สรรพสามิต ปัดเยียวยาผู้ประกอบการ “คราฟท์เบียร์”

ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก สมาคมคราฟท์เบียร์

นายณัฐกร อุเทนสุต ผู้อำนวยการสำนักแผนภาษี รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษา ด้านพัฒนาระบบควบคุมทางสรรพสามิต ในฐานะโฆษกกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า ตามที่สมาคมคราฟท์เบียร์แห่งประเทศไทยจัดกิจกรรมรวมตัวที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เพื่อเรียกร้องให้มีมาตรการเพื่อบรรเทาและเยียวยาผู้ประกอบการ ซึ่งมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกรมสรรพสามิต2 ประเด็น ได้แก่ ขอให้ผ่อนปรนการบังคับใช้กฎหมาย ห้ามเปลี่ยนแปลงบรรจุภัณฑ์ โดยอนุญาตให้ร้านค้าสามารถจำหน่ายเบียร์สดในบรรจุภัณฑ์ขนาดเล็ก เพื่อให้ลูกค้าสามารถนำกลับไปบริโภคที่บ้าน

และขอให้ผู้นำเข้าสามารถแบ่งชำระภาษีสรรพสามิตเป็นงวดๆ ให้แก่ผู้ประกอบการคราฟท์เบียร์ เพื่อบรรเทาปัญหาสภาพคล่องทางการเงินนั้น

กรมสรรพสามิตขอชี้แจงว่า ตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560 มาตรา 157 บัญญัติว่า ห้ามมิให้ผู้ใดเปลี่ยนแปลงภาชนะสุราเพื่อการค้า เว้นแต่เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตให้ผลิตสุรา หรือเป็นผู้ที่ได้รับใบอนุญาตขายสุราประเภทที่ 2 เฉพาะกรณีผู้ซื้อได้ร้องขอให้เปลี่ยนแปลงภาชนะบรรจุสุราเพื่อดื่มในขณะนั้น

“วัตถุประสงค์ของบทบัญญัติมาตรานี้เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคให้สามารถบริโภคสินค้าที่ได้มาตรฐานปราศจากการปนเปื้อน ซึ่งถ้าหากให้ร้านค้าสามารถเปลี่ยนแปลงภาชนะบรรจุได้อย่างอิสระนอกโรงอุตสาหกรรมซึ่งอาจมิได้มีการควบคุม ตรวจสอบคุณภาพระหว่างการเปลี่ยนแปลงภาชนะเพื่อจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภค อาจทำให้เบียร์สดดังกล่าวเกิดปัญหาการปนเปื้อนรวมถึงคุณภาพของเบียร์สดอาจจะเปลี่ยนแปลงไประหว่างการเปลี่ยนแปลงภาชนะ ดังนั้นการอนุญาตให้ร้านค้าสามารถเปลี่ยนแปลงภาชนะบรรจุเบียร์สดได้อย่างอิสระอาจจะส่งผลต่อผู้บริโภคให้ได้รับสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน”

ส่วนการขอแบ่งชำระภาษีเป็นงวดๆ นั้น จะเกิดความเสี่ยงในการติดตามเรียกเก็บภาษีในภายหลัง เนื่องจากมีการนำสินค้านำเข้าที่ยังไม่ได้ชำระภาษีออกไปจำหน่าย ส่งผลให้การควบคุม ติดตามสินค้าดังกล่าวให้มาชำระภาษีจะดำเนินการได้ยากโดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าบริโภคต่าง ๆ รวมถึงคราฟท์เบียร์ด้วย

ทั้งนี้ กรมสรรพสามิตได้ให้อำนาจ กรมศุลกากรในการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตจากสินค้านำเข้าแทนกรมสรรพสามิต และตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560 มาตรา 54 (2) บัญญัติว่า “ในกรณีสินค้าที่นำเข้าให้ผู้นำเข้า ยื่นแบบรายการภาษีตามแบบที่อธิบดีกำหนดพร้อมกับชำระภาษีในเวลาที่ออกใบขนสินค้าให้ตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร” ซึ่งเป็นการชำระภาษีในคราวเดียวกับอากรศุลกากร และภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย