ค่าเงินดอลลาร์ถูกกดดันจากข่าวดีเรื่องวัคซีน

ดอลลาร์สหรัฐ
REUTERS/Dado Ruvic/Illustration/File Photo

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐถูกกดดันจากข่าวดีเรื่องวัคซีนโควิด-19 รวมถึงตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานที่พุ่งสูงขึ้นถึง 30,000 ราย รวมถึงยอดผู้ติดเชื้อโควิดที่เพิ่มสูงขึ้น ด้านแบงก์ชาติของไทยดูแลเงินบาทแข็งค่าใกล้ชิด เตรียมรับมือเงินทุนเคลื่อนย้ายที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคตข้างหน้า

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราระหว่างวันที่ 23-27 พฤศจิกายน 2563 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (23/11) ที่ระดับ 30.29/31 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (20/11) ที่ระดับ 30.30/32 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ในช่วงต้นสัปดาห์ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐได้รับแรงกดดันท่ามกลางความต้องการซื้อสินทรัพย์เสี่ยงของนักลงทุน หลังจากบริษัทแอสตราเซเนกาแถลงว่า วัคซีนโรคโควิด-19 ของแอสตราเซเนกาอาจจะมีประสิทธิภาพ 90% และทางบริษัทเตรียมที่จะยื่นส่งข้อมูลให้แก่รัฐบาลหลายประเทศเพื่ออนุมัติการใช้วัคซีนอย่างรวดเร็ว

ขณะที่ไซเฟอร์ระบุว่า วัคซีนโควิด-19 BNT162ิb2 ที่ทางไซเฟอร์พัฒนาร่วมกับบริษัท BioNTeh มีประสิทธิภาพในการป้องกันไวรัสโควิด-19 ได้ถึง 95%

ทั้งนี้ประธานาธิบดีสหรัฐ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ได้มอบหมายให้ผู้อำนวยการสำนักบริหารการเงินทั่วไปของสหรัฐ (General Services Administration) นางเอมิลี เมอร์ฟีย์ เริ่มกระบวนการถ่ายโอนอำนาจในการบริหารให้แก่คณะของนายโจ ไบเดน ซึ่งจะทำให้ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ สามารถเข้าถึงทรัพยากรต่าง ๆ ที่จำเป็น เพื่อจะช่วยให้เขาเข้าปฏิบัติหน้าที่ในทำเนียบขาวได้อย่างราบรื่น

Advertisment

นอกจากนี้ค่าเงินดอลลาร์ยังถูกกดดันหลังจากกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานพุ่งสูงขึ้น 30,000 ราย เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า โดยตัวเลขดังกล่าวพุ่งสูงขึ้นสู่ระดับ 778,000 ราย สูงกว่าตัวเลขที่คาดการณ์ ที่ระดับ 732,000 ราย โดยรายงานตัวเลขดังกล่าวที่เพิ่มขึ้น เกิดจากมาตรการควบคุมโรคที่รัดกุมในบางรัฐของสหรัฐ ส่งผลให้ภาคธุรกิจบางแห่งมีการปลดพนักงานออกมากยิ่งขึ้น

ยอดตัวเลขผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในสหรัฐที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องยังคงเป็นปัจจัยกดดันต่อการฟื้นตัวของตลาดแรงงาน ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้มีการรายงานการประชุมนโยบายการเงินของวันที่ 4 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยกรรมการเฟดประเมินว่าเป็นเรื่องที่หมาะสมที่เฟดจะเพิ่มการถือครองหลักทรัพย์ของกระทรวงการคลัง และตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันการจำนอง (MBS) อย่างน้อยเทียบเท่ากับระดับในปัจจุบัน

นอกจากนี้เฟดระบุว่าจะใช้เครื่องมือทางการเงินประเภทอื่นเพิ่มเติม เพื่อพยุงเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ขณะที่การซื้อขายในช่วงปลายสัปดาห์เป็นไปอย่างเบาบางเนื่องในวันขอบคุณพระเจ้า

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาตรการดูแลค่าเงินโดยเน้นเป้าหมายในการสร้างสมดุลให้กับกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายขาเข้า-ขาออกเพื่อเตรียมรับมือกับกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย ที่อาจจะมีโอกาสไหลเข้ามาลงทุนในตลาดการเงินไทยมากขึ้นในระยะข้างหน้า

Advertisment

โดยมาตรการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศ ประกอบด้วย 3 มาตรการ คือ 1. การคลายเกณฑ์สำหรับการเปิดบัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศ (Foreign Currency Deposit : FCD) สำหรับคนไทย 2. การขยายวงเงินและประเภทหลักทรัพย์ต่างประเทศที่นักลงทุนไทยสามารถลงทุนได้ และ 3. การกำหนดให้มีการลงทะเบียนแสดงตัวตนเพื่อซื้อ-ขายตราสารหนี้ (Bond-Pre-trade Registration)

โดยในวันพฤหัสบดี (26/11) นายกรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้เปิดเผยนโยบายเศรษฐกิจของประเทศไทยว่า กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยจะดำเนินการควบคุมดูแลการดำเนินนโยบายอัราดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยนให้สอดคล้องกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกมาอย่างใกล้ชิด เพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตได้ตามเป้าหมาย และคาดหวังให้ธนาคารแห่งประเทศไทยดูแลค่าเงินที่แข็งค่าในช่วงนี้เพื่อให้ไทยมีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น

ขณะที่การเมืองภายในประเทศยังคงเป็นปัจจัยกดดันที่ตลาดยังคงติดตามต่อไปอย่างใกล้ชิด โดยกลุ่มราษฎรประกาศทางสื่อโซเชียลมีเดียนัดมวลชนร่วมชุมนุมที่บริเวณห้าแยกลาดพร้าวในวันนี้( 27 พ.ย.)

ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 30.24-30.43 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (27/11) ที่ระดับ 30.30/32 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดวันจันทร์ (23/11) ที่ระดับ 1.1873/75 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (20/11) ที่ระดับ 1.860/62 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยค่าเงินยูโรได้รับแรงหนุนจากการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ

และในวันอังคาร (24/11) สถบัน IFO ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยเศรษฐกิจของเยอรมนี เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจของเยอรมนีร่วงลงสู่ระดับ 90.7 ในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งเป็นการปรับตัวลงเป็นเดือนที่ 2 แต่ดีกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 90.2 จากระดับ 92.5 ในเดือนตุลาคม

สำหรับสำนักงานสถิติแห่งชาติของฝรั่งเศส (INSEE) รายงานว่า ความเชื่อมั่นผู้บริโภคของฝรั่งเศสที่มีต่อเศรษฐกิจและสถานการณ์ทางการเงิน ปรับตัวลงแตะระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่ช่วงปลายปี 2561 โดยดัชนีความเชื่อมั่นเดือนพฤศจิกายนอยู่ที่ระดับ 90 ซึ่งลดลง 4 จุดจากเดือนตุลาคม และยังคงอยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาวที่ 100

ในขณะที่คณะกรรมาธิการยุโรปได้แถลงการณ์ว่า สหภาพยุโรปเตรียมพร้อมรับมือในกรณีที่สหราชอาณาจักรจะแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปโดยไม่มีการทำข้อตกลง โดยทั้งสองฝ่ายยังคงมีความคิดเห็นต่างกันในการเจรจาข้อตกลงทางการค้า

สำหรับสถานการณ์เรื่องการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศกลุ่มสหภาพยุโรปยังคงเพิ่มสูงขึ้นทั่วภูมิภาค โดยนางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนีได้แถลงการณ์ว่า จำนวนผู้ติดเชื้อในเยอรมนียังคงอยู่ในระดับที่สูงเกินไป ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวทำให้รัฐบาลจะขยายเวลาการใช้มาตรการคุมเข้มออกไปจนถึงวันที่ 20 ธันวาคม

ทั้งนี้ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 1.1799-1.1940 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (27/11) ที่ระดับ 1.1917/19 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดวันจันทร์ (23/11) ที่ระดับ 103.74/76 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (20/11) ที่ระดับ 103.80/82 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

โดยในวันจันทร์ (23/11) ตลาดญี่ปุ่นปิดทำการเนื่องจากเป็นวันขอบคุณแรงงาน ขณะที่ในวันอังคาร (24/11) ค่าเงินเยนไดรับแรงกดดัน ในขณะที่สกุลเงินที่มีความเสี่ยงสูงได้รับแรงหนุน หลังจากมีข่าวว่านายโจ ไบเดน ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐ วางแผนจะเสนอชื่อนางเจเน็ต เยลเลน อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้มาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีคลังคนใหม่

นอกจากนี้ ราคาสินทรัพย์เสี่ยงยังได้รับแรงหนุนเพิ่มเติมจากข่าวที่ว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐได้มอบหมายให้นางเอมิลี เมอร์ฟี ผู้อำนวยการสำนักงานบริการทั่วไป (GSA) ของสหรัฐ เดินหน้าการถ่ายโอนอำนาจให้กับคณะผู้บริหารของนายไบเดน ถึงแม้ ปธน.ทรัมป์ยังคงวางแผนที่จะดำเนินกระบวนการทางกฎหมายเพื่อคัดค้านผลการเลือกตั้งต่อไปก็ตาม

ทั้งนี้ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวในกรอบแคบ หลังจากที่ช่วงก่อนหน้าค่าเงินเยนเริ่มปรับตัวอ่อนค่าลงรับข่าวความคืบหน้าของวัคซีนโควิด-19 และสถานการณ์ทางการเมืองของสหรัฐ ที่ดูคลี่คลายมากขึ้น

อย่างไรก็ดีนักลงทุนยังคงจับตาดูสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างใกล้ชิด เนื่องจากตัวเลขผู้ติดเชื้อทั่วโลกยังเพิ่มขึ้นสูง และยังควบคุมการแพร่ระบาดได้ยาก ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 103.67-107.75 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (27/11) ที่ระดับ 103.97/99 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ