามาแบบไม่มีการเฮดจ์ (ประกันความเสี่ยง) อัตราแลกเปลี่ยนแต่เปิด open position ไว้ ก็คือเข้ามาเก็งกำไรค่าเงินโดยเฉพาะ” นายนริศกล่าว

บาทแข็งค่าเกือบ 1 บาท

นายนริศประเมินว่า ในช่วง 1-2 เดือนหลังจากนี้ เงินบาทอาจอยู่ระดับ 30.50 บาทต่อดอลลาร์ได้ หากตลาดมองว่าการเลือกตั้งสหรัฐ พรรคเดโมแครตไม่ได้เสียงทั้งหมด ขณะที่เรื่องวัคซีนก็ใช้เวลาอีกนานกว่าจะมาถึงประเทศไทย ดังนั้นค่าเงินบาทระยะข้างหน้าน่าจะกลับไปอ่อนค่าเล็กน้อยได้

ที่ผ่านมาเงินบาทแข็งค่าค่อนข้างเร็ว จากที่ช่วงต้นเดือน พ.ย.อยู่แถว ๆ 31 บาท มาเป็น 30.1 บาทกว่าในช่วงกลาง พ.ย. ใช้เวลาแค่ราว 2 สัปดาห์ ธปท.จึงต้องมีมาตรการออกมา อย่างไรก็ดีหลัง ธปท.ประกาศมาตรการ พบว่าเงินบาทกลับมาแข็งค่าขึ้นทันทีอยู่ระดับ 30.28 บาทต่อดอลลาร์ จากที่เปิดตลาดวันที่ 20 พ.ย. อยู่ที่ 30.40 บาทต่อดอลลาร์

เสนองัดไม้แข็งคุมเงินร้อน

นายนริศกล่าวว่า ผู้ว่าการ ธปท.ระบุชัดเจนว่า จะดูแลการแข็งค่าของเงินบาท หลังจากนี้หากเงินบาทยังแข็งค่าต่อเนื่อง เชื่อว่า ธปท.คงมีมาตรการที่เพิ่มดีกรีในการรับมือ สิ่งที่ทำได้และยังไม่เคยทำซึ่งน่าจะได้ผลดี คือหากต่างชาติจะนำเงินเข้ามาลงทุนในบอนด์ หรือหุ้น ก็บังคับให้ทำเฮดจิ้งค่าเงินไปเลย 20% เชื่อว่าจะทำให้การเก็งกำไรค่าเงินหายไปได้

“วิธีการเฮดจิ้งดังกล่าวไม่ได้มีผลกระทบกับคนที่ค้าขายระหว่างประเทศ แต่จะช่วยกดเงินร้อนได้ ซึ่งจะเป็นมาตรการที่แรงพอสมควร โดยเป็นทางเลือกที่ทำได้ และน่าจะได้ผล เพราะถ้ายังเข้ามาเก็งกำไรกันอีก ก็ต้องใช้ไม้แข็งแล้ว” นายนริศกล่าว

ต่างชาติเข้าซื้อบอนด์ 4 หมื่นล้าน

นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) กล่าวว่า หลัง ธปท.ประกาศมาตรการ วันที่ 20 พ.ย. 63 ณ เวลา 13.30 น. เม็ดเงินลงทุนต่างชาติ (ฟันด์โฟลว์) ไหลกลับเข้ามาซื้อตราสารหนี้ไทยประมาณ 280 ล้านบาท หลังจาก19 พ.ย. ไหลออกสุทธิกว่า 8,200 ล้านบาท

หลังจากที่ผู้ว่าการ ธปท.พูดถึงพร้อมทำมาตรการดูแลค่าเงินบาทแข็งค่าเร็ว ทำให้นักลงทุนระมัดระวังเทขายบอนด์ โดยส่วนใหญ่เป็นการเทขายในพันธบัตรระยะสั้น (อายุน้อยกว่า 1 ปี) แต่ไม่มีผลกระทบกับผลตอบแทนในตลาด มาตรการลดแรงกดดันเงินบาทแข็งค่าจาก ธปท.ยังเป็นแค่แนวนโยบายป้องปราม อาจไม่เห็นผลออกมาทันที ต้องติดตามในระยะถัดไป

“ความเคลื่อนไหวฟันด์โฟลว์ในตลาดตราสารหนี้ไทย ตั้งแต่ต้นเดือน พ.ย.ถึงปัจจุบัน ซื้อสุทธิอยู่ที่ 40,000 ล้านบาท ถ้าเทียบตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน ต่างชาติยังขายสุทธิอยู่ที่ 35,000 ล้านบาท” นางสาวอริยากล่าว
แหล่งข่าวจากสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย กล่าวว่า มาตรการของ ธปท.ที่ให้ลงทะเบียน เป็นการส่งสัญญาณให้ต่างชาติทราบว่า ไม่ยินดีกับการเข้ามาเก็งกำไรค่าเงิน ซึ่งถ้าไม่หยุดก็อาจจะมีมาตรการอื่นตามมาได้ โดยตามปกติต่างชาติก็มักจะชะลอการเข้ามาเก็งกำไรลงไปบ้าง

คุมบาทแข็งไม่เอฟเฟ็กต์ตลาดหุ้น

นายสรพล วีระเมธีกุล ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย เปิดเผยว่า มาตรการที่ธปท.ออกมาเป็นไปตามที่ตลาดประเมิน ว่าจะเป็นมาตรการที่เข้ามาดูแลค่าเงินบาทอย่างค่อยเป็นค่อยไป ผ่านการเปิดทางการลงทุนในต่างประเทศ และเพิ่มเกณฑ์การเข้ามาลงทุนในประเทศของนักลงทุนต่างชาติ

“ธปท.ไม่สามารถใช้มาตรการยาแรงที่จะเข้าแทรกแซง เพื่อแก้ไขปัญหาเงินบาทแข็งค่าทันที เนื่องจากประเทศไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่ถูกจับตาจากสหรัฐที่มีการแทรกแซงค่าเงิน โดยหลังจากที่ ธปท.ประกาศมาตรการ ก็พบว่าเงินบาทยังคงแข็งค่าเช่นเดิม”

นายสรพลกล่าวอีกว่า นักลงทุนต้องจับตาเกณฑ์ลงทะเบียนแสดงตัวตนเพื่อซื้อขายตราสารหนี้ เพื่อให้ ธปท.ระบุตัวตนและติดตามพฤติกรรมได้ เนื่องจากอาจส่งผลกระทบ หรือสกัดกั้นเม็ดเงินลงทุนต่างชาติที่จะไหลเข้ามาในตลาดพันธบัตรในระยะถัดไป ขณะที่ตลาดหุ้นแทบไม่ได้รับผลกระทบจากมาตรการ ทั้งในแง่ของฟันด์โฟลว์ และกลุ่มหุ้นที่อาจได้ประโยชน์

นายกิจพณ ไพรไพศาลกิจ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์และนักกลยุทธ์ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) กล่าวว่า ฝ่ายวิจัยมีมุมมองเชิงบวกต่อมาตรการดังกล่าว เนื่องจากช่วยให้เงินไหลออกไปลงทุนต่างประเทศได้ง่ายขึ้น และไม่ได้ทำมาตรการในลักษณะสกัดกั้นเงินที่จะไหลเข้ามาลงทุนในประเทศทันที ประเมินว่าเม็ดเงิน
จากนักลงทุนต่างชาติจะยังไหลเข้าต่อเนื่องโดยช่วง 1-19 พ.ย. 63 ต่างชาติมียอดซื้อสุทธิ 28,769.61 ล้านบาท