สศค.ออกโรงชี้แจงข้อวิจารณ์รัฐบาลแก้ปัญหาเศรษฐกิจล้มเหลว

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ตามที่มีข้อวิจารณ์ด้านเศรษฐกิจระบุว่า การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลล้มเหลว โดยตั้งคำถาม อาทิ 1.ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ระบุว่าหนี้เสีย (NPL) พุ่งขึ้นแตะที่ร้อยละ 6 จากสาเหตุสินค้าการเกษตรตกต่ำ 2.ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยระบุว่า ขณะนี้คนไทยเป็นหนี้สินถึงร้อยละ 91.1 สะท้อนให้เห็นว่า ปัญหาหนี้สินและการก่อหนี้สินของคนไทยเพิ่มมากขึ้นผิดปกติจากอดีต ทาง สศค. มีข้อชี้แจง ดังนี้

1.NPL สินเชื่อการเกษตรของ ธ.ก.ส. จะมีลักษณะเป็นฤดูกาลคือ อยู่ในระดับสูง (ประมาณ 5-6%) ในช่วงต้นฤดูการผลิตและลดต่ำลง (ประมาณ 3-4%) ในช่วงปลายฤดูการผลิตที่เกษตรกรมีรายได้จากการเก็บเกี่ยวและขายผลผลิต อย่างไรก็ตาม สำหรับปีนี้ในช่วงต้นฤดูการผลิต เกษตรกรบางพื้นที่ประสบกับปัญหาอุทกภัย ทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น และยังไม่สามารถชำระหนี้ได้ ซึ่ง ธ.ก.ส.ได้เข้าไปช่วยเหลือและเร่งรัดการจ่ายเงินชดเชยค่าสินไหมทดแทนในกรณีที่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวได้ทำประกันภัยนาข้าวไว้ นอกจากนี้ ในทางบัญชี ธ.ก.ส. ได้มีการกันสำรองเพื่อรองรับความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากหนี้ NPL ดังกล่าวแล้ว จึงไม่กระทบต่อฐานะและการดำเนินงานของ ธ.ก.ส. อีกทั้งปัจจุบัน ธปท.ได้ช่วยกำกับความเสี่ยงและดูแลความมั่นคงของ ธ.ก.ส.ด้วยแล้ว เพื่อให้ ธ.ก.ส.สามารถทำหน้าที่เป็นสถาบันการเงินของรัฐที่ช่วยเหลือเกษตรกรได้อย่างมั่นคงต่อไป

2.ประเด็นที่ 1 หากอ้างอิงถึงข้อมูลหนี้ครัวเรือนที่เป็นทางการของธนาคารแห่งประเทศไทย (หนี้ในระบบ) จะพบว่าตัวเลขสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ลดลงอย่างต่อเนื่อง 6 ไตรมาสติดต่อกัน เริ่มตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ปี 2558 ระดับหนี้ครัวเรือนต่อ GDP อยู่ที่ร้อยละ 81.2 จนกระทั่งปัจจุบันตัวเลขล่าสุดในไตรมาสที่ 2 ปี 2560 อยู่ที่ร้อยละ 78.4 ในขณะที่ผลการสำรวจของหอการค้าเป็นเพียงการทำสำรวจซึ่งมีกลุ่มตัวอย่างเพียง 1,191 ตัวอย่างเท่านั้น ดังนั้น ในแง่หนี้ในระบบ ธนาคารแห่งประเทศไทยมีตัวเลขจริงอยู่แล้ว ซึ่งแสดงให้เห็นว่าหนี้มีสัดส่วนที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง และหากพิจารณา NPL ratio ของหนี้ครัวเรือนจะพบว่า ข้อมูลล่าสุดที่ไตรมาส 2 ปี 2560 อยู่ที่ร้อยละ 3.15 ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำที่สุดในรอบ 6 ไตรมาสที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่าหนี้ครัวเรือนในระบบไม่มีสัญญาณของปัญหาในเชิงเสถียรภาพแต่อย่างใด

ประเด็นที่ 2 หนี้ครัวเรือนของธนาคารแห่งประเทศไทยครอบคลุมเฉพาะหนี้ในระบบ แต่การสำรวจของหอการค้าครอบคลุมหนี้นอกระบบด้วย อย่างไรก็ตาม ผลการสำรวจในข่าวระบุว่า มีการชำระหนี้นอกระบบเป็นจำนวน 5,512 บาทต่อเดือน ลดลงร้อยละ 46.33 ซึ่งนับว่าลดลงต่ำสุดในรอบ 10 ปีผลจากมาตรการภาครัฐที่แก้ปัญหาหนี้นอกระบบ การขูดรีดนอกระบบลดลง และครัวเรือนมีการปรับตัว แสดงว่าในส่วนของหนี้นอกระบบก็ไม่มีปัญหาเช่นกัน

ประเด็นที่ 3 การระบุว่าจากผลการสำรวจ คนไทยเป็นหนี้สินถึงร้อยละ 91.1 และมีสัดส่วนคนไม่มีหนี้ร้อยละ 8.9 ซึ่งมีสัดส่วนต่ำสุดในรอบ 10 ปีนั้น ในอีกนัยหนึ่งการที่คนเป็นหนี้มากขึ้น สะท้อนถึงการเข้าถึงบริการทางการเงินที่เพิ่มขึ้น (Financial Access) ทั้งนี้ ตราบที่ประชาชนยังมีความสามารถในการชำระหนี้และยังมีเครดิตในการเข้าถึงบริการสินเชื่อ จึงนับว่าเป็นการใช้ประโยชน์จากบริการทางการเงินที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น บัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล เป็นต้น ซึ่งตัวเลข NPL ratio ล่าสุด ณ ไตรมาสที่ 2 ปี 2560 ของหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าร้อยละ 3 ซึ่งมีแนวโน้มลดลงต่ำกว่าในอดีตที่ผ่านมา