ขัตติยา อินทรวิชัย ‘กสิกรไทย’ พยุงลูกค้าสู้วิกฤตยาว 3 ปี

ขัตติยา อินทรวิชัย
ขัตติยา อินทรวิชัย

วิกฤต “โควิด-19” ที่เกิดขึ้นในปี 2563 ภาคการเงินของไทยเตรียมการรับมือได้ดีขึ้น เพราะมีประสบการณ์จากครั้งวิกฤต “ต้มยำกุ้ง” เมื่อปี 2540 ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นรุนแรงไม่แพ้กัน และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในหลายเรื่อง ไม่ว่าจะในเชิงเศรษฐกิจ

หรือวิถีชีวิตของผู้คนที่เปลี่ยนไป โดยขณะนี้กำลังจะจบปี 2563 และก้าวไปสู่ปี 2564 “ประชาชาติธุรกิจ” จัดสัมมนา “THAILAND 2021 New Game New Normal” เพื่อชี้ทิศทางข้างหน้าให้ทุกฝ่ายได้เตรียมพร้อมรับมือ

เศรษฐกิจฟื้นช้าลากยาว 3 ปี

โดย “นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) กล่าวในหัวข้อพิเศษ “New World New Economy” ว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวดีกว่าที่คาด จากเดิมแบงก์กสิกรไทยมองว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปี 2563 จะหดตัว-10%

แต่จากสัญญาณการฟื้นตัว จึงได้ปรับประมาณการใหม่เป็นหดตัว -7% ถือว่าสอดคล้องกับภาพการช่วยเหลือลูกค้าผู้ประกอบการและลูกค้ารายย่อย ที่พบว่าภายหลังจากมาตรการพักชำระหนี้(debt holiday) หมดลงในวันที่ 22 ต.ค.ที่ผ่านมา มีลูกค้ามากกว่า 70% กลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี อย่างไรก็ตาม สถานการณ์จะกลับมาสู่ภาวะปกติจะต้องใช้เวลาราว 2-3 ปี

ทั้งนี้ พิจารณาจากรายได้ภาคการท่องเที่ยวที่คิดเป็นสัดส่วน 12% ของจีดีพี และเป็นพระเอกค้ำจุนเศรษฐกิจไทย นับตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา หลังจากเกิดสถานการณ์โควิด-19 รายได้ส่วนนี้ลดลง แต่โชคดีที่ยังมีมาตรการไทยเที่ยวไทย ทำให้รายได้จากการท่องเที่ยวผงกหัวขึ้น ซึ่งหากมีมาตรการเข้ามาต่อเนื่อง เชื่อว่ารายได้ตรงนี้จะยิ่งดีขึ้นขณะที่ภาคการส่งออกอยู่ภายใต้เศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้า

แถมยังมีความท้าทายในเรื่องของเงินบาทที่แข็งค่า และการระบาดรอบ 2 ของโควิด-19 ส่งผลให้ตลาดการส่งออกไม่กลับมาเหมือนเดิม โดยจะเห็นผู้ประกอบการขนาดใหญ่ลงมาแข่งในตลาดขนาดกลาง ทำให้เอสเอ็มอีจะลำบากมากขึ้น

เรียนรู้เพื่ออยู่รอดรับ 4 เทรนด์

“เราต้องมองวิกฤตเปรียบเหมือนการผจญภัยไปสักตอนหนึ่ง วิกฤตเมื่อมันผ่านมาแล้วมันก็ผ่านไป หากเราผ่านไปได้เราก็จะเก่งขึ้น และเราจะแกร่งขึ้น โจทย์ คือ เราเรียนรู้จากวิกฤตอย่างไรบ้าง มีสุข ทุกข์ปนไป แต่สุดท้ายเราจะผ่านมันไปได้”

“นางสาวขัตติยา” กล่าวว่า ระยะข้างหน้าเศรษฐกิจรูปแบบใหม่จะเกิดขึ้นแน่นอน โดยมีโควิด-19 เป็นตัวเร่ง ซึ่งโจทย์แรกที่ต้องเผชิญ คือ เราต้องอยู่ให้รอดให้ได้ โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) มองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะเป็นแบบ long, uneven, uncertain หรือฟื้นตัวช้า, ไม่ทั่วถึง และมีความไม่แน่นอน ภายใต้การเปลี่ยนแปลงอย่างถาวรของ 4 เทรนด์

ได้แก่ 1.โครงสร้างประชากรจะมีผู้สูงวัยมากขึ้น และ Gen Me 2.การเปลี่ยนแปลงของ landscape (ภูมิทัศน์) ของสงครามการค้าโลกและสงครามเทคโนโลยี โดยเทรนด์การค้าจะเห็นการแบ่งเป็น 2 ขั้วชัดเจน คือ สหรัฐอเมริกากับจีน ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายเงินทุนและการย้ายฐานการผลิตไปสู่ที่ใหม่ ๆ หากไทยไม่สามารถเกาะซัพพลายเชนได้ ก็จะอยู่ลำบากและตกขบวนรถไฟ

3.การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี จะเห็นพฤติกรรมผู้บริโภคและคู่ค้าที่เปลี่ยนไป จึงจะต้องตามเทรนด์ให้ทัน เพราะจะเกิดการเชื่อมโยงระหว่างในประเทศและต่างประเทศ โดยช่องทางออฟไลน์และออนไลน์จะต้องทำให้ไร้รอยต่อ (seamless) เพื่อให้เข้าถึงลูกค้ามากขึ้น ธุรกิจเดิม ๆ ขอบเขตและเทคโนโลยีจะทำให้ภาพเบลอไป ดังนั้น หากใครสามารถใช้เทคโนโลยีและมีข้อมูลและใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่ดีกว่า บริษัทนั้นจะเป็นผู้ชนะ

และ 4.การเติบโตอย่างยั่งยืน (sustainability) หากเป็นธุรกิจธนาคารจำเป็นต้องมี banking license เพื่อไว้ทำธุรกิจฝากเงินและปล่อยสินเชื่อ แต่ธนาคารจะต้องมี social license ด้วย เนื่องจากปัจจุบันนักลงทุน-ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับการดูแลสิ่งแวดล้อม ธนาคารจึงต้องได้รับความไว้วางใจจากสังคมด้วย

ทั้งนี้ จากผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า สัดส่วนคนที่สนใจสิ่งแวดล้อมมีประมาณ 74% ที่พร้อมจะจ่ายในราคาที่แพงกว่าหากสินค้านั้นรักษาสิ่งแวดล้อม ดังนั้น ในเชิงธุรกิจจะต้องเปลี่ยนแปลงทั้งองค์กร กระบวนการผลิตและบริการ และต้องให้ความสำคัญกับเรื่องยั่งยืนมากขึ้น

“สิ่งที่เกิดขึ้น เรามองว่าวิกฤตครั้งนี้จะอยู่กับมันอย่างไร เหมือนที่มีคนพูด เมื่อลมพัดแรง บางคนสร้างกำแพง บางคนสร้างกังหัน ซึ่งในช่วงที่มีโควิด-19 จะเห็นว่ามีบางธุรกิจที่มองเห็นโอกาส เช่น GQ ที่ผลิตผ้ากันน้ำ หันมาผลิตหน้ากากอนามัยขายเป็น 10 ล้านชิ้น

หรือบางบริษัทที่ฝึกอบรมพนักงานให้เป็นนักขาย หรือร้านอาหารในช่วงที่ปิดร้าน ก็ใช้ส่งดีลิเวอรี่แทน สิ่งเหล่านี้อยากจะบอกว่าแม้จะมีวิกฤต แต่เราสามารถหาโอกาสได้”

แบงก์ปิดจุดอ่อนปี’40

สำหรับสถาบันการเงิน หากย้อนไปดูวิกฤตปี 2540 จุดอ่อน คือ ธนาคารพาณิชย์ที่มีทุนไม่พอ และลูกค้าระดับบนเจอปัญหาวิกฤตอัตราแลกเปลี่ยน ทำให้ทุกคนอ่อนแอเพราะสภาพคล่องไม่มี แต่วิกฤตครั้งนี้ธนาคารพาณิชย์ไม่ได้มีปัญหา แม้ว่าลูกค้าอาจจะโดนกระทบ

แต่เมื่อพิจารณาเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง(BIS) ปัจจุบันอยู่ในระดับสูงที่ 19.4% เทียบปี 2540 อยู่ที่ 9.1%และสัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝาก (L/D) อยู่ที่ 92.9% จากปี 2540 อยู่สูงถึง 110.7%

ขณะที่เงินกองทุนขั้นที่ 1 (tier 1) จะพบว่าระบบแบงก์ไทยอยู่ในระดับสูงที่ 16.4% ดีกว่าในหลาย ๆ ประเทศ เช่น มาเลเซียอยู่ที่ 15.2% สิงคโปร์ 14.9% สหรัฐอเมริกา 14.1% และสหราชอาณาจักร 17.2% ขณะที่การดำรงสภาพคล่องของเงินกองทุน (LCR) ของไทยอยู่ในระดับสูง183.3% ดีกว่ามาเลเซียที่อยู่ที่ 152% สิงคโปร์ 133% สหรัฐอเมริกา 117% และสหราชอาณาจักร 145%