เงินบาทผันผวน หลังรัฐบาลประกาศมาตรการเยียวยาเศรษฐกิจครั้งใหม่

Baht-ดอลลาร์-1

ค่าเงินบาทผันผวนในทิศทางแข็งค่า หลังรัฐบาลประกาศมาตรการเยียวยาเศรษฐกิจครั้งใหม่ สหรัฐเผยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ วงเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราระหว่างวันที่ 11-15 มกราคม 2564 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (11/1) ที่รดับ 30.15/16 ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (8/1) ที่ระดับ 30.07/09 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ในช่วงต้นสัปดาห์ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นเทียบเงินสกุลหลักขานรับข่าวรัฐบาลสหรัฐ ชุดใหม่ของว่าที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน เตรียมออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ แต่อย่างไรก็ตามตัวเลขเศรษฐกิจที่อ่อนแอยังคงกดดันการแข็งค่าของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ตั้งแต่เมื่อวันศุกร์ (8/1) ที่ผ่านมา

กระทรวงแรงงานสหรัฐได้รายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรลดลง 140,000 ตำแหน่งในเดือนธันวาคม สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดไว้ว่าจะเพิ่มขึ้น 50,000

ขณะที่อัตราการว่างงานทรงตัวที่ระดับ 6.7% ในเดือนธันวาคม รวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นของธุรกิจขนาดย่อมดิ่งลงสู่ระดับ 95.9 ในเดือนธันวาคม ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 100.0 จากระดับ 100.9 ในเดือนพฤศจิกายน

ส่วนทางด้านสำนักงานสถิติของกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยผลสำรวจการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) พบว่า ตัวเลขการเปิดรับสมัครงาน ซึ่งเป็นมาตรวัตอุปสงค์ในตลาดแรงงานลดลง 105,000 ตำแหน่ง สู่ระดับ 6.527 ล้านตำแหน่งในเดือนพฤศจิกายน

เฟดยังไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย

อย่างไรก็ดี เวลาต่อมาค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวอ่อนค่าลงอีกครั้งหลังจากทางด้านของนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟดกล่าวย้ำแนวโน้มการดำเนินนโยบายว่าจะรักษามาตรการทางการเงินแบบผ่อนคลายต่อไปตามระยะเวลาที่คาดไว้

ซึ่งเขาเชื่อว่าคณะกรรมการจะไม่ปรับขึ้นอตราดอกเบี้ย เว้นแต่ว่าเห็นสัญญาณว่าอัตราเงินเฟ้อปรับเพิ่มขึ้นเหนือเป้าหมายมากเกินไป และต้องการให้สาธารณชนเห็นอัตราเงินเฟ้อปรับเร่งขึ้นเหนือระดับเป้าหมายเป็นระยะเวลาหนึ่งก่อนที่จะสรุปว่ากรอบการดำเนินนโยบายใหม่นี้มีความน่าเชื่อถือ

อีกทั้งได้ย้ำว่าการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้ นอกจากนี้นายโจ ไบเดน ได้ทำการประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ช่วยครัวเรือน-ภาคธุรกิจรับมือโควิด โดยเขาได้ประกาศมาตรการ America Rescue Plan ในระหว่างการประชุมร่วมกับทีมเศรษฐกิจที่เมืองวิลมิงตัน รัฐเดลาแวร์

ไบเดนเปิดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

โดยมาตรการดังกล่าวประกอบไปด้วย 1.ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจากระดับ 7.25 ดอลลาร์สหรัฐ/ชั่วโมงในปัจจุบัน สู่ระดับ 15 ดอลลาร์สหรัฐ 2.เพิ่มวงเงินในการส่งเช็คเงินสดให้แก่ชาวอเมริกันเป็นคนละ 2,000 ดอลลาร์สหรัฐ จากเดิมที่ได้คนละ 600 ดอลลาร์สหรัฐ 3.เพิ่มวงเงินช่วยเหลือคนตกงานเป็น 400 ดอลลาร์สหรัฐ/สัปดาห์ และให้ขยายโครงการช่วยเหลือไปจนถึงสิ้นเดือนกันยายน 4.ให้เงินช่วยเหลือรัฐต่าง ๆ และรัฐบาลท้องถิ่น จำนวน 3.50 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

5.ให้เงินช่วยเหลือโรงเรียนและสถาบันการศึกษา จำนวน 1.70 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ 6.ให้เงินสนับสนุนการตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 จำนวน 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ  7.ให้เงินช่วยเหลือในโครงการวัคซีนแห่งชาติภายใต้ความร่วมมือกับรัฐและองค์กรต่าง ๆ วงเงิน 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้คาดว่ามาตรการดังกล่าวจะได้รับการอนุมัติในสภาผู้แทนราษฎร แต่นายไบเดนอาจต้องใช้ความพยายามในการผลักดันให้ผ่านการรับรองในวุฒิสภา เนื่องจากขณะนี้พรรคเดโมแครตและรีพับลิกันมีคะแนนเสียงเท่ากันที่ 50-50 และการผ่านมาตรการดังกล่าวจำเป็นต้องได้รับเสียงสนับสนุนอย่างต่ำ 60 เสียง ทำให้นายไบเดนจำเป็นต้องพึ่งพาสมาชิกพรรครีพับลิกันอย่างน้อย 10 เสียงในการผ่านมาตรการดังกล่าว

เงินบาทเคลื่อนไหวทิศทางแข็งค่า

สำหรับปัจจัยในประเทศค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในทิศทางแข็งค่าหลังจากที่นายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุม คณะรัฐมนตรีวันอังคารที่ 12 มกราคม 2564 ณ บัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล เกี่ยวกับการ “เยียวยาโควิด” ระลอกใหม่ ได้ข้อสรุปว่าจะมีมาตรการต่าง ๆ ออกมาช่วยบรรเทาผลกระทบให้ประชาชน

ได้แก่ การเยียวยารายได้จากผลกระทบโควิด-19 ให้แก่ประชาชนทุกกลุ่ม รวมไปถึงแรงงานนอกระบบ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ และเกษตรกร คนละ 3,500 บาทต่อเดือน เป็นเวลา 2 เดือน

โดยได้สั่งการให้กระทรวงการคลังไปจัดทำรายละเอียดแล้วนำกลับมาเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในสัปดาห์หน้า พร้อมกับเปิดให้ลงทะเบียนโครงการ “คนละครึ่ง” รอบเก็บตกอีกกว่า 1 ล้านสิทธิ์ในช่วงปลายเดือนมกราคม

ลดค่าน้ำ-ค่าไฟ,ขยายเวลาลดภาษีที่ดินฯ

ส่วนการลดค่าใช้จ่าย มอบหมายให้กระทรวงการคลังขยายเวลาลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างและค่าธรรมเนียมการโอน, การลดค่าไฟฟ้าทั้งในส่วนของครัวเรือนและกิจการขนาดเล็ก เป็นเวลา 2 เดือน ตั้งแต่รอบบิลเดือนกุมภาพันธ์ และมีนาคม 2564 โดยผู้ใช้ไฟ้ากิจการขนาดเล็ก ซึ่งไม่รวมหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจ ให้สิทธิ์ใช้ไฟฟ้าฟรี 50 หน่วยแรก ส่วนครัวเรือนที่ใช้ไฟไม่เกิน 150 หน่วยต่อเดือน จะงดเก็บค่าไฟฟ้า 90 หน่วยแรก ส่วนที่ใช้เกินกว่า 150 หน่วยต่อเดือน ก็ให้ลดตามอัตราที่กำหนด

และลดค่าน้ำประปาลง 10% เฉพาะบ้านที่อยู่อาศัยและกิจการขนาดเล็ก ไม่รวมส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ ช่วงเวลาเดียวกัน ทั้งนี้ ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 29.97-30.17 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (15/1) ที่ระดับ 30.03/05 บาท/ดอลลาร์สรัฐ

ยูโรอ่อนค่า คาดเศรษฐกิจสหรัฐฟื้นตัว

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดวันจันทร์ (11/1) ที่ระดับ 1.2180/84 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (8/1) ที่ระดับ 1.2226/30 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงจากการแข็งค่าขึ้นของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ จากความคาดหวังที่เศรษฐกิจสหรัฐ จะกลับมาฟื้นตัวจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ ที่จะนำมาใช้

นอกจากนี้นักลงทุนยังคงกังวลต่อผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการล็อกดาวน์ของประเทศต่าง ๆ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แม้ว่ามีการประกาศดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมของยูโรโซน เดือนพฤศจิกายน ออกมาที่ระดับ 2.5% เทียบปีต่อปี ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคมที่ระดับ 2.3% และสูงกว่าที่นักวิคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 0.2%

เงินปอนด์อ่อนค่า กังวลมาตรการล็อกดาวน์รอบ 3

สำหรับค่าเงินปอนด์อ่อนค่าลงโดยได้รับแรงกดดันจากมาตรการล็อกดาวน์รอบที่ 3 ในสหราชอาณาจักร ประกอบกับความกังวลในด้้านเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรหลังออกจากสหภาพยุโรป อย่างไรก็ดีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสหราชอาณาจักรได้ประกาศให้เงินอุดหนุนกว่า 4.6 ล้านล้านปอนด์ เพื่อช่วยเหลือธุรกิจจากการล็อกดาวน์ในครั้งนี้

ทั้งนี้ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในกรอบ 1.2115-1.2215 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และเปิดตลาดในวันศุกร์ (15/1) ที่ระดับ 1.2125/27 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (11/1) ที่ระดับ 104.12/14 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (8/1) ที่ระดับ 103.85/86 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนได้รับแรงกดดันจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐในช่วงต้นสัปดาห์

โดยทางด้านผู้ว่าราชการจังหวัดโอซากา เกียวโต และเฮียวโงะ ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลขยายพื้นที่การประกาศภาวะฉุกเฉิน ซึ่งในเวลาต่อมาญี่ปุ่นเล็งประกาศภาวะฉุกเแินเพิ่มอีก 7 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดโอซากา เกียวโต เฮียวโงะ ไอจิ กิฟุ ฟูกูโอกะ และโทชิงิ เพื่อรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่องของไวรัสโควิด-19 หลังจากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 พุ่งสูงขึ้นไม่หยุด แม้ว่าก่อนหน้านี้ ได้ประกาศภาวะฉุกเฉินในกรุงโตเกียว รวมถึงจังหวัดคานากาวะ ชิบะ และไซตามะ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 103.59-10.31 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (15/1) ที่ระดับ 103.70/72 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ