กองทุน ตปท.ทะลุจุดเดือด หน้าใหม่แห่ลงทุน-ม.ค.ทะลัก 6 หมื่นล้าน

กองทุนต่างประเทศทะลุจุดเดือด
ภาพโดย StockSnap จาก Pixabay

กระแสลงทุน “กองทุนต่างประเทศ” ร้อนแรง หน้าใหม่แห่เปิดพอร์ตล้นทะลัก หลังกองทุนหุ้นเทคฯ ให้ผลตอบแทน 100% เผย ม.ค. 64 เดือนเดียวเงินไหลเข้ากองทุน FIF กว่า 6 หมื่นล้าน บลจ.ขี่กระแสความร้อนแรงแห่เปิดขาย IPO กองทุนใหม่คึกคัก “ทิสโก้” ประเดิมต้นปี 2 กองทุน ระดมเงินได้ 1.2 หมื่นล้าน “มอร์นิ่งสตาร์” เผยปี’63 มีกองทุน ตปท.เปิดขายเกือบ 200 กอง ไทยพาณิชย์เผยลูกค้าเปิดบัญชี EASY INVEST โตกระฉูด

หุ้นเทคจุดกระแสซื้อกองทุน

นายชยนนท์ รักกาญจนันท์ ประธานเจ้าหน้าที่ที่ปรึกษา ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน (บลน.) ฟินโนมีนา จำกัด แพลตฟอร์มซื้อกองทุนรวม เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้กระแสนักลงทุนเริ่มให้ความสนใจเข้ามาซื้อขายกองทุนรวมเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 เนื่องจากกองทุนรวมหุ้นเทคโนโลยีที่ให้ผลตอบแทนสูง ปรับขึ้นทำจุดสูงสุดในรอบ 10 ปี จากความต้องการใช้เทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้นในช่วงโควิด-19

นอกจากนี้ ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสพบว่า กลุ่มนักศึกษาและพนักงานบริษัท โดยเฉพาะกลุ่มที่เพิ่งเริ่มทำงานที่กังวลถึงความไม่แน่นอนในช่วงโควิด-19 นำเงินบางส่วนเข้ามาลงทุนในกองทุนรวมต่างประเทศ

รวมถึงฐานนักลงทุนเดิมที่ซื้อขายกองทุนรวมอยู่แล้ว เห็นเทรนด์การย้ายออกจากกองทุนรวมที่ให้ผลตอบแทนต่ำ เช่น กองทุนรวมตลาดเงิน และกองทุนรวมตราสารหนี้ ฯลฯ เนื่องจากเผชิญภาวะดอกเบี้ยต่ำ ในทางกลับกัน นักลงทุนรายย่อยที่ลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงสูงอย่างบิตคอยน์ (bitcoin) บางส่วนปรับพอร์ตมาลงทุนในกองทุนหุ้นต่างประเทศที่ให้ผลตอบแทนดี และมีความเสี่ยงที่น้อยลง

“กระแสเงินลงทุนที่เข้ามาใน ฟีโนมีนากว่า 70-80% เป็นการลงทุนในกองทุนหุ้นต่างประเทศ โดยเฉพาะกองทุนหุ้นเทคโนโลยี เพราะให้ผลตอบแทนที่ดีมาก ต่างจากช่วง 4-5 ปีก่อนที่การลงทุนกองทุนรวมกระจายตัวไปหลายประเภท เช่น กองทุนตราสารหนี้ หรือกองทุนทองคำ ฯลฯ”

ลูกค้าหน้าใหม่แห่เปิดบัญชี

นายชยนนท์กล่าวอีกว่า จากกระแสการเข้ามาลงทุนในกองทุนต่างประเทศส่งผลให้ยอดการเปิดบัญชีใหม่ของบริษัทเติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ปรากฏการณ์ดังกล่าวหนุนให้ฐานลูกค้าของ FINNOMENA ปรับขึ้นใกล้ระดับ 1 แสนราย หรือปรับขึ้นเกือบเท่าตัวจากฐานลูกค้าเดิม

เช่นเดียวกับ นายติยะชัย ชอง กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) ฟิลลิป จำกัด กล่าวว่า ในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา ยอดการเปิดบัญชีปรับขึ้นเฉลี่ยเดือนละ 20% โดยส่วนหนึ่งเป็นผลสำเร็จของการเสนอขายกองทุนหุ้นต่างประเทศ กองทุนเปิดฟิลลิปเวิลด์อินโนเวชั่น (PWIN) ที่ให้ผลตอบแทนจูงใจนักลงทุนสูงถึง 124% ซึ่งมีการลงทุนในกองทุน ARK Innovation ETF เป็นกองทุนหลัก

ทั้งนี้ กองทุน PWIN ถือเป็นกองทุนแรก ๆ ที่บริษัทเสนอขายให้นักลงทุนรายย่อย โดยกำหนดเงินลงทุนขั้นต่ำไว้ที่ 1,000 บาท ซึ่งได้รับการตอบรับจากลูกค้ารายย่อยเป็นอย่างดี จากเดิมกองทุนฟิลลิปฯเน้นเสนอขายกองทุนส่วนบุคคล (private fund) จับกลุ่มลูกค้ารายใหญ่ที่มีเงินทุน 50 ล้านบาทขึ้นไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการสำรวจพบว่า ขณะนี้ บลจ.และ บลน. มีลูกค้าใหม่เข้ามาเปิดบัญชีเพื่อซื้อกองทุนรวมจำนวนมาก จนทำให้หลาย ๆ บริษัทประสบปัญหาความล่าช้าในการอนุมัติเปิดบัญชี โดยเฉพาะการเปิดบริการแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ จนต้องมีการชี้แจงทางเพจเฟซบุ๊ก ขออภัยถึงความล่าช้าว่าเป็นเพราะมีลูกค้าเข้ามาเปิดบัญชีใหม่จำนวนมาก

ทิสโก้ผลงานร้อนแรง

นายสาห์รัช ชัฏสุวรรณ ผู้อำนวยการสายการตลาด และที่ปรึกษาการลงทุน บลจ.ทิสโก้ เปิดเผยว่า ในปี 2563 ฐานลูกค้าของบริษัทเติบโตขึ้นเท่าตัว จากเดิม่ประมาณ 40,000-50,000 ราย สิ้นปีที่ผ่านมาขึ้นมาเป็น 85,000 ราย และปัจจุบันยังมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง เชื่อว่าเป็นผลจากการเสนอขายกองทุนหุ้นต่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจใหม่ ที่หลาย ๆ กองทุนให้ผลตอบแทนเป็นบวกประมาณ 100%

ทั้งนี้ ในปี 2563 บริษัทเสนอขายกองทุนรวมใหม่รวมทั้งสิ้น 10 กอง มูลค่าไอพีโอประมาณ 9 พันล้านบาท โดยกองทุนรวมต่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับเทรนด์การเปลี่ยนแปลงสำคัญของโลก ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก เช่น กองทุนเปิด ทิสโก้ Next Generation Internet (TNEXTGEN) ที่ระดมทุนได้สูงถึง 5,147 ล้านบาท

สำหรับในปี 2564 ทิสโก้ยังเดินหน้าเสนอขายกองทุนต่างประเทศ เพราะมองว่าตลาดยังมีความต้องการลงทุนสูง โดยเดือน ม.ค. 64 ที่ผ่านมา เดือนเดียวมีเงินไหลเข้ากองทุนรวมต่างประเทศ (FIF) รวมกว่า 6 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 50% จากที่ปี 2563 ที่มีเงินไหลเข้ากองทุนต่างประเทศสุทธิประมาณ 1 แสนล้านบาท

บลจ.ชิงเค้กกองทุน ตปท.

นายสาห์รัชกล่าวว่า กองทุนต่างประเทศที่เสนอขายในช่วงต้นปี 2564 ได้แก่ กองทุนเปิด ทิสโก้ Genomic Revolution (TGENOME) ที่ลงทุนในเทคโนโลยีการแพทย์ สามารถระดมทุนได้สูงถึง 9,147 ล้านบาท และกองทุนเปิด ทิสโก้ ไชน่า คอนซูเมอร์ (TCHCON) ที่มีการลงทุนในตลาดหุ้นจีน ระดมทุนได้ 2,794 ล้านบาท

สำหรับในเดือน มี.ค.นี้ บริษัทเตรียมเสนอขายกองทุน TISCO New Energy Fund (TNEWENGY) เน้นลงทุนธุรกิจพลังงานใหม่ ๆ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม รวมไปถึงธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตได้ดีในอนาคต

ด้านนายสุรเชษฐ์ ศรีวัฒนกุลวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.อินโนเทค กล่าวว่า ในช่วงปลายปี 2563 กองทุนรวมต่างประเทศได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากให้ผลตอบแทนที่ดีระดับ 100% และคาดว่าในปี 2564 กองทุนต่างประเทศยังจะได้รับความสนใจต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ผลตอบแทนอาจไม่สามารถปรับขึ้นร้อนแรงเทียบเท่ากับที่ผ่านมา เนื่องจากราคาปรับขึ้นไปค่อนข้างสูงแล้ว

“แม้เราจะคาดการณ์ผลตอบแทนกองทุน FIF ชะลอความร้อนแรงลงจากปีก่อน แต่หากเทียบกับกองทุนหุ้นประเภทอื่น ผลตอบแทนก็ยังอยู่ในระดับที่ดีมาก” นายสุรเชษฐ์กล่าว

แนวโน้มกระแสเงินลงทุนของกองทุนไทยยังคงไหลออกไปต่างประเทศ นอกจากผลตอบแทนที่จูงใจแล้ว การออกไปลงทุนต่างประเทศยังง่ายขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับในอดีต ทั้งจำนวนกองทุนรวมต่างประเทศที่มีให้เลือกหลากหลายมากขึ้น ความเสี่ยงค่าเงินที่มีการบริหารจัดการได้ดีขึ้น และจำนวนเงินลงทุนขั้นต่ำที่น้อยลง ฯลฯ

ในการนี้ บลจ.อินโนเทคมีแผนออกและเสนอขายกองทุนรวมต่างประเทศในปี 2564 เช่นกัน โดยเลือกธีมลงทุนเทคโนโลยี สังคมผู้สูงอายุ คลาวด์ บล็อกเชน ฯลฯ โดยคาดว่าจะเริ่มขายครั้งแรก (IPO) ภายในไตรมาส 2/64

ต้นปี’64 ขายแล้ว 21 กองทุน

นางสาวชญานี จึงมานนท์ นักวิเคราะห์อาวุโส บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ตลาดกองทุนรวมต่างประเทศ (FIF) ในปี 2563 มีการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ โดยมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวม 8.4 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 27.5% ซึ่งในระยะหลังมีกองทุนหุ้นต่างประเทศเปิดใหม่ค่อนข้างมาก และได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุน โดย ณ สิ้น ม.ค. 64 กองทุน FIF มีมูลค่าทรัพย์สินรวม 8.98 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ ในปี 2563 พบว่า กองทุน FIF เปิดใหม่มีจำนวน 196 กองทุน มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (ณ 31 ธ.ค. 63) อยู่ที่ 1.57 แสนล้านบาท โดยกองทุนที่มีการเปิดใหม่มูลค่ามากที่สุด คือ กลุ่มกองทุนหุ้นจีน 3.6 หมื่นล้านบาท และในเดือน ม.ค. 64 มีกองทุน FIF เปิดใหม่ 21 กองทุน รวมมูลค่าทรัพย์สิน 2.9 หมื่นล้านบาท โดยกองทุนเปิดใหม่ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด คือ กองทุน TGENOME มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 9.2 พันล้านบาท

ทั้งนี้ ในช่วง 1 ปีย้อนหลัง กองทุน FIF ที่ให้ผลตอบแทนสูงสุด ได้แก่ กองทุนเปิด วรรณ โกลบอล อีคอมเมิร์ซ (ONE-GECOM) ให้ผลตอบแทน 120.48% ถัดมา กองทุนเปิดฟิลลิปเวิลด์อินโนเวชั่น (PWIN) 90.70% และกองทุนเปิด วรรณ อัลติเมท โกลบอล โกรว์ธ (ONE-UGG-RA) 88.42%

เตือนศึกษาความเสี่ยง

นางสาวชญานีกล่าวอีกว่า จุดเด่นของกองทุน FIF คือ มีรูปแบบการลงทุนที่หลากหลายทั่วโลก ซึ่งในบางหมวดธุรกิจเป็นกลุ่มที่หุ้นไทยยังขาด เช่น เทคโนโลยี และนวัตกรรม ที่มักจะอยู่ในกลุ่มหุ้นต่างประเทศ ทำให้การลงทุนตามเทรนด์เหล่านี้ยังมีการเติบโต อีกทั้งการลงทุนในต่างประเทศเป็นโอกาสสร้างผลตอบแทนที่มีภาพต่างจากไทย เช่น ประเทศจีน มีแนวโน้มเติบโตได้จากการบริโภคในประเทศ ตามที่ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง สนับสนุนให้ประเทศจีนมีการเติบโตที่ยั่งยืน เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การลงทุนที่ต่างไปจากที่นักลงทุนคุ้นเคยอาจมีความเสี่ยงที่ต่างไป ทั้งในแง่ของอัตราแลกเปลี่ยน ความเสี่ยงเฉพาะของแต่ละตลาดที่กองทุนเข้าไปลงทุน หรือการกระจุกตัวในหมวดธุรกิจ นักลงทุนจึงควรทำความเข้าใจในนโยบายของกองทุนที่จะไปลงทุน รวมถึงเปรียบเทียบค่าธรรมเนียม หากมีการลงทุนไปที่กองทุนหลัก (master fund) เดียวกัน และต้องศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนทุกครั้ง

นักลงทุน “Search for Yield”

ด้านนายวศิน วณิชย์วรนันต์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย จำกัด ในฐานะนายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) กล่าวว่า แม้ว่าในปี 2563 อุตสาหกรรมกองทุนจะได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้มูลค่าสินทรัพย์สุทธิในอุตสาหกรรมหดตัวประมาณ -4.7% แต่กองทุน FIF ยังมีการเติบโตที่สูง ซึ่งกระแสการลงทุนกองทุนต่างประเทศเป็นพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทน หรือ search for yield ที่นำเงินฝากในธนาคารที่ดอกเบี้ยต่ำ ออกไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงที่ให้ผลตอบแทนสูง

“เนื่องจากประเทศไทยไม่มีหุ้นที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งก็เข้าใจได้ที่คนจะหันออกไปลงทุนต่างประเทศ แต่ในช่วงที่ตลาดหุ้นไทยปรับฐานลงไปเยอะ ๆ ก็ถือเป็นโอกาสเข้าลงทุนเพื่อรับผลตอบแทนในระยะยาวที่มากขึ้นเช่นกัน แม้การกระจายการลงทุนไปต่างประเทศจะเป็นสิ่งจำเป็น”

นายวศินกล่าวว่าจากสัญญาณการเปิดกองทุนใหม่ ๆ ออกมาเสนอขายอย่างต่อเนื่อง ไม่เฉพาะกองทุนหุ้นเทคโนโลยีนั้น เนื่องจากนักลงทุนชาวไทยให้การตอบรับดีกับกองทุนที่เปิดตัวใหม่ โดยเฉพาะในช่วงขาย IPO เนื่องจากมองว่าได้ซื้อในราคาต้นทุนที่ถูก ส่งผลให้ บลจ.แต่ละแห่งจึงจัดเตรียมกองทุนใหม่ ๆ ออกมาเสนอขายอย่างต่อเนื่อง

ปี 2564 กอง FIF ยังคงร้อนแรง ซึ่ง บลจ.กสิกรฯให้น้ำหนักกับ 3 ธีมการลงทุนหลัก ได้แก่ ธีมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการฉีดวัคซีนโควิด-19 โดยเฉพาะธุรกิจในเศรษฐกิจจริงจะปรับขึ้นได้ดี จากปี 2563 ที่หุ้นเทคโนโลยีปรับขึ้นได้ดีจากอานิสงส์การใช้เทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้น, ธีมการลงทุน 2 ประเทศขั้วมหาอำนาจอย่างสหรัฐและจีน และธีมการลงทุนที่สามารถสู้กับเงินเฟ้อได้

SCBS ลูกค้าใหม่วันละ 3 พัน

ดร.ฉัตริน ลักษณบุญส่ง กรรมการผู้จัดการ สายงาน Data Analytics and Digital Business Group บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ไทยพาณิชย์ (SCBS) เปิดเผยว่า ช่วงปี 2563 มาจนถึงต้นปี 2564 พบว่าฐานลูกค้าเข้ามาลงทุนผ่านแอปพลิเคชั่น EASY INVEST ของ SCBS เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว จากประมาณ 2 แสนบัญชี เพิ่มเป็นกว่า 4 แสนบัญชี ซึ่งการระบาดของโควิด-19 เป็นตัวเร่งสำคัญ ทำให้คนใช้งานช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้นก้าวกระโดด ขณะเดียวกันการลงทุนต่างประเทศที่ให้ผลตอบแทนที่ดี ขณะที่ผลตอบแทนเงินฝากอยู่ระดับต่ำ

“ความสนใจการลงทุนสูงมาก ช่วงต้นปี’64 มีลูกค้าเข้ามาเปิดบัญชีเฉลี่ยวันละ 3,000-4,000 คน ก็มาจากหลายปัจจัย อย่างหนึ่งคือ การลงทุนต่างประเทศกำลังมา ทำให้คนก็พยายามหาวิธีจะลงทุนต่างประเทศ ขณะที่ บลจ.ก็หันมาออกกองทุนต่างประเทศกันมาก ซึ่งแอปของเราสามารถลงทุนได้หมด ทั้งการลงทุนในหุ้น หุ้นกู้ และกองทุนรวม” ดร.ฉัตรินกล่าว

โดยตั้งแต่ปีที่ผ่านมา นักลงทุนที่เข้ามาลงทุนผ่าน EASY INVEST ส่วนใหญ่จะเป็นคนรุ่นใหม่ช่วงอายุ 25-35 ปี สัดส่วนถึงราว 40-50% ของลูกค้าทั้งหมด ซึ่งพบว่าเป็นการลงทุนในกองทุนต่างประเทศกันค่อนข้างมาก สัดส่วนราว 60% โดยกองทุนเทคโนโลยีในสหรัฐและจีนได้รับความนิยมมาก เนื่องจากให้ผลตอบแทนที่ดี

โดยปีนี้ตั้งเป้าฐานลูกค้า EASY INVEST เพิ่มเป็น 1 ล้านบัญชี เพราะช่วงเดือนกว่า ๆ ที่ผ่านมาก็มีลูกค้าใหม่ราว 7 หมื่นบัญชี

“ทีเอ็มบี” ตั้งเป้ารักษาแชมป์ FIF

นายอดิศร เสริมชัยวงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ธนชาต จำกัด และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ทหารไทย จำกัด กล่าวยอมรับว่า ปัญหาการปิดกองทุนรวมตราสารหนี้ 4 กองทุนของ TMBAM ในช่วงต้นปี 2563 ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนเป็นอย่างมาก แต่จากกระแสการเข้ามาลงทุนในกองทุนรวมต่างประเทศในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 ส่งผลให้บริษัทในฐานะผู้นำในตลาดกองทุนรวมต่างประเทศ กลับมาได้รับความสนใจและความเชื่อมั่นจากนักลงทุนอีกครั้ง โดยกองทุนรวมต่างประเทศที่เปิดตัวในเดือน มิ.ย. 63 ได้รับการตอบรับจากนักลงทุนเป็นอย่างดี โดย ณ สิ้นปี 2563 กองทุน FIF ของบริษัทมีเงินไหลเข้าประมาณ 4 หมื่นล้านบาท หรือกินส่วนแบ่งเกือบครึ่งหนึ่งของกระแสเงินไหลเข้ากองทุน FIF ทั้งอุตสาหกรรมที่ประมาณ 1 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ บริษัทมีส่วนแบ่งตลาดกองทุน FIF เป็นอันดับ 1 ที่ 23% โดยภายหลังการควบรวมระหว่างทีเอ็มบี กับธนชาต บริษัทยังตั้งเป้ารักษาผู้นำตลาดกองทุนรวมต่างประเทศ