กสิกรไทยคงจีดีพี 2.6% ชี้โควิดพ่นพิษโรงแรม 40% ออกจากตลาด

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คงประมาณการจีดีพีปี 64 อยู่ที่ 2.6% รับไทยฟื้นตัวช้าตามหลังประเทศอื่น เหตุพึ่งพิงภาคท่องเที่ยวสูง คาดปี’65-66 จะกลับมาช่วงก่อนมีโควิด-19 จับตากลุ่มโรงแรมขนาดกลาง 30-40% ต้องออกจากตลาด เหตุทนพิษดควิดไม่ไหว พร้อมเผชิญโจทย์สภาพคล่องธุรกิจ-ครัวเรือน

นางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยฯ ยังคงคาดการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปี 2564 ไว้ที่ระดับ 2.6% โดยยังมีหลายประเด็นที่ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้าตามหลังประเทศอื่นๆ ในอาเซียน โดยเฉพาะโครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่พึ่งพิงการท่องเที่ยวที่สูงกว่า

ขณะที่ยังต้องติดตามการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตลอดจนการกระจายวัคซีนในประชากรหมู่มากจนสามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ซึ่งจะมีผลต่อการกำหนดแนวทางการเริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยว ซึ่งตอนนี้มองไว้ว่าน่าจะเป็นช่วงปลายปี 2564

“กว่าเศรษฐกิจจะกลับไปที่ระดับก่อนโควิดได้คงใช้เวลาจนถึงปี 2565-2566 เพราะปัญหาจากโควิดในรอบนี้ กระทบภาคธุรกิจจริงตรงๆ ต่างจากปี 2540 ที่มีจุดกำเนิดจากธุรกิจการเงิน อีกทั้งการฟื้นตัวของธุรกิจหลังผ่านพ้นช่วงโควิดคงไม่ทั่วถึง และยังมีโจทย์เชิงโครงสร้างรออยู่อีกทั้งสังคมสูงอายุ ตลาดผู้บริโภคเล็กลง ปัญหาหนี้ครัวเรือน และปัญหาความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ เป็นต้น”

นางสาวเกวลิน หวังพิชญสุข ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า มองกรอบจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในกรณีพื้นฐานไว้ที่ประมาณ 2 ล้านคน โดยภาคท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมที่เปราะบาง โดยเฉพาะกลุ่มโรงแรมในจังหวัดที่พึ่งพิงนักท่องเที่ยวต่างชาติมาก ขณะที่ ปัญหาโควิด-19 ในครั้งนี้คงทำให้โรงแรม 30-40% อาจต้องออกจากตลาดไป เน้นไปที่โรงแรมในกลุ่มราคาประหยัด (Budget) หรือราคาระดับกลาง (Midscale)

นอกจากนี้ ก็ยังห่วงธุรกิจค้าปลีก โดยเฉพาะร้านค้าเอสเอ็มอีในห้างที่มีจำนวน 30% ของเอสเอ็มอีภาคการค้าทั่วประเทศ สำหรับประเด็นเรื่อง Vaccine Passport ยังไม่อาจคาดหวังได้มากในขณะนี้ เพราะยังไม่มีหลักฐานการศึกษาว่าคนที่ฉีดวัคซีนแล้ว จะไม่ติดเชื้อหรือแพร่เชื้ออีกครั้ง ประโยชน์ในเรื่องนี้คงเกิดกับเฉพาะบางประเทศที่รับความเสี่ยงได้มากกว่าจะเป็นประโยชน์ในระดับโลก

นางสาวธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด มองว่า โจทย์เฉพาะหน้าคือ การดูแลปัญหาสภาพคล่องทางธุรกิจและครัวเรือน ดังจะเห็นได้จากตัวเลขจำนวนผู้ขอรับความช่วยเหลือทางการเงินที่คงไต่ระดับขึ้นจากปลายปี 2563 ที่ 27.6% และ 14.7% ของสินเชื่อสำหรับกลุ่มเอสเอ็มอีและลูกค้าบุคคลรายย่อยตามลำดับ แม้ว่าตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) จะยังไม่สะท้อนมาก เพราะยังอยู่ในช่วงมาตรการผ่อนปรนการจัดชั้นหนี้ของธปท.ก็ตาม

สำหรับกลุ่มธุรกิจที่เปราะบางนั้น ภาครัฐคงมีมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติม อาทิ Asset Warehousing เพียงแต่อาจไม่เร็ว เพราะยังต้องรอรายละเอียดในหลายประเด็น ขณะที่หากมีสัญญาณปัญหาการชำระหนี้ แนะนำให้รีบคุยกับสถาบันการเงิน โดยไม่ต้องรอให้เป็นเอ็นพีแอล

“การทำ Asset Warehousing มองว่าอาจจะต้องใช้เวลา เพราะมีผู้ประกอบการที่สนใจ แต่ไม่ใช่ทุกคน เพราะมีบางคนที่ยังคงห่วงความเป็นเจ้าของ ซึ่งเหล่านี้อาจจะต้องใช้วิธีการเข้าให้ความช่วยเหลือผ่านการใช้ซอฟต์โลน และมาตรการช่วยเหลืออาจจะมีการปรับเปลี่ยนอีก”