เงินบาทผันผวนแข็งค่า ไร้ซึ่งนโยบายหนุนจาก ธปท.

เงินบาท-แบงก์ชาติ

เงินบาทผันผวนแข็งค่า ไร้ซึ่งนโยบายหนุนจาก ธปท. หลังประกาศยกเลิกการแถลงการณ์ ขณะที่เม็ดเงินลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติยังคงไหลเข้าตลาดหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 9 ธันวาคม 2563 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (9/12) ที่ระดับ 30.02/04 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดในวันอังคาร (8/12) ที่ระดับ 30.06/08 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐเคลื่อนไหวในกรอบแคบ โดยนักลงทุนจับตาการประชุมสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ ซึ่งจะทำการโหวตร่างกฎหมายงบประมาณชั่วคราว เพื่อเลี่ยงการปิดหน่วยงานของรัฐบาล (Government Shutdown)

การประชุมดังกล่าวจะเริ่มขึ้นในวันนี้ (9/12) และจะดำเนินไปเป็นเวลา 1 สัปดาห์ เพื่อให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีเวลาสำหร้บเจรจาข้อตกลงในการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 9.08 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

ด้านนางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ และนายมิตช์ แมคคอนเนลล์ ผู้นำเสียงข้างมากในวุฒิสภาสหรัฐ แสดงความหวังว่าสภาคองเกรสจะสามารถบรรลุข้อตกลงในการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและงบประมาณชั่วคราวได้ภายในวันที่ 11 ธันวาคม 2563 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายก่อนที่หน่วยงานรัฐบาลของสหรัฐ จะเผชิญภาวะชัตดาวน์หากไม่ได้รับงบประมาณจัดสรรใหม่

Advertisment

ทางด้านค่าเงินบาทยังคงปรับตัวแข็งค่าต่อเนื่อง โดยเม็ดเงินลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติยังคงไหลเข้าสู่ตลาดหุ้นไทยต่อเนื่อง ณ วันที่ 8 ธันวาคม 2563 ปริมาณการซื้อสุทธิของนักลงทุนต่างชาติอยู่ที่ 6,688.08 ล้านบท

นอกจากนั้น เดิมทีวันนี้ (9/12) ธนาคารแห่งประเทศไทยจะแถลงการณ์ถึงนโยบายซึ่งจะออกมาเพื่อรักษาเสถียรภาพของค่าเงินบาท อย่างไรก็ตาม เช้าวันนี้ (9/12) โฆษกของธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกมาประกาศยกเลิกการแถลงการณ์ดังกล่าวและไม่ได้แจ้งเหตุผลเพิ่มเติมหรือกำหนดการใหม่

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 29.98-30.07 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 30.06/07 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (9/12) ที่ระดับ 1.2109/13 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดในวันอังคาร (8/12) ที่ระดับ 1.2122/25 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรและค่าเงินปอนด์สเตอร์ลิงของสหราชอาณาจักรเคลื่อนไหวผันผวนจากความไม่ชัดเจนของการเจรจาข้อตกลงการค้าภายหลังสหราชอาณาจักรแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป

Advertisment

โดยวานนี้ (8/12) นายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร ได้กล่าวว่า สหราชอาณาจักรพร้อมที่จะยุติการเจรจาดังกล่าว และแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปโดยไม่มีการทำข้อตกลง (No-deal Brexit)

นายจอห์นสันกล่าวเพิ่มเติมว่า เขาจะยังคงหาทางบรรลุข้อตกลงกับสหภาพยุโรปอย่างเต็มที่ แต่ถ้าท้ายที่สุดแล้วไม่สำเร็จก็ต้องยอมรับ อย่างไรก็ตาม ถ้อยแถลงของนายจอหนสันมีขึ้นแม้ว่าในวันจันทร์ที่ผ่านมา (7/12) เขาเพิ่งจะเจรจาและเห็นพ้องกับนางอัวร์ซูลา ฟอน แดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมการสหภาพยุโรป

ทางด้านตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญ เยอรมนีเปิดเผยตัวเลขดุลการค้า เดือนตุลาคม ออกมาที่เกินดุล 18,200 ล้านยูโร โดยส่งออกขยายตัวร้อยละ 0.8 เปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า และนำเข้าขยายตัวร้อยละ 0.3 เปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.2107-1.2133 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.2127/30 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (9/12) ที่ระดับ 104.13/16 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (8/12) ที่ระดับ 104.08/11 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

อย่างไรก็ตาม วันนี้ (9/12) ญี่ปุ่นเปิดเผยดัชนีชี้วัดยอดคำสั่งซื้อสินค้าประเภทเครื่องจักร เดือนตุลาคมออกมาที่ขยายตัวร้อยละ 17.1 เปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 104.11-104.20 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 104.17/19 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ตำแหน่งว่างงานเปิดใหม่จากสถาบัน JOLTs สหรัฐ เดือนตุลาคม (9/12), ดัชนีราคาผู้ผลิตญี่ปุ่น เดือนพฤศจิกายน (10/12), ดุลการค้าสหราชอาณาจักร เดือนตุลาคม (10/12), ดัชนีมวลรวมภายในประเทศสหราชอาณาจักร เดือนธันวาคม (10/12), ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมสหราชอาณาจักร เดือนตุลาคม (10/12),

อัตราดอกเบี้ยนโยบายโดยธนาคารกลางสหภาพยุโรป เดือนธันวาคม (10/12), ดัชนีราคาผู้บริโภคสหรัฐเดือนพฤศจิกายน (10/12), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกสหรัฐ (10/12), ดัชนีราคาผู้บริโภคเยอรมัน เดือนพฤศจิกายน (11/12), ดัชนีราคาผู้ผลิตสหรัฐเดือนพฤศจิกายน (11/12), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภครัฐมิชิแกน สหรัฐ เดือนธันวาคม (11/12)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -2.50/-1.75 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -4.00/-2.70 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ