ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า จับตาผลประชุมเฟด กลางสัปดาห์นี้

เจเน็ต เยลเลน
เจเน็ต เยลเลน

ดอลลาร์อ่อนค่า จับตาผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐกลางสัปดาห์นี้ คาดเฟดคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับเดิมที่ 0-0.25% ทางด้านเงินบาทวันนี้ปิดตลาดที่ระดับ 29.98/99 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 25 มกราคม 2564 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (25/1) ที่ระดับ 29.97/98 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (22/1) ที่ระดับ 29.99/30.00 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ในวันนี้ระหว่างวันค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยตลาดรอติดตามการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันที่ 26-27 ม.ค. โดยคาดว่าเฟดจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับเดิมที่ 0-0.25%

อย่างไรก็ตาม ตลาดคาดหวังจะได้ฟังความคิดเห็นเพิ่มเติมว่าเฟดมีความเห็นอย่างไรต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ หลังจากมีข้อกังขาในนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของประธานาธิบดีโจ ไบเดน วงเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

โดยนางเจเน็ต เยลเลน ว่าที่รัฐมนตรีคลังคนใหม่ของสหรัฐ ได้ยืนยันว่าการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจากระดับ 7.25 ดอลลาร์/ชั่วโมง สู่ระดับ 15 ดอลลาร์/ชั่วโมง จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจมากกว่าผลเสีย

ซึ่งขัดแย้งกับงานวิจัยของคณะกรรมาธิการด้านการเงินแห่งวุฒิสภาสหรัฐที่ตีพิมพ์ออกมาระบุว่า การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเช่นนี้ แม้จะช่วยเหลือแรงงานได้มากถึง 17 ล้านคน แต่จะเพิ่มโอกาสที่จะเกิดการสูญเสียงานระดับสูงในอนาคต จึงเป็นปัจจัยกดดันที่ว่าไบเดนอาจจะต้องปรับดวงเงินในมาตรการดังกล่าวเพื่อให้ผ่านการอนุมัติจากสภาคองเกรสหรือไม่

สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญที่มีการประกาศนั้น ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและบริการเบื้องต้น ดีดตัวสู่ระดับ 58.0 ในเดือน ม.ค. จากระดับ 55.3 ในเดือน ธ.ค. โดยดัชนีอยู่เหนือระดับ 50 แสดงถึงว่าภาคการผลิตและบริการของสหรัฐอยู่ในภาวะขยายตัว

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 29.96-30.00 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 29.98/99 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (25/) ที่ระดับ 1.2165/66 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าลงเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (22/1) ที่ระดับ 1.2170/71 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

โดยค่าเงินยูโรถูกกดดันหลังจากได้มีการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจที่ย่ำแย่เมื่อปลายสัปดาห์ก่อน ได้แก่ ดัชนีผู้ัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและบริการเบื้องต้นปรับตัวลดลงแตะระดับ 47.5 ในเดือน ม.ค. จากระดับ 49.1 ในเดือน ธ.ค. โดยดัชนียังคงอยู่ระดับที่ต่ำกว่า 50 แสดงถึงว่าภาคการผลิตและบริการของยูโรโซนยังคงอยู่ในภาวะหดตัว

ด้านธนาคารยุโรป (ECE) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0% และคงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์ฝากไว้กับ ECB ที่ระดับ -0.5% ไปจนกว่าอัตราเงินเฟ้อจะปรับตัวขึ้นสู่เป้าหมาย ซึ่งระบุให้อยู่ใกล้ แต่ไม่เกิน  2%

นอกจากนั้นยังมีมติคงวงเงินซื้อพันธบัตรที่ระดับ 1.85 ล้านล้านยูโร โดยจะซื้อพันธบัตรจนถึงเดือน มี.ค. 2565 หรือจนกว่าจะมีการพิจารณาว่าโควิด-19 ได้ผ่านพ้นไปแล้ว และก่อนปิดตลาด ค่าเงินยูโรปรับตัวอ่อนค่าลงเล็กน้อยหลังจากสถาบัน IFO เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจเดือน ม.ค. ของเยอรมนีลดลงสู่ระดับ 90.1 แย่กว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 91.8

ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.2047-1.2183 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.2154/57 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (25/1 ที่ระดับ 103.80/81 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าลงเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (22/1) ที่ระดับ 103.77/78 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ญี่ปุ่นได้มีการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) พื้นฐานเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ปรับตัวลดลงอยู่ที่รดับ -1.2% ซึ่งต่ำที่สุดในรอบ 10 ปี นับตั้งแต่เดือน เม.ย. 53 และลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน

ซึ่งจากตัวเลขดังกล่าว ส่งผลกระทบโดยตรงกับการทำงานของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) และมีแนวโน้มที่ทาง BOJ จะเพิ่มนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในอนาคต เนื่องจาก BOJ มีเป้าหมายสำคัญคือการผลักดันให้อัตราเงินเฟ้อของญี่ปุ่นเข้าใกล้ระดับเป้าหมายที่กำหนดไว้ที่ 2%

ด้านนายมานานุ ซากาอิ รองหัวหน้าคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นได้ออกมาปฏิเสธข่าวลือที่ว่า ญี่ปุ่นจะยกเลิกการแข่งขันกีฬาโตเกียวโอลิมปิกที่เลื่อนมาแล้ว 1 ปี ในขณะที่นายโยชิฮิเดะ ซูงะ  นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นได้กล่าวว่า กำลังพิจารณามาตรการที่เฉพาะเจาะจงในการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัส เพื่อทำให้การแข่งขันเป็นไปได้อย่างปลอดภัย

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 103.67-103.89 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 103.75/76 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ อัตราการว่างงานของอังกฤษ เดือน พ.ย. (26/1), ผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานในอังกฤษ เดือน พ.ย. (26/1), รายงานการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (26/1), รายงานความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐ เดือน ม.ค. (26/1), ยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทนสหรัฐ เดือน ธ.ค. (27/1),

ผลประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (28/1), ยอดค้าปลีกญี่ปุ่น เดือน ธ.ค. (28/1), GDP ไตรมาส 4 สหรัฐ (28/1), ยอดขายบ้นใหม่เดือ ธ.ค. (28/1), ดุลการค้าเดือน ธ.ค. ของไทย (29/1), ไตรมาส 4 เยอรมนี (29/1), อัตราการว่างงานเยอรมนีเดือน ม.ค. (29/1)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ 0.4/0.5 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ 3.6/4.4 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ