สรรพากร หาช่องออกกฎหมายรีดภาษีนิติบุคคลต่างชาติ

สรรพากร

สรรพากร เผยแนวคิดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล – VAT บริษัทต่างชาติเข้ามาหารายได้ในไทย เดินหน้าหารือสถานทูตหอการค้าต่างประเทศ เตรียมความพร้อมเก็บภาษีอีเซอร์วิส 1 ..นี้

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า แนวคิดเรื่องการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) และภาษีเงินได้นิติบุคคลบริษัทต่างชาติ ที่เข้ามาหารายได้ในประเทศ แต่ไม่ได้เข้ามาตั้งสำนักงานหรือออฟฟิตในไทยนั้น ยังติดเงื่อนไขของการเป็นประเทศสมาชิกสนธิสัญญาภาษีซ้อน  ซึ่งระบุให้เสียภาษีให้เพียงประเทศเดียว ที่นิติบุคคลนั้นใช้ตั้งเป็นออฟฟิตหรือสำนักงาน

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเทคโนโลยีทำให้เกิดการทำธุรกิจแบบข้ามพรมแดนได้โดยไม่ต้องเข้าไปตั้งสำนักงานในประเทศนั้นๆ ซึ่งประเด็นดังกล่าวทำให้หลายประเทศอยู่ระหว่างการหาแนวทางออกในเรื่องดังกล่าวร่วมกัน  รวมถึงไทยด้วย โดยมีองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organization for Economic Cooperation and Development ) หรือ OECD เป็นคนกลาง

แม้ที่ผ่านมามีบางประเทศออกกฎหมายดิจิทัลเซอร์วิส เพื่อจัดเก็บภาษีจากยอดขายของนิติบุคคลต่างชาติ ก็ตาม แต่ในทางปฏิบัติยังไม่สามารถทำได้ เพราะมีประเด็นบางประเทศใช้มาตรการอื่นมากดดันเพื่อไม่ให้บังคับใช้กฎหมายดังกล่าวได้

ส่วนความคืบหน้า การบังคับใช้กฎหมายอีเซอร์วิส ซึ่งจะมีผลบังคับใช้วันที่ 1 ..64  ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการออกกฎหมายลูก ระดับกฎกระทรวงและประกาศอธิบดี เพื่อวางแนวทางปฏิบัติ อาทิ การออกหมายเรียกทางอิเล็กทรอนิกส์, รายละเอียดการจดทะเบียนและการชำระภาษี เป็นต้น ซึ่งล่าสุดกรมฯ ได้เชิญผู้ประกอบการ อาทิ Facebook ,  Apple, Line มาหารือเพื่อวางแนวทางปฏิบัติร่วมกัน และหลังจากนั้นจะมีการพูดคุยกับสถานฑูต และหอการค้าต่างประเทศเพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันอีกครั้ง

ส่วนกรณีความกังวลว่าผู้ประกอบการจะผลักภาระไปให้ผู้บริโภคนั้น มองว่าขึ้นอยู่กับธุรกิจและการแข่งขันในตลาดซึ่งกรมฯไม่สามารถเข้าไปบังคับได้ พร้อมยืนยันกฎหมายฉบับนี้มีขึ้นเพื่อสร้างความเป็นธรรมในการเสียภาษี ระหว่างผู้ประกอบการไทยกับผู้ประกอบจากการต่างประเทศ

ทั้งนี้ กฎหมายดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ในผู้ประกอบการที่ให้บริการอีเซอร์วิสจากต่างประเทศ ได้แก่ การให้บริการดาวน์โหลด หนัง ภาพยนตร์  เพลง เกม สติกเกอร์ นายหน้า สื่อโฆษณา แพลตฟอร์มต่างประเทศที่ให้บริการในประเทศไทย เช่น   Apple Google Facebook Netflix Line Youtube Tiktok และมีรายได้จากการให้บริการเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี โดยจะต้องจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการภาษีมูลค่าเพิ่ม มีหน้าที่ยื่นแบบและนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม ให้กับกรมสรรพากรเช่นเดียวกับผู้ประกอบการในประเทศ โดยกรมคาดว่าจากกฎหมายฉบับนี้จะจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ได้เพิ่มขึ้นปีละ 5,000 ล้านบาท