จับตาข่าวเฟด-จีดีพีจีนไตรมาส 2

ภาวะหุ้นเงินบาท

ตลาดหุ้นไทยสัปดาห์ที่ผ่านมา (11-13 ก.ค. 60) ฟื้นตัวรับถ้อยแถลงประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และแรงเก็งกำไรผลประกอบการไตรมาส 2 ต้นสัปดาห์ (11 ก.ค. 60) มีแรงขายในกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี สวนทางกลุ่มแบงก์ ทำให้ดัชนีปิดที่ 1,569.24 จุด ลบ 0.20 จุด หรือ -0.01% มูลค่าการซื้อขาย 39,625.18 ล้านบาท

กลางสัปดาห์ (12 ก.ค. 60) มีแรงซื้อเก็งงบฯไตรมาส 2/2560 เป็นรายกลุ่ม ส่งผลให้ดัชนีปิด 1,574.93 จุด บวก 5.69 จุด หรือ +0.36% มูลค่าการซื้อขาย 50,069.31 ล้านบาท

ท้ายสัปดาห์ (13 ก.ค. 60) มีข่าวหนุนจากถ้อยแถลงประธานเฟดที่ระบุว่า อาจใช้นโยบายการเงินแบบไม่เร่งด่วน ทำให้มีแรงซื้อเข้ามาในตลาดหุ้นทั่วโลก ทำให้ดัชนีปิดที่ระดับ 1,579.41 จุด บวก 4.48 จุด หรือ +0.28% มูลค่าการซื้อขาย 45,256.36 ล้านบาท

ทั้งนี้ช่วง 3 วันทำการ นักลงทุนสถาบันซื้อสุทธิ 1,954.77 ล้านบาท บัญชีบริษัทหลักทรัพย์ขายสุทธิ 1,201.97 ล้านบาท นักลงทุนต่างประเทศซื้อสุทธิ 1,032.02 ล้านบาท และนักลงทุนรายย่อยขายสุทธิ 1,784.84 ล้านบาท

สัปดาห์นี้ (17-21 ก.ค. 60) บล.เคทีบี (ประเทศไทย) คาดดัชนีแกว่งในกรอบจำกัด 1,566-1,590 จุด เพราะยังไม่มีสัญญาณเชิงบวก อีกทั้งนักลงทุนยังรอการประชุมเฟดปลายเดือนก.ค.นี้ด้วย

ภาวะค่าเงินบาทในสัปดาห์ที่ผ่านมา (11-14 ก.ค.) ยังเคลื่อนไหวอ่อนค่าเล็กน้อย ต้นสัปดาห์ (11 ก.ค.) เปิดตลาดที่ 34.11/13 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากเมื่อวันศุกร์ (7 ก.ค.) ที่ 34.09/11 บาท/ดอลลาร์ ปัจจัยที่ทำให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น เพราะตัวเลขทางเศรษฐกิจสหรัฐออกมาดี และตลาดจับตาความคิดเห็นของเฟด ว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงที่เหลือของปีหรือไม่ ทำให้ค่าบาทปิดตลาดที่ระดับ 34.10/12 บาท/ดอลลาร์

กลางสัปดาห์ (12 ก.ค.) ค่าเงินบาทเปิดตลาดที่ 34.02/04 บาท/ดอลลาร์ แข็งค่าจากวันก่อนหน้า (11 ก.ค.) ที่อยู่ 34.10/12 บาท/ดอลลาร์ โดยค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง เนื่องจากมีปัจจัยทางการเมืองของสหรัฐ ในขณะที่นักลงทุนในตลาดยังจับตามองการแถลงการณ์ของเฟดต่อวุฒิสภาสหรัฐ ทำให้สิ้นวันค่าเงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 34.01/02 บาท/ดอลลาร์

ท้ายสัปดาห์ (14 ก.ค.) ค่าเงินบาทเปิดตลาดที่ 33.93 บาท/ดอลลาร์ฯ ทรงตัวจากเมื่อวานนี้ (13 ก.ค.) ที่ 33.92 บาท/ดอลลาร์ โดยเป็นผลจาก 2 ปัจจัยได้แก่ ตัวเลขการส่งออกของจีนที่ออกมาดี ส่งผลให้สกุลเงินในภูมิภาคเอเชียแข็งค่าขึ้น และการที่ประธานเฟดมีมุมมองต่อการขึ้นอัตราดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป ทำให้ค่าเงินดอลลาร์ ไม่แข็งค่าขึ้น

สัปดาห์นี้ (17-21 ก.ค.) ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทยคาดการณ์กรอบการเคลื่อนไหวค่าเงินบาท 33.85-34.00 บาท/ดอลลาร์ โดยระหว่างสัปดาห์มีตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐ ได้แก่ เงินเฟ้อ ตัวเลขสร้างบ้าน ฯลฯ รวมถึงจีดีพีไตรมาส 2 ของจีน และผลการประชุมของธนาคารกลางยุโรป (ECB) หากออกมาดีน่าจะส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง