อุตสาหกรรมกองทุนหดตัว 7.3% เงินไหลออกตลาดหุ้น SSF แรงซื้อเบาบาง

หดตัว ติดลบ

‘มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย)’ เผยภาพรวมอุตสาหกรรมกองทุนรวมไทยไตรมาส 4/63 หดตัว 7.3% เงินไหลออก 2.8 แสนล้านบาท เหตุแรงซื้อกองทุนลดหย่อนภาษีเดิมหายไป ฝั่ง SSF-SSFX แรงซื้อทั้งปียังเบาบาง ภาวะเศรษฐกิจไม่เอื้อต่อการลงทุน

นางสาวชญานี จึงมานนท์ นักวิเคราะห์อาวุโส บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) เปิดเผยภาพรวมกองทุนรวมปี 2563 ว่า ในไตรมาสสุดท้ายสถานการณ์ของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั่วโลกยังไม่เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น หลายประเทศยังมีผู้ติดเชื้อรายวันที่สูง ส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อสะสมทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจาก 30 ล้านคนในช่วงเดือน ก.ย.มาที่ระดับ 80 ล้านคนภายในระยะ 3 เดือน ส่งผลให้หลายประเทศยังต้องมีมาตรการป้องกันอย่างเข้มข้น รวมถึงส่งผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลก

ขณะที่ประเทศไทยเกิดการระบาดระลอกใหม่เช่นกัน โดยทำให้ทุกภาคส่วนต้องมีการเฝ้าระวัง รวมทั้งยังส่งผลต่อภาพรวมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นไทยยังมีการปรับตัวขึ้นในไตรมาสสุดท้ายของปี 2563 สู่ระดับ 1,400 จุด (SET TR 3 เดือน = 17.4%) แต่โดยรวมยังไม่ส่งผลบวกต่อกองทุนรวมมากนัก เห็นได้จากกองทุนหุ้นไทยยังมีเงินไหลออกสุทธิต่อเนื่อง รวมทั้งนักลงทุนยังให้ความสนใจกับกองทุนหุ้นต่างประเทศมากกว่า

ทั้งนี้ มูลค่าทรัพย์สินสุทธิกองทุนรวมไทย ณ สิ้นปี 2563 อยู่ที่ 5.0 ล้านล้านบาท ลดลง 6.5% จากสิ้นปี 2562 ขณะที่มูลค่าทรัพย์สินสุทธิกองทุนรวมไทยเฉพาะในไตรมาส 4/63 ปรับตัวสูงขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า 5.8% มีเงินไหลเข้าสุทธิรวม 7.7 หมื่นล้านบาท ไปอยู่ที่ 4.0 ล้านล้านบาท แต่ยังต่ำกว่าสิ้นปี 2562 ราว 7.3% และมีเงินไหลออกสุทธิทั้งปีรวมทั้งสิ้น 2.8 แสนล้านบาท

“โดยเฉพาะกองทุนกลุ่มหุ้นขนาดใหญ่ (Equity Large-Cap) ที่เงินไหลออกต่อเนื่องทั้งปี 2563 โดยเฉพาะในไตรมาสสุดท้าย ส่งผลให้ทั้งปีก่อนมีเงินไหลออกรวม 2.1 หมื่นล้านบาท เป็นครั้งแรกในรอบ 15 ปี ซึ่งเราคาดว่ามาจากการที่ไม่มีแรงซื้อจากกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) อย่างปีก่อนๆ รวมถึงภาวะเศรษฐกิจที่ยังกดดัน” นางสาวชญานี กล่าว

ทั้งนี้ หากพิจารณามูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวมตราสารทุน หรือกองทุนหุ้น พบว่า มีการเติบโตเล็กน้อยจากปีก่อน หรือเพิ่มขึ้น 1.8% ไปอยู่ที่ 1.3 ล้านล้านบาท จากเม็ดเงินไหลเข้าสุทธิ 7.7 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ดี ภาพรวมกองทุนรวมที่ลงทุนในประเทศซึ่งเป็นสัดส่วนหลักของอุตสาหกรรมมีการฟื้นตัวที่ช้า เนื่องจากปัจจัยการแพร่ระบาดโควิด-19 ยังเป็นแรงกดดันต่อสภาวะเศรษฐกิจไทยโดยรวม

ในทางกลับกันการลงทุนต่างประเทศอาจมีปัจจัยสนับสนุนที่ชัดเจนกว่าโดยเฉพาะการลงทุนหุ้นต่างประเทศเช่น กลุ่มหุ้นจีน (China Equity) หรือกลุ่มหุ้นต่างประเทศ (Global Equity) ที่ให้ผลตอบแทน

ขณะที่กองทุนเพื่อการออม (SSF) และกองทุนเพื่อการออมพิเศษ (SSFX) ที่ถือเป็นกองทุนที่ภาครัฐมีความตั้งใจสนับสนุนให้ประชาชนออมเงินระยะยาว รวมถึงเป็นกองทุนลดหย่อนภาษีใหม่ที่ตลาดคาดหวังแทนกองทุน LTF นั้น ในปี 2563 กองทุนดังกล่าวมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวม 2.2 หมื่นล้านบาท (กองทุน SSFX มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ ณ วันที่ 1 ก.ค.63 รวม 1.1 หมื่นล้านบาท) โดยกองทุนกลุ่มหุ้นขนาดใหญ่เป็นกลุ่มที่มีมูลค่าทรัพย์สินรวมสูงสุดที่ 9 พันล้านบาท

SSF vs LTF

ส่วนกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิกลับขึ้นมาในระดับ 3 แสนล้านบาทได้อีกครั้งหลังจากที่ปรับตัวลงไปในช่วงกลางปี โดยเพิ่มขึ้น 8.5% จากปี 2562 โดยทิศทางเม็ดเงินกองทุน RMF ในปีนี้ถือว่ามีเงินไหลเข้าในไตรมาสสุดท้ายที่สูงกว่าทุกปี

“SSFX ที่เป็นกองทุนพิเศษไม่ได้ส่งแรงหนุนต่ออุตสาหกรรมกองทุนรวม รวมถึงตลาดหุ้นไทยมากนัก หากพิจารณาตัวเลขทรัพย์สินสุทธิของกองทุนหุ้นขนาดใหญ่มูลค่า 9 พันล้านบาท เป็นแรงซื้อ SSFX 5-6 พันล้านบาท และอีก 2 พันล้านบาทเป็นเม็ดเงินเข้ากองทุน SSF ปกติ แต่ก็ต้องอย่าลืมว่ากองทุน SSF ปกติก็มีทางเลือกลงทุนต่างประเทศ” นางสาวชญานี กล่าว