ดัชนีเชื่อมั่นนักลงทุนยังร้อนแรง “สภาตลาดทุน” มั่นใจหุ้นไทยขาขึ้น สิ้นปียืนเหนือ 1,600 จุด

ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน 3 เดือนข้างหน้า(เม.ย.64) “ยังร้อนแรง” ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 “สภาธุรกิจตลาดทุนไทย” มั่นใจหุ้นไทยขาขึ้น สิ้นปียืน 1,600 จุดได้ รับแรงหนุน “เงินทุนต่างชาติ-วัคซีน-กำไร บจ.ฟื้นตัวแรง” ด้าน “สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย” คาด กนง.คงดอกเบี้ย 0.5% ยาวไปจนถึงสิ้นปี’64 เผยปีนี้มูลค่าการออกหุ้นกู้รวม 7.3 แสนล้านบาท จับตาเดือน มี.ค.64 ครบดีลแสนล้านบาท

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย(FETCO) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า(เม.ย.64) ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.5% จากเดือนก่อน มาอยู่ที่ 132.55 จุด ยังคงอยู่ในเกณฑ์ “ร้อนแรง” ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 โดยปีนี้มี 3 ปัจจัยหลักที่สนับสนุนตลาดหุ้นไทย ประกอบด้วย

1.นักลงทุนคาดหวังการไหลเข้าของเงินทุนต่างชาติ (ฟันด์โฟลว์) เนื่องด้วยปีที่แล้วตลาดหุ้นไทยเป็นตลาด Underperform มีโอกาสเงินทุนจะเลือกเข้ามา จากจุดขายสำคัญคือประเภทหุ้นในตลาดหุ้นไทยเป็นหุ้นที่เกี่ยวข้องกับวัฏจักรเศรษฐกิจค่อนข้างมาก แต่ทั้งนี้คาดว่าเงินจะไหลเข้ามาในช่วงครึ่งปีหลังมากกว่าครึ่งปีแรก ซึ่งจะไหลเข้ามายาวไปจนถึงปีหน้าเพราะประเทศไทยยังมีสตอรี่ที่ดีจากเรื่องการฟื้นตัวธุรกรรมท่องเที่ยวในปี 2565

2.การคลี่คลายการระบาดโควิด-19 โดยมีข่าวดีเรื่องวัคซีนที่ทยอยออกมา และ 3.การดีดตัวแรงของผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนไทย (บจ.) จากฐานต่ำปีที่แล้ว ซึ่งคาดว่าปีนี้กำไรบริษัทจดทะเบียนจะเติบโตเฉลี่ย 40% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน

“สอดคล้องกับไอเอ็มเอฟปรับเพิ่มคาดการณ์การขยายตัวเศรษฐกิจโลกในปี 64 สู่ระดับ 5.5% สูงกว่าที่คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่าจะขยายตัว 5.2% และคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัว 4.2% ในปี 65 ซึ่งเป็นทิศทางบวก จะทำให้หุ้นที่เกี่ยวข้องกับวัฏจักรเศรษฐกิจได้ประโยชน์ แม้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยจะถูกปรับลดจีดีพีลงเหลือ 2% กว่าๆ เนื่องจากยังถูกผลกระทบด้านท่องเที่ยว ซึ่งเป็นภาพการฟื้นตัวช้าลง” นายไพบูลย์กล่าว

Advertisment

ส่วนปัจจัยเสี่ยงกดดันตลาดหุ้นไทย ถ้ากรณีวัคซีนได้ผลไม่ดีเท่าที่คาด หรือดำเนินการฉีดได้ล่าช้า หรือใช้ได้น้อยไม่ตรงเป้า หรือเกิดการระบาดรอบ 3 ที่รุนแรงกว่าการระบาดรอบ 2 ในประเทศ คงจะลดความมั่นใจของนักลงทุนได้ในอนาคต

ทั้งนี้ตลาดหุ้นไทยในเดือนแรกปีนี้ (ม.ค.64) ถือว่าปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.2% จากเดือนก่อนหน้า(MTD) ในขณะปีที่แล้วทั้งปีติดลบไป 8% ซึ่งสิ่งที่น่าสนใจคือตอนนี้กลุ่มตลาดหุ้นเกิดใหม่(MSCI EM) ปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 3% ในขณะที่กลุ่มตลาดหุ้นพัฒนาแล้ว (MSCI DM) ติดลบ 1% ดังนั้นธีมลงทุนในปีนี้นักลงทุนจะให้ความสนใจตลาด EM มากกว่า ฉะนั้นเชื่อว่าตลาดหุ้นไทยยังอยู่ในขาขึ้น และประเมินดัชนีหุ้นไทยสิ้นปีนี้จะกลับไปสู่ระดับ 1,600 จุดได้

นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) กล่าวว่า ดัชนีคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) รอบเดือน ก.พ.64 อยู่ที่ระดับ 39 ลดลงจากครั้งที่แล้ว แต่ยังอยู่ในเกณฑ์ “ไม่เปลี่ยนแปลง” สะท้อนมุมมองของตลาดที่คาดว่าการประชุม กนง.รอบนี้ จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% และยาวไปจนถึงสิ้นปี 64

เนื่องจากเป็นอัตราที่อยู่ในระดับต่ำแล้ว และ มาตรการการคลังที่ออกมาตั้งแต่ช่วงต้นปีจะลดความจำเป็นในการลดดอกเบี้ยนโยบายลง ทั้งนี้ยกเว้นสถานการณ์โควิด-19 มีแนวโน้มแย่ลง ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) อาจพิจารณาปรับลดดอกเบี้ยนโยบายได้

Advertisment

ส่วนคาดการณ์อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล(บอนด์ยีลด์) อายุ 5 ปีและ 10 ปี สิ้นไตรมาส 1 จะยังทรงตัวใกล้เคียงระดับ 0.70% และ 1.29% (ตามลำดับ) แต่ยังมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นได้แต่ดีกรีไม่มาก ปัจจัยหลักมาจากดีมานด์จากนักลงทุนในประเทศที่จะเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลและพันธบัตร ธปท. ในขณะที่ฝั่งซัพพลายของพันธบัตรรัฐบาล ตลาดมีความกังวลว่าจะออกเพิ่มมากขึ้น จากความจำเป็นในการระดมทุนของภาครัฐ ซึ่งจะส่งผลทำให้บอนด์ยีลด์ปรับเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ถ้ามีฟันด์โฟลว์ไหลเข้าอีกก็อาจจะกดให้บอนด์ยีลด์ปรับลดลงได้

ทั้งนี้ปัจจุบัน(สิ้นเดือน ม.ค.64) นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิตราสารหนี้ไทย 535 ล้านบาท จากปีที่แล้วทั้งปีขายสุทธิจำนวน 64,025 ล้านบาท โดยต่างชาติถือครองตราสารหนี้ไทยที่ 852,992 ล้านบาท ลดลงจากสิ้นปี 2563 ที่อยู่ระดับ 857,151 ล้านบาท แต่อายุเฉลี่ยยาวขึ้นเป็น 9.55 ปี

โดยสิ้นปีประเมินการระดมทุนออกหุ้นกู้อยู่ที่ 730,758 ล้านบาท ประมาณ 95% อยู่ในระดับลงทุน หรือราว 70% จัดอยู่ในเรตติ้ง A- ขึ้นไป อย่างไรก็ดีต้องจับตาในเดือน มี.ค.64 ซึ่งจะมีหุ้นกู้ครบกำหนดค่อนข้างมาก หรือราว 1 แสนล้านบาท