ครึ่งเดือนฝรั่งทิ้งบอนด์ 7 พันล้าน ยีลด์ 10 ปีขยับขึ้นเก็งรัฐกู้เพิ่ม

Bond Yield - ผลตอบแทนตราสารหนี้
Italian government bonds on trading screentaken from osb bloomberg trading screen

ต่างชาติขายสุทธิตราสารหนี้ไทยต่อเนื่อง เปิดปีฉลูขายสุทธิแล้ว 8 พันล้านบาท “ThaiBMA” ชี้บอนด์ยีลด์สหรัฐสูงกว่ากดส่วนต่างผลตอบแทนบอนด์ไทยแคบ ไม่จูงใจฝรั่งหอบเงินมาลงทุน ขณะที่บอนด์ยีลด์ระยะยาวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เหตุตลาดเก็งรัฐต้องกู้เงินเพิ่ม หลังเกิดโควิด-19 ระลอกใหม่ ฟาก “SCBS” ชี้ยีลด์บอนด์ไทย 10 ปีขาขึ้นตามยีลด์สหรัฐ เป้าปีนี้อยู่ที่ 1.5%

นายธาดา พฤฒิธาดา กรรมการผู้จัดการสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผยว่า คาดว่าปีนี้กระแสเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ (ฟันด์โฟลว์) จะไหลเข้ามาในตลาดตราสารหนี้ไทยไม่มากนัก เนื่องจากส่วนต่างผลตอบแทนระหว่างพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐและพันธบัตรรัฐบาลไทย (earning yield gap) ปัจจุบันค่อนข้างแคบ หรือมีส่วนชดเชยความเสี่ยงที่น้อยสำหรับนักลงทุนต่างประเทศ รวมถึงสหรัฐยังมีแผนระดมทุนผ่านการออกตราสารหนี้เพื่อนำเงินมากระตุ้นเศรษฐกิจ จึงคาดว่าผลตอบแทนของพันธบัตร (บอนด์ยีลด์) สหรัฐจะยังอยู่ในระดับที่สูง และลดแรงจูงใจนักลงทุนต่อออกมาลงทุนต่างประเทศ

โดยปัจจุบันอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ไทย อยู่ในระดับที่ไม่สูงมากนักจากข้อมูล ณ วันที่ 14 ม.ค. 2564 พบว่า พันธบัตรระยะสั้น (อายุต่ำกว่า 1 ปี) อยู่ระหว่าง 0.27-0.33% ต่อปี ขณะที่พันธบัตรระยะยาว (อายุมากกว่า 1 ปีขึ้นไป) อยู่ระหว่าง 0.51-1.33% ขณะที่ในปี 2563 ที่ผ่านมา บอนด์ยีลด์ไทยปรับขึ้นเล็กน้อยเท่านั้น จากแรงกดดันผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นที่ปรับตัวลง

“ตลาดตราสารหนี้ไทยได้รับแรงกดดันอย่างมากในปีที่แล้ว หลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องถึง 3 ครั้ง จนมาอยู่ที่จุดต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 0.5% ต่อปี ส่งผลกดดันให้ตราสารหนี้ที่มีอายุน้อยกว่า 3 ปีลงมา ให้ผลตอบแทนต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบาย” นายธาดากล่าว

ทั้งนี้ ข้อมูลจาก ThaiBMA พบว่า ตั้งแต่ต้นปี 2564 จนถึงปัจจุบัน (ณ 14 ม.ค.) นักลงทุนต่างชาติยังคงขายสุทธิบอนด์ไทยอย่างต่อเนื่อง จากปีก่อนที่ขายสุทธิ 64,025 ล้านบาท

โดยต้นปีนี้ต่างชาติขายสุทธิไปแล้วราว 8,000 ล้านบาท ขณะที่บอนด์ยีลด์ระยะสั้นรุ่น 1 เดือน ไปจนถึง 2 ปี ปรับเพิ่มขึ้น 0.02-0.06% (2-6 bps) หลังจากที่ช่วงเดือน ธ.ค. 2563 ปรับลดลงไป 0.13-0.17% (13-14 bps)

ขณะที่แหล่งข่าวจากวงการตราสารหนี้ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บอนด์ยีลด์ระยะยาวมีแนวโน้มปรับขึ้น โดยจากต้นปีถึงปัจจุบันบอนด์ยีลด์ 10 ปี ปรับขึ้นแล้ว 0.08% (8 bps) หลังจากในช่วงเดือน ธ.ค. 2563 ยีลด์ปรับลดลงไป 0.13% (13 bps) หลังมีข่าวการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่

“ตอนนี้บอนด์ยีลด์ระยะยาวเริ่มปรับเพิ่มขึ้นแล้ว เนื่องจากตลาดคาดการณ์ว่ารัฐบาลจะมีการกู้เงินเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะหลังจากมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ จึงคาดว่าจะทำให้ความต้องการกู้จะยิ่งมากขึ้นไปอีก” แหล่งข่าวกล่าว

นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี (TMB Analytics) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ต้นปีนี้นักลงทุนต่างชาติยังคงขายสุทธิตราสารหนี้ไทย แต่พบว่านักลงทุนสถาบันในประเทศ กลับเข้ามาซื้อบอนด์ระยะสั้นกันมากขึ้น ซึ่งคาดว่าเพื่อกระจายความเสี่ยง

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ หัวหน้าทีมกลยุทธ์ตลาดการเงินและวางแผนการลงทุน EASY INVEST บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ (SCBS) กล่าวว่า ตอนนี้บอนด์ยีลด์ไทยอายุ 10 ปี ขยับตัวขึ้นตามยีลด์สหรัฐมาที่ระดับ 1.27% สูงที่สุดในรอบกว่า 2 เดือน คาดว่าเกิดจากนักลงทุนที่เริ่มลดปริมาณการถือครองสินทรัพย์ปลอดภัยในช่วงที่เศรษฐกิจฟื้นตัวจึงมีความเป็นไปได้ที่จะเห็นยีลด์ทั้งไทยและสหรัฐปรับตัวขึ้นต่อ

ทั้งนี้ ที่ผ่านมานักลงทุนทั้งต่างชาติและไทยมีการขายบอนด์ระยะยาวออกมาต่อเนื่อง แต่ก็มีกองทุนที่เข้าซื้อบอนด์สั้น ซึ่งเป็นการบริหารสภาพคล่องที่มีอยู่มาก

“แนวโน้มข้างหน้า SCBS มองว่าบอนด์ยีลด์ระยะยาวจะขึ้นอีก เราจึงคงเป้าหมายยีลด์ระยะยาว 10 ปีในไทยและสหรัฐสิ้นปี 2564 ที่ 1.50% และ 1.75% ตามลำดับ นอกจากนี้ ก็เชื่อว่าถ้ายีลด์ทั้งสองประเทศปรับตัวขึ้นพร้อมกัน ก็จะไม่ส่งผลให้เงินบาทอ่อนหรือแข็งค่ามากในระยะข้างหน้า” ดร.จิติพลกล่าว