ผลกระทบโควิดระลอกใหม่ SMEs ควรรับมืออย่างไร

ธุรกิจ SMEs
แฟ้มภาพ
คอลัมน์ Smart SMEs
TMB Analytics

สถานการณ์การระบาดของโรคโควิดระลอกใหม่ในไทยกระจายเป็นวงกว้างอย่างรวดเร็ว นอกจากจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของผู้คนในประเทศเป็นอย่างมากแล้ว ยังทำให้ธุรกิจ SMEs ได้รับผลกระทบไปด้วย

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการพัฒนาของวัคซีนมีความชัดเจนมากขึ้น มาตรการรัฐในการจำกัดกิจกรรมทางธุรกิจที่เข้มงวดน้อยกว่าการระบาดในระลอกแรก ภาคการส่งออกสินค้าที่ยังขยายตัวได้ตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า รวมไปถึงการที่ภาคธุรกิจมีภูมิต้านทานจากการรับมือวิกฤตครั้งก่อน ทำให้มีผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาพรวมจึงไม่รุนแรงเท่าการระบาดระลอกแรก

หากเจาะลึกไปถึงผลกระทบของ SMEs โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคการค้าปลีกและบริการแล้ว จะพบว่าขนาดของผลกระทบจะต่างกัน ทั้งเชิงกลุ่มธุรกิจ พื้นที่ควบคุม และผลกระทบด้านแรงงาน ซึ่งศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics ประเมินว่าธุรกิจที่จะถูกกระทบหนักสุดเชิงมูลค่า คือ ธุรกิจร้านขายปลีกเสื้อผ้า รายได้ลดลงกว่า 5 พันล้านบาท ลำดับที่ 2 คือ ร้านค้าเบ็ดเตล็ด รายได้ลดลง 4.7 พันล้านบาท สาเหตุที่ธุรกิจร้านค้าปลีกเสื้อผ้า ร้านค้าเบ็ดเตล็ดได้รับผลกระทบมากลำดับต้น ๆ เนื่องจากมีผู้ประกอบการจำนวนมาก และมีการกระจายอยู่ทั่วประเทศ

ส่วนลำดับที่ 3 และ 4 เป็นธุรกิจในภาคบริการที่ได้รับผลต่อเนื่องมาตั้งแต่การระบาดครั้งแรก ได้แก่ ธุรกิจโรงแรม/ที่พัก และธุรกิจร้านอาหาร ซึ่งรายได้ลดลง 3.8 และ 2.7 พันล้านบาท ตามลำดับ

นอกจากธุรกิจ 4 ลำดับแรกที่กล่าวมาแล้ว ความไม่แน่นอนของการแพร่ระบาด และการปรับลดพฤติกรรมการจับจ่ายนอกบ้านของประชาชนยังคงส่งผลกับธุรกิจอื่น ๆ เช่น ธุรกิจขายอาหารสด/แผงลอย ที่จะได้รับผลกระทบ 1.7 พันล้านบาท รองลงมา คือ ธุรกิจขายปลีกเฟอร์นิเจอร์ซึ่งได้รับผลกระทบ 1.6 พันล้านบาท ธุรกิจร้านนวด/สปาได้รับผลกระทบ 1.4 พันล้านบาท และร้านขายปลีกเครื่องใช้ไฟฟ้า บริษัททัวร์ สถานบันเทิงและกีฬา ได้รับผลกระทบ 1.1, 1.0 และ 0.6 พันล้านบาทตามลำดับอีกด้วย

จากผลกระทบต่อ SMEs ที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น ซึ่งครอบคลุมหลายภาคธุรกิจ ทั้งภาคการค้าและบริการ ทาง TMB Analytics จึงได้สรุปข้อแนะนำ 3 แนวทางให้กับ SMEs ทุกท่านเพื่อให้พวกเราทุกคนก้าวข้ามผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน ดังนี้

Advertisment

แนวทางที่ 1 ประเมินข้อมูลรอบด้าน : ในช่วงฟื้นฟูเศรษฐกิจ ตลาดยังไม่ฟื้น รัฐบาลได้ออกมาตรการดูแลเยียวยาทั้งภาคธุรกิจและประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นมาตรการเราชนะ หรือมาตรการคนละครึ่ง การเลื่อนจ่ายภาษี ลดค่าธรรมเนียมต่าง ๆ นอกจากนี้ ยังมีมาตรการของทางฝั่งสถาบันการเงินในการช่วยลูกหนี้ ทั้งการลดดอกเบี้ย พักหนี้ พักชำระหนี้ รวมไปถึงการสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ

ถ้า SMEs มีความเข้าใจถึงรายละเอียดกฎเกณฑ์ของมาตรการความช่วยเหลือหรือสนับสนุนธุรกิจเหล่านี้ จะทำให้ธุรกิจสามารถเข้าถึงความช่วยเหลือหรือผลประโยชน์ของมาตรการรัฐที่ส่งผ่านมา หรือนำมาประเมินวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อขยายผลในการทำตลาดหรือเจาะกลุ่มลูกค้าได้ดีมากขึ้น

Advertisment

แนวทางที่ 2 เพิ่มความพร้อมด้านสุขอนามัยและเข้าใจผู้บริโภค : จากการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมของผู้บริโภคในยุค new normal ที่ต้องลดกิจกรรมที่สัมผัสผู้คนโดยตรง เป็นสิ่งจำเป็นที่ SMEs ต้องปรับตัวหรือวิธีการในการให้บริการหรือการผลิตสินค้าที่มีความปลอดภัยได้มาตรฐาน และตรงกับความต้องการของผู้บริโภคที่ต้องการสุขอนามัย นอกจากนี้ ยังต้องเตรียมความพร้อมของสถานที่ให้สะอาดและถูกสุขอนามัย เหล่านี้เป็นสิ่งที่สำคัญที่ต้องทำเพื่อประกาศว่าธุรกิจของเรามีความพร้อมในการให้บริการและใส่ใจผู้บริโภค

แนวทางที่ 3 รักษาตลาดลูกค้าเดิมเสริมลูกค้าใหม่ ในช่วงที่กำลังซื้อที่มีอยู่อย่างจำกัดท่ามกลางการแข่งขันสูงที่มีอยู่ตลอดเวลา การให้ข้อมูลและรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้าที่เคยมาใช้บริการกับเรามีความสำคัญเทียบเท่ากับการหาลูกค้าใหม่ สำหรับลูกค้าเดิมนั้น การให้ข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์จากมาตรการของรัฐ และสิทธิพิเศษเพิ่มเติมจากบริการของเราเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ทันที เช่น การทำ CRM (customer relationship management) ผ่านทาง LINE Official Account ที่จะช่วยให้สามารถเข้าถึงฐานลูกค้าดั้งเดิมได้อย่างดี

นอกจากการรักษาฐานลูกค้าเดิมแล้ว การเตรียมความพร้อมเพื่อหาลูกค้าใหม่ เช่น 1.การใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ ไม่ว่าจะเพื่อเพิ่มช่องทางจำหน่ายสินค้า เพื่อการดีลิเวอรี่สินค้าถึงบ้าน หรือเพื่อให้บริการผ่านช่องทางออนไลน์

และ 2.การทำ SEO (search engine optimization) โดยเพิ่มโพสต์การรีวิว ไม่ว่าจะเป็นหน้าร้านบน Google Business หรือเพจ Facebook และ Instagram จะเป็นการสร้าง engagement และเพิ่มโอกาสในการทำให้ธุรกิจของเราปรากฏในการค้นหาออนไลน์อีกด้วย

โดยสรุป ถึงแม้การระบาดของโควิดระลอกใหม่จะกระทบเศรษฐกิจไม่รุนแรงเท่าการระบาดระลอกแรก แต่ในปัจจุบัน SMEs มีฐานะการเงินที่เปราะบางอยู่เดิม ทำให้ความสามารถในการรองรับแรงกระแทกทางเศรษฐกิจน้อยลง ซึ่งถ้าหากไม่ระมัดระวังไม่เตรียมตัวอาจทำให้ผลกระทบรุนแรงขึ้นได้

ดังนั้นหากธุรกิจปรับตัวใช้ 3 แนวทางดังกล่าว จะช่วยให้ธุรกิจรักษาสภาพคล่องประคองการเงินอยู่ต่อ รักษาตลาดไม่ให้หายไป รายได้ธุรกิจยังมีอยู่ และรักษาศักยภาพธุรกิจให้ก้าวเดินฝ่าวิกฤตครั้งนี้ไปได้