ธปท.ชี้เศรษฐกิจไทยปี 63 หดตัว 6.1% ดีกว่าคาดหลังการบริโภค-ส่งออกฟื้น

ธปท.ประเมินตัวเลขเศรษฐกิจสภาพัฒน์ฯ ในไตรมาสที่ 4/63 หดตัว -4.2% และทั้งปีหดตัว -6.1% ถือว่าสูงสุดในรอบ 2 ทศวรรษ รับดีกว่า ธปท.คาด ตามปัจจัยการสะสมสินค้าคงคลัง-การบริโภคขยายตัวอานิสงส์มาตรการภาครัฐ-การส่งออก เผยรอประเมินเศรษฐกิจในรายงานนโยบายเงินเดือน มี.ค.นี้

นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ตามที่มีการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ) โดยเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 ปี 2563 หดตัวที่ 4.2% เทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน ทำให้ทั้งปี 2563 เศรษฐกิจไทยหดตัว 6.1% ซึ่งเป็นการหดตัวสูงสุดในรอบสองทศวรรษ แต่ยังดีกว่าที่ ธปท.ประเมินไว้ทั้งในรายงานนโยบายการเงินเดือน ธ.ค. 63 และในการประชุม กนง. ในเดือน ก.พ.64 ที่ผ่านมา

ชญาวดี ชัยอนันต์

โดยองค์ประกอบที่ดีกว่าคาดมาจากการสะสมสินค้าคงคลังที่เร่งขึ้นมากตามผลผลิตเกษตร และเพื่อรองรับคำสั่งซื้อจากต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น และการบริโภคภาคเอกชนที่สามารถกลับมาขยายตัวได้เล็กน้อย เนื่องจากได้รับแรงสนับสนุนจากมาตรการภาครัฐอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการส่งออกสินค้าที่ปรับดีขึ้นตามเศรษฐกิจคู่ค้าและวัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ฟื้นตัว

อย่างไรก็ตาม คาดว่าในปี 2564 เศรษฐกิจไทยจะกลับมาขยายตัวได้แต่ยังต่ำกว่าระดับศักยภาพ โดยในระยะสั้นเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากสถานการณ์และมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ในช่วงต้นปี แต่คาดว่าผลกระทบโดยรวมจะน้อยกว่าการแพร่ระบาดในระลอกแรก เนื่องจากมาตรการเข้มงวดน้อยกว่าและบังคับใช้เฉพาะพื้นที่

อย่างไรก็ดี สถานการณ์ดังกล่าวอาจเป็นการซ้ำเติมบางภาคเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวได้ช้ากว่ากลุ่มอื่น ทำให้การฟื้นตัวมีความแตกต่าง ผลกระทบต่อบางกลุ่มธุรกิจและแรงงานจึงควรได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม

ในระยะข้างหน้าเศรษฐกิจไทยยังเผชิญความไม่แน่นอนอีกมาก ทั้งการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ และประสิทธิผลและการกระจายวัคซีนป้องกัน COVID-19 ดังนั้น โดยรวมเศรษฐกิจไทยจึงยังต้องการมาตรการที่ตรงจุด เพียงพอ และต่อเนื่องเพื่อประคับประคองการฟื้นตัว ทั้งนี้ ธปท. จะมีการประเมินการขยายตัวเศรษฐกิจและเผยแพร่อีกครั้งในรายงานนโยบายการเงินฉบับเดือนมีนาคม 2564