ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า แรงหนุนจากตลาดพันธบัตรรัฐบาล

เงินดอลลาร์

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า แรงหนุนจากตลาดพันธบัตรรัฐบาล ขณะที่ตลาดรอฟังถ้อยแถลงประธานเฟด ส่วนค่าเงินบาทอ่อนค่าตามสกุลเงินในภูมิภาค ก่อนจะปิดตลาดที่ระดับ 30.34/35 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 4 มีนาคม 2564 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (4/3) ที่ระดับ 30.35/37 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดในวันพุธ (3/3) ที่ระดับ 30.30/32 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

โดยค่าเงินบาทเปิดตลาดอ่อนค่าลงตามสกุลเงินส่วนใหญ่ในภูมิภาค ขณะที่ดอลลาร์สหรัฐได้รับแรงหนุนจากการคาดการณ์การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ และแนวโน้มการปรับขึ้นของอัตราเงินเฟ้อสหรัฐ

เมื่อคืนวันพุธ ธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟดเปิดเผยรายงาน Beige Book ฉบับล่าสุดว่า โดยระบุว่า “กิจกรรมทางเศรษฐกิจขยายตัวเล็กน้อยตั้งแต่เดือน ม.ค.ถึงกลางเดือน ก.พ. ในพื้นที่ภูมิภาคส่วนใหญ่จาก 12 เขตของเฟด ธุรกิจส่วนใหญ่ยังคงมีมุมมองเชิงบวกเกี่ยวกับช่วง 6-12 เดือนข้างหน้า ขณะที่วัคซีนป้องกันโควิด-19 ถูกกระจายออกไปในวงกว้างมากขึ้น”

แต่ตลาดแรงงานไม่ได้ขยายตัวเพิ่มขึ้นมากเท่ากับที่หวังไว้ โดยยังคงมีผู้ว่างงานราว 10 ล้านคน จากช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัสในปีที่แล้ว โดยเฟดจะจัดการประชุมนโยบายครั้งต่อไปในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า ท่ามกลางการคาดการณ์มากขึ้นว่า ความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดจะลดน้อยลง และเศรษฐกิจจะเริ่มขยายตัวแข็งแกร่ง

ซึ่งปัจจัยหนุนแนวโน้มเศรษฐกิจดังกล่าวที่เกิดขึ้นหลังจากโครงการขยายการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 และความเป็นไปได้ที่จะมีมาตรการรายจ่ายของรัฐบาลกลางวงเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์

ทำให้ตลาดคาดการณ์ว่า เฟดอาจจำเป็นต้องปรับลดมาตรการหนุนเศรษฐกิจเร็วกว่าที่คาดไว้ ซึ่งเจ้าหน้าที่เฟดปฏิเสธแนวคิดดังกล่าว โดยตั้งข้อสังเกตว่ายังคงมีปัญหาอีกมากมายนับตั้งแต่ภาวะว่างงานสูงไปจนถึงอัตราเงินเฟ้อต่ำ ซึ่งจะต้องคลี่คลายลงก่อนที่เฟดจะเริ่มพิจารณาการเปลี่ยนแปลงนโยบายทางการเงิน

ทั้งนี้ นักลงทุนรอฟังถ้อยแถลงของประธานเฟด นายเจอโรม พาวเวลล์ ในวันนี้ เพื่อดูว่าเฟดกังวลกับการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐในช่วงนี้หรือไม่ ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 30.33-30.38 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 30.34/35 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (4/3) ที่ระดับ 1.2051/52 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดในวันพุธ (3/3) ที่ระดับ 1.2084/86 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

โดยเมื่อวานนี้ ทางนายฟาบิโอ พาเนตตา สมาชิกคณะกรรมการธนาคารกลางยุโรป หรือ อีซีบี กล่าวว่า อีซีบีควรขยายโครงการซื้อพันธบัตร หรือเพิ่มโควตา ที่จัดสรรไว้ให้แก่พวกเขาหากจำเป็น เพื่อทำให้ผลตตอบแทนพันธบัตรลดลงหลังจากที่ต้นทุนการกู้ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องหลายสัปดาห์

โดยผลตอบแทนพันธบัตรปรับตัวขึ้นตั้งแต่ต้นปี ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับพันธบัตรสหรัฐ และผู้กำหนดนโยบายหลายคนของอีซีบีเรียกร้องให้เพิ่มการซื้อพันธบัตรผ่านโครงการ Pandemic Emergency Purchase Programme หรือ PEPP เพื่อทำให้ต้นทุนการกู้อยู่ในระดับต่ำ

โดยนายฟาบิโอยังย้ำว่าต้องป้องกันการปรับตัวขึ้นของเส้นอัตราผลตอบแทนที่มีการถ่วงน้ำหนักด้วยจีดีพีเป็นสิ่งที่ไม่ถึงประสงค์ และไม่ควรลังเลที่จะเพิ่มปริมาณการซื้อพันธบัตร และใช้งบทั้งหมดในโครงการ PEPP หรือมากกว่านั้นหากจำเป็น

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.2042-1.2066 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.2035/36 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (4/3) ที่ระดับ 107.02/05 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดในวันพุธ (3/3) ที่ระดับ 106.87/90 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินเยนอ่อนค่าลงจากการแข็งค่าของค่าเงินดอลลาร์จากอตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีที่ปรับเพิ่มขึ้นแตะระดับ 1.49% เมื่อคืนนี้

ทั้งนี้ นักลงทุนรอดูว่า นายพาวเวลจะแสดงความกังวลต่อแรงเทขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐในช่วงที่ผ่านมาหรือไม่ และนักลงทุนจับตาดูว่า นายพาวเวลจะปรับเปลี่ยนการประเมินภาวะเศรษฐกิจหรือไม่ ก่อนที่เฟดจะจัดการประชุมกำหนดนโยบายครั้งถัดไปในวันที่ 16-17 มีนาคมนี้

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 106.95-107.29 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 107.28/30 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของไทย เดือนกุมภาพันธ์ (4/3), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการก่อสร้างของสหราชอาณาจักรเดือนกุมภาพันธ์ (4/3),จำนวนคนที่ยื่นขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกของสหรัฐ (4/3), ผลิตภาพนอกภาคการเกษตรของสหรัฐ ไตรมาส 4 (4/3),

ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทยเดือนกุมภาพันธ์ (5/3), ยอดคำสั่งซื้อสินค้าจากโรงงานของเยอรมนี เดือนมกราคม (5/3), การจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐ เดือนกุมภาพันธ์ (5/3), อัตราการว่างงานของสหรัฐ เดือนกุมภาพันธ์ (5/3)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -0.1/+0.1 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ +2.5/+3.00 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ