โบรกฯ ประเมินม็อบ 25 พ.ย.ย้ายสถานที่ชุมนุม ลดแรงกดดันต่อตลาดหุ้น

ภาพประกอบข่าวการชุมนุมกลุ่มราษฎร SCB

นักวิเคราะห์ชี้ปัจจัยการเมืองในประเทศไม่กระทบตลาดหุ้น เหตุนักลงทุนคลายความกังวล หลังม็อบประกาศย้ายสถานที่ชุมนุมเพื่อลดแรงปะทะ เก็งระยะสั้นดัชนีแกว่งในกรอบ 1,400-1,450 จุด

นายวิจิตร อารยะพิศิษฐ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยภาพรวมตลาดหุ้นไทยวันที่ 25 พ.ย.63 ว่า ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ SET (SET Index) เปิดบวกในช่วงเช้าไปทำจุดสูงสุดที่ 1,428.36 จุด ก่อนจะย่อตัวลงมาเคลื่อนไหวอยู่ที่บริเวณ 1,400-1,410 จุด โดยคาดว่าการที่ผู้ชุมนุมกลุ่มราษฎรประกาศเปลี่ยนสถานที่ชุมนุมวันนี้ จากสํานักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ไปยัง ธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่ เพื่อลดแรงปะทะกับกลุ่มผู้ชุมนุมฝั่งตรงข้าม ส่งผลให้ตลาดหุ้นคลายความกังวลลง

อย่างไรก็ดี บล.เมย์แบงก์ฯ ให้น้ำหนักกับการเมืองในประเทศค่อนข้างน้อย โดยให้น้ำหนักกับปัจจัยต่างประเทศอย่างสัญญาณการฟื้นตัวเศรษฐกิจมากกว่า เนื่องจากวานนี้ (24 พ.ย.) นักลงทุนสถาบันขายสุทธิกว่า 4,008.74 ล้านบาท ซึ่งสามารถตีความได้ว่าเป็นการขายทำกำไร (Take Profit) หรือเป็นการขายเพื่อลดความเสี่ยงการชุมนุมวันนี้ สะท้อนว่าตลาดหุ้นได้ปรับตัวลงตอบรับปัจจัยการเมืองในประเทศไปแล้ว

ขณะที่แนวโน้ม SET Index หลังปรับขึ้นเหนือ 1,400 จุดนั้น นายวิจิตร กล่าวว่า การเคลื่อนไหวที่ระดับปัจจุบันเป็นจุดเหมาะสมของดัชนีในปี 2563 แล้ว โดยจะเห็นได้ว่าหุ้นแต่ละกลุ่มทยอยปรับขึ้นจนเวียนครบทุกกลุ่มแล้ว ส่งผลให้การลงทุนเลือกลงทุนได้ยากขึ้น อย่างไรก็ดี ฝ่ายวิจัยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวระยะสั้นที่ 1,400-1,450 จุด ทั้งนี้ หากดัชนีปรับขึ้นเหนือ 1,450 จุด แนะน “ลดน้ำหนักการลงทุน”

สำหรับกลยุทธฺการลงทุน สำหรับผู้ที่รับความเสี่ยงได้ต่ำ หรือมีกำไรจากการสะสมจากรอบที่แล้ว แนะนำ “ขายทำกำไร” ส่วนผู้ลงทุนที่ตั้งใจลงทุนระยะกลางถึงยาว แนะนำ “ทยอยสะสม” โดยเลือกกลุ่มพลังงานและกลุ่มธนาคารเป็นจุดหมายการสะสมเมื่อราคาหุ้นย่อตัวลงมา เนื่องจากระยะยาวกระแสเม็ดเงินลงทุนต่างชาติ (Fund Flow) ยังเป็นการไหลเข้า ซึ่งหุ้นทั้ง 2 กลุ่มเป็นจุดหมายการลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศ

Advertisment

“ภาพระยะยาวเรายังให้น้ำหนักว่า SET Index จะมีโอกาสปรับขึ้นในระยะถัดไป ส่วนปัจจัยการเมืองในประเทศเชื่อว่าจะยืดเยื้อแน่นอน แต่ด้วยปัจจุบันยังไม่มีปัจจัยกดดันใหม่ๆ โดยยังเน้นการสร้างกระแสจากผู้ชุมนุมทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งยังไม่ใช่ปัจจัยที่จะสามารถขับเคลื่อนตลาดหุ้นได้” นายวิจิตร กล่าว