คลัง เตรียมปรับเป้าจีดีพี ปี’64 คาดต่ำกว่า 4.5%

คลัง เตรียมปรับเป้าจีดีพี ปี’64 เดือนม.ค.ปีหน้า คาดแนวโน้มลดลง จากเดิมประเมิน 4.5% ชี้สัญญาณการบริโภคในประเทศ-การส่งออกดีขึ้น แต่ต้องติดตามภาคบริการ โดยมีสัดส่วน 60% ของจีดีพี และนโยบายการเงิน-การคลัง สหรัฐ

นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังจะมีการปรับประมาณการณ์เศรษฐกิจ (จีดีพี) ปี 2564 ใหม่ในช่วงเดือนม.ค.64 ซึ่งมีแนวโน้มปรับลดลงจากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวที่ 4.5% เป็นผลมาจากเศรษฐกิจไทยในปี 2563 ปรับตัวดีขึ้นจากที่คาด

โดยหลังจากที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ประกาศตัวเลขจีดีพีในไตรมาส 3/2563 ขยายตัวที่ติดลบ 6.4% ซึ่งดีกว่าที่คลังคาดการณ์อย่างมาก ทำให้เชื่อว่าแนวโน้มเศรษฐกิจในปี 2563 จะขยายตัวได้ดีกว่าที่คลังเคยคาดการณ์ว่าจะติดลบสูงถึง 7.7%

“การคาดการณ์เศรษฐกิจปี 2564 เป็นเรื่องที่พูดได้ยาก เพราะเศรษฐกิจในปี 2563 ฟื้นตัวดีกว่าที่คาด ทำให้ฐานปรับตัวสูง ก็อาจจะทำให้ตัวเลขเศรษฐกิจในปีหน้าไม่โตเท่ากับ 4.5% ที่เคยคาดการณ์ไว้เดิม”

อย่างไรก็ดี แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2564 จะฟื้นตัวได้ดีกว่าปี 2563 อย่างชัดเจน ซึ่งเป็นผลมาจากมาตรการกระตุ้นการบริโภคของรัฐบาล ทั้งโครงการคนละครึ่ง เฟส 2 วงเงิน 4.5 หมื่นล้านบาท และโครงการเติมเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพิ่มเติม วงเงิน 2.1 หมื่นล้านบาท รวม 6 หมื่นกว่าล้านบาท จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้มีเม็ดเงินไหลเวียนในระบบเศรษฐกิจ และช่วยให้ตัวเลขจีดีพีปีหน้าขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.2%

พร้อมกันนี้ ยังมีปัจจัยสำคัญกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ต้องติดตาม เช่น สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ซึ่งจะต้องไม่มีการล็อกดาวน์อีก โดยประชาชนจะต้องร่วมมือกัน เพราะต้นทุนในการป้องกันต่ำกว่าการเยียวยา แต่ถ้ามีการล็อกดาวน์ก็เชื่อว่าเศรษฐกิจจะเติบโตได้ไม่ต่ำกว่าปี 2563 ขณะที่การส่งออกก็มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นตามสัญญาณของประเทศคู่ค้า ได้แก่ จีน เวียดนามและสหรัฐฯ ที่ดีขึ้น

ทั้งนี้ ยังต้องติดตามเกี่ยวกับภาคบริการของไทย ซึ่งมีสัดส่วนสูงถึง 60% ของจีดีพี ว่าจะฟื้นตัวกลับมาได้เร็วแค่ไหน รวมทั้งต้องรอดูนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีคนใหม่ว่าจะมีการดำเนินนโยบายด้านการเงินและการคลังอย่างไร ส่วนประเด็นเรื่องการเมืองภายในประเทศ มองว่า ยังไม่มีผลกระทบที่เป็นนัยยะสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในปี 2564