ค่าเงินบาทอ่อนค่าหนัก ตลาดกังวลสถานการณ์โควิดในประเทศ

เงินบาท

ค่าเงินบาทอ่อนค่าหนัก ตลาดกังวลสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ภายในประเทศไทยรอบใหม่ คาดแนวโน้มยังเพิ่มขึ้นจากมาตรการค้นหาเชิงรุก

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 21 ธันวาคม 2563 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (21/12) ที่ระดับ 29.95/98 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากรดับปิดตลาดในวันศุกร์ (18/12) ที่ระดับ 29.80/81 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าเนื่องจากตลาดกังวลสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ภายในประเทศไทยรอบใหม่ โดยกรณีในจังหวัดสมุทรสาครนับว่าเป็นการพบผู้ติดเชื้อมากที่สุดนับตั้งแต่มีการระบาดในประเทศไทย

และในวันนี้ (21/12) มีรายงานพบผู้ติดเชื้อภายในประเทศที่เป็นแรงงานต่างด้าว จากการตรวจคัดกรองเชิงรุกในชุมชนเพิ่มขึ้นอีกจำนวน 360 ราย โดยหลังจากนี้คาดว่ามีแนวโน้มที่จะพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอีกเรื่อย ๆ จากมาตรการค้นหาเชิงรุก

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นเทียบเงินสกุลหลัก หลังนักลงทุนเข้าซื้อคืนเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ หลังจากที่ร่วงลงอย่างหนักสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 2 ปี นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า สภาคองเกรสได้บรรลุข้อตกลงเพื่อออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 9 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

Advertisment

ซึ่งมาตรการดังกล่าวมีเป้าหมายที่จะเยียวยาประชาชนและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาสหรัฐจะทำการโหวตมาตรการดังกล่าวในวันนี้ (21/12)

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 29.80-30.06 บาท/ดอลลาร์สหรัฐก่อนปิดตลาดที่ระดับ 30.05/06 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (21/12) ที่ระดับ 1.2210/12 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (18/12) ที่ระดับ 1.2248/51 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาการเจรจาระหว่างสหภาพยุโรป (EU) และสหราชอาณาจักรยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงการค้าเพื่อบังคับใช้หลังจากที่สหราชอาณาจักรแยกตัวออกจาก EU (Brexit) เนื่องจากทั้งสองฝ่ายยังคงมีความเห็นต่างกันในด้านการประมง

ทั้งนี้สมาชิกสภานิติบัญญัติที่ดูแลเรื่อง (Brexit) ของรัฐสภายุโรปเตรียมประชุมกันอีกครั้งในวันนี้ (21/12) เพื่อประเมินทางเลือกต่าง ๆ อีกครั้ง อย่างไรก็ตามรัฐสภายุโรปอาจจะไม่สามารถอนุมัติข้อตกลงใด ๆ ได้ทันวันที่ 31 ธันวาคมนี้ หากทั้งสองฝ่ายไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้ จะทำให้สหราชอาณาจักรสูญเสียสิทธิพิเศษทางการค้ากับ EU และทำให้ทั้งสองฝ่ายต้องดำเนินการค้าภายใต้กฎเกณฑ์ขององค์การการค้าโลก (WTO) แทน

Advertisment

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.2166-1.2245 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.2201/04 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (21/12) ที่ระดับ 103.47/49 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (18/12) ที่ระดับ 103.54/57 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ นักลงทุนเข้าถือครองสกุลเงินเยนซึ่งเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับการเพิ่มขึ้นของยอดผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก โดยกรุงโตเกียวทำสถิติพบผู้ติดเชื้อใน 1 เดือนที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นมากกว่า 10,000 ราย

ขณะที่วันนี้ (21/12) คณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นได้อนุมัติร่างงบประมาณประจำปี 2564 ซึ่งมีวงเงินสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 106.61 ล้านล้านเยน (1.03 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ) ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 103.23-103.66 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 103.59/62 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคยูโรโซนประจำเดือนธันวาคม (21/12), ตัวเลขการนำเข้าและส่งออกไทยประจำเดือนพฤศจิกายน (22/12), ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ สหราชอาณาจักร ประจำไตรมา 3 (22/12), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเยอรมนีประจำเดือนมกราคม (22/12), ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศสหรัฐ ประจำไตรมาส 3 (22/12), ยอดขายบ้านมือสองสหรัฐ ประจำเดือนพฤศจิกายน,

ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งที่ 8/2563 (23/12), ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์สหรัฐ (23/12), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐของมหาวิทยาลัยมิชิแกน ประจำเดือนธันวาคม (23/12), ยอดขายบ้านใหม่สหรัฐ ประจำเดือนพฤศจิกายน (23/12),

ดัชนีราคาจากรายจ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลสหรัฐ ประจำเดือนพฤศจิกายน (23/12), ยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทนสหรัฐ ประจำเดือนพฤศจิกายน (24/12), ยอดค้าปลีกญี่ปุ่นประจำเดือนพฤศจิกายน (25/12)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -2.25/-1.50 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -1.60/-0.80 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ