ดอลลาร์แข็งค่า ขานรับสหรัฐเตรียมออกมาตรการกระตุ้นศรษฐกิจครั้งใหญ่

ดอลลาร์แข็งค่า ขานรับสหรัฐ เตรียมออกมาตรการกระตุ้นศรษฐกิจขนาดใหญ่ เพื่อเยียวยาประชาชนและภาคธุรกิจ ทั้งเงินประกันการว่างงานและการพักชำระหนี้ค่าเช่า คาดประกาศมาตรการ 21 ม.ค.นี้

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 11 มกราคม 2564 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (11/1) ที่ระดับ 30.15/16 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (8/1) ที่ระดับ 30.07/09 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นเทียบเงินสกุลหลักขานรับข่าวรัฐบาลสหรัฐชุดใหม่ของว่าที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน เตรียมออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ซึ่งจะประกอบด้วยเงินประกันการว่างงานและการพักชำระหนี้ค่าเช่า โดยจะมีการประกาศมาตรการดังกล่าวในวันที่ 21 มกราคมนี้

ทั้งนี้เมื่อวันศุกร์ (8/1) ที่ผ่านมา กระทรวงแรงงานสหรัฐ ได้รายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรลดลง 140,000 ตำแหน่งในเดือนธันวาคม สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดไว้ว่าจะเพิ่มขึ้น 50,000 ตำแหน่ง ซึ่งก่อนหน้านี้ในเดือนพฤศจิกายนตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรพุ่งขึ้นถึง 336,000 ตำแหน่ง

ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรในเดือนธันวาคมถือเป็นการปรับตัวลงเป็นครั้งแรกในรอบ 8 เดือนนับตั้งแต่เดือนเมษายน 2563 โดยได้รับผลกระทบจากการที่รัฐบาลกลับมาใช้มาตรการล็อกดาวน์อีกครั้ง ขณะที่อัตราการว่างงานทรงตัวที่ระดับ 6.7% ในเดือนธันวาคม

ตัวเลขการจ้างงานที่อ่อนแอในเดือนธันวาคมนั้นจะเป็นปัจจัยผลักดันให้รัฐบาลสหรัฐเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่เพื่อเยียวยาประชาชนและภาคธุรกิจจากผลกระทบจากไวรัสโควิด-19

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 30.08-18 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 30.12/14 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (11/1) ที่ระดับ 1.2180/84 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (8/1) ที่ระดับ 1.2226/30 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงจากการแข็งค่าขึ้นของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ จากความคาดหวังที่เศรษฐกิจสหรัฐจะกลับมาฟื้นตัวจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ ที่จะนำมาใช้

สำหรับค่าเงินปอนดอ่อนค่าลง โดยได้รับแรงกดดันจากมาตรการล็อกดาวน์รอบที่ 3 ในสหราชอาณาจักร ประกอบกับความกังวลในด้านเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรหลังออกจากสหภาพยุโรป อย่างไรก็ดีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสหราชอาณาจักรได้ประกาศให้เงินอุดหนุนกว่า 4.6 ล้านล้านปอนด์เพื่อช่วยเหลือธุรกิจจากการล็อกดาวน์ในครั้งนี้

โดยระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.2165-1.2265 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.2170/73 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (11/1) ที่ระดับ 104.12/14 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (8/1) ที่ระดับ 103.85/86 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนได้รับแรงกดดันจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้นายโยชิฮิเดะ ซูงะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นจะใช้เวลา 2-3 วันในการพิจารณาว่าจะประกาศภาวะฉุกเฉินเพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทวีความรุนแรงขึ้นในพื้นที่อื่น ๆ นอกเหนือจากกรุงโตเกียวหรือไม่

โดยแถลงการณ์ของนายซูงะเกิดขึ้นหลังจากที่ผู้ว่าราชการจังหวัดโอซากา เกียวโต และเฮียวโงะ ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลขยายพื้นที่การประกาศภาวะฉุกเฉิน ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 103.82-104.21 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 104.07/09 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ตำแหน่งงานว่างเปิดใหม่ของสหรัฐ โดย JOLTS เดือนพฤศจิกายน (12/1), ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมของยูโรโซน เดือนพฤศจิกายน (13/1), ดัชนีราคาผู้บริโภคของสหรัฐเดือนธันวาคม (13/1), ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของเยอรมนี ประจำไตรมาส 3 (14/1),

จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกของสหรัฐ (14/1), ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของสหราชอาณาจักรประจำไตรมาส 3 (15/1), ดัชนียอดค้าปลีกของสหรัฐเดือนธันวาคม (15/1), รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐ จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน เดือนมกราคม (15/1)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ 0.5/0.6 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ 1.7/2.2 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ