ทิสโก้ ยันตั้งสำรองสูง 210% รับมือโควิด-หนี้เสีย 3-3.5% พร้อมไฟเขียวจ่ายปันผล

ทิสโก้ มั่นใจโควิด-19 ระลอกใหม่ ไม่กระทบฐานะ ย้ำเงินกองทุนฯ ปึก 23% ลุยตั้งสำรองต่อหนี้ด้อยสูง 210% จาก 183% ยันเอาอยู่ แม้หนี้เสียขยับเพิ่มในกรอบ 3-3.5% แย้มพร้อมจ่ายปันผลปกติตามเกณฑ์ธปท.กำหนดไม่เกิน 50% ของกำไร กางแผนปี 64 ลุยสินเชื่อรถ-ประกัน-ธนบดี ปั้นรายได้ค่าธรรมเนียม

นายสุทัศน์ เรืองมานะมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มทิสโก้ เปิดเผยว่า ตอนนี้ธนาคารพยายามบริหารจัดการเรื่องผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างเต็มที่ เพื่อให้มีผลกระทบน้อยที่สุด โดยเชื่อว่าปีนี้จะเห็นอัตราการเติบโตบ้าง แต่ไม่สูงมากนัก ซึ่งพยายามบริหารจัดการสินเชื่ออย่างระมัดระวัง แต่เชื่อว่าได้ผ่านจุดเลวร้ายไปแล้ว

ขณะที่ตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให่เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ธนาคารติดตามอย่างใกล้ชิดนับตั้งแต่ลูกค้าเริ่มมีสัญญาณการผิดนัดชำระตั้งแต่งวดที่ 1 ซึ่งเท่าที่ประเมินสถานการณ์ยังอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ และประเมินว่าภายใต้สถานการณ์ดังกล่าวกรอบเอ็นพีแอลในปี 2564 จะอยู่ในระดับ 3-3.5% ถือเป็นตัวเลขที่คาดการณ์เผื่อไว้แล้วตั้งแต่ช่วงที่มีการระบาดรอบแรก แต่จะเห็นว่าลูกหนี้กลับมาชำระได้ดีขึ้นทำให้ในปี 2563 เอ็นพีแอลจบอยู่ที่ 2.5%

ทั้งนี้ ธนาคารมีความระมัดระวังและได้สำรองเผื่อความเสี่ยงสะท้อนจากธนาคารได้มีการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญถึง 2 เท่า โดยมีอัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพของธนาคาร (Coverage Ratio) อยู่ที่ 210% จาก 183% ถือเป็นสัดส่วนที่ค่อนข้างสูงหากเทียบสถานการณ์ปกติระบบธนาคารพาณิชย์จะสำรองเฉลี่ยอยู่ที่ 150% สะท้อนว่าธนาคารได้ตั้งสำรองฯ เผื่อสถานการณ์โควิด-19 กลับมารุนแรง และกรณีมีความยืดเยื้อ

และหากดูสถานะเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS) ภาพรวมอยู่สูงถึง 23% และหากเป็นเงินกองทุนขั้นที่ 1 (Tie1) อยู่ที่ 18% หากเทียบขั้นต่ำที่ต้องมีและรวมกับที่ต้องทำเพิ่มเพื่อรองรับแรงกระแทกจากวิกฤต (Buffer) อยู่ที่ประมาณ 9% เท่านั้น แต่ธนาคารมีสูงถึง 18% สะท้อนฐานะเงินทุนที่มีความแข็งแกร่ง และไม่จำเป็นต้องออกตราสารหนี้เพิ่มเพื่อเพิ่มเงินกองทุนแต่อย่างใด

“เรามีทุนถึง 23% แม้ว่าเอ็นพีแอลจะขยับขึ้นเล็กน้อยคาดที่คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 3-3.5% ก็ยังอยู่ในการบริหารจัดการได้ เพราะเรามีการตั้งสำรองสูงถึง 2 เท่า ดูจาก Coverage Ratio เรามีสูงถึง 210% คิดว่าไม่น่าห่วง และหากดูระบบธนาคารพาณิชย์วันนี้ค่อนข้างแข็งแรงมาก ซึ่งมองย้อนกลับไปในช่วงวิกฤตในอดีตเอ็นพีแอลอยู่ในระดับสูงกว่านี้ และเงินกองทุนมีเฉลี่ยแค่ 3.6-3.7% เราก็ยังอยู่มาได้ ซึ่งตอนนี้สถานะแข็งแรงมากๆ แต่เราก็ต้องทำอย่างระมัดระวัง”

นายชาตรี จันทรงาม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส สายควบคุมการเงิน และบริหารความเสี่ยง กลุ่มทิสโก้ กล่าวว่า สำหรับเรื่องการจ่ายเงินปันผลนั้น หากดูตามเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สามารถให้จ่ายเงินปันผลได้ไม่เกิน 50% ของกำไรปีก่อน ธนาคารก็คงจ่ายปันผลอยู่ แต่หากดูบริษัทลูกในเครือหลายๆ แห่ง เช่น บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) และธุรกิจลีสซิ่ง ธุรกิจประกัน จะเห็นว่าบริษัทลูกสามารถจ่ายเงินปันผลได้มากว่า 50% ซึ่งบริษัทเหล่านี้พยายามจะจ่ายเงินปันผลให้ได้มากที่สุด และมากกว่าธนาคาร เนื่องจากไม่ต้องดำรงเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS) เพราะเป็นธุรกิจที่มีรายได้จากค่าธรรมเนียมเป็นหลัก

สำหรับการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญตามมาตรฐานบัญชีใหม่ (TFRS9) จะต้องมีการตั้งสำรองล่วงหน้า ซึ่งธนาคารคาดการณ์ว่ากรอบหนี้เอ็นพีแอลจะอยู่ระดับ 3-3.5% ซึ่ง ณ ปัจจุบันการตั้งสำรองเผื่อไว้เรียบร้อยแล้ว จึงไม่มีภาระการตั้งสำรองเพิ่มเติม และการตั้งสำรองจะกลับไปสู่ระดับปกติก่อนที่จะมีปัญหาโควิด-19 นอกจากจะมีเหตุการณ์ที่ไม่ได้คาดการณ์ไว้เกิดขึ้น

“กรอบเอ็นพีแอลเราเผื่อใจว่าจะต้องขยับเพิ่มขึ้นได้ ซึ่งจากประมาณการช่วยลูกค้ารอบแรก คาดว่าเอ็นพีแอลจะแตะอยู่ที่ 3-3.5% แต่หลังสิ้นสุดมาตรการรอบแรกผลดีกว่าที่คาด ทำให้เอ็นพีแอลจบ 2.5% แต่หลังมีปัญหารอบ 2 ก็มีความเป็นไปได้ที่เอ็นพีแอลจะไปอยู่ที่ 3-3.5% แต่เป็นะดับที่เราตั้งเผื่อไว้แล้ว และไม่มีภาระต่อการตั้งสำรองเพิ่ม”

นายศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารทิสโก้ กล่าวว่า การดำเนินธุรกิจธนาคารทสโก้ในปี 2564 จะแบ่งเป็ฯ 3 กลุ่ม คือ กลุ่มสินเชื่อ เน้นการเติบโตสินเชื่อรถยนต์ และสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งธนาคารมีความเชี่ยวชาญในเรื่องของธุรกิจพลังงานและอสังหาริมทรัพย์ โดยมีความพร้อมที่จะช่วยเหลือลูกค้าในการเติบโต และพัฒนา Digital Platform และ Ecosystem ของผู้ใช้รถยนต์และจักรยานยนต์ และบ้าน เพื่อขยายฐานลูกค้าใหม่

และ 2.ธุรกิจบริการประกันชีวิต และประกันภัย โดยจะร่วมมือกับบริษัทประกันในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ครอบคลุมทุกผลิตภัณฑ์ และขยายความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจที่เป็นผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำในลักษณะของ Branded Insurance เป็นต้น และ 3.ธุรกิจธนบดี จะเห็นว่ามีการเติบโตที่ดีอยู่แล้ว โดยระยะข้างหน้าจะเน้นให้บริการ Open Achitecture เต็มรูปแบบ