3 แบงก์ทุ่มลงทุน “เทคโนโลยี” ต่อยอดบริการการเงิน-ปั้นรายได้ค่าฟี

แบงก์เดินหน้าลงทุนเทคโนโลยีเสริมแกร่งธุรกิจ “ไทยพาณิชย์” ทุ่ม 2 หมื่นล้านบาท หนุนบริษัทลูก “SCB10X” ควานหาเทคโนโลยีโลกอนาคตต่อยอดธุรกิจการเงิน ลุยลงทุน “บล็อกเชน-IOT-5G” ล่าสุดประกาศร่วมลงทุน Anchorage แพลตฟอร์มรับฝากสกุลเงินดิจิทัล รองรับเทรนด์ลงทุนอนาคต “กสิกรไทย” ควัก 4 พันล้านบาท ต่อจิ๊กซอว์บริการการเงินเชื่อมภูมิภาคในปีนี้ จ่อลงทุนฟินเทคใน “จีน-เวียดนาม-อินโดนีเซีย” เพิ่ม ด้าน “กรุงศรี ฟินโนเวต” ตั้งงบฯลงทุน 500 ล้านบาทปีนี้ ผนึก 8 สตาร์ตอัพด้าน“InsurTech-MarTech” หวังโกยรายได้ค่าฟีทดแทนรายได้ที่หายไป

นายอารักษ์ สุธีวงศ์ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบี เท็นเอกซ์ จำกัด (SCB10X) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บริษัทยังเดินหน้าตามแผนธุรกิจที่ตั้งไว้ในช่วง 3 ปี (2563-2565) ภายใต้เม็ดเงินราว 2 หมื่นล้านบาท มุ่งเน้นลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อโลกการเงินในอนาคต

ซึ่งจะมองหาว่าเทคโนโลยีอะไรที่จะมาสร้างการเติบโตให้ธุรกิจการเงิน เช่น เทคโนโลยี blockchain ซึ่งจะเป็นการสร้าง blockchain application จะเน้นในกลุ่ม financial service และ security ตลอดจนการลงทุนในเทคโนโลยี 5G, internetof things (IOT) และ quantum computing เป็นต้น

อารักษ์ สุธีวงศ์
อารักษ์ สุธีวงศ์

“ภารกิจของเรา คือ มองไปไกล ๆ ในโลกอนาคต มองว่า banking disruption อย่างไร ซึ่งเมื่อเห็นว่าธุรกิจการเงินจะไปอยู่ในบล็อกเชน เราจึงต้องเร่งสร้างและลงทุน โดยปีนี้ถือเป็นปีที่ 2 ของแผนแล้ว ภายในปี 2565 เราน่าจะใช้เงินลงทุนไปได้ราว 80-90% ของ 2 หมื่นล้านบาทที่ตั้งไว้ และสิ่งที่ลงทุนไปก็จะเริ่มออกดอกผล”

ล่าสุด SCB10X ได้ร่วมลงทุนการระดมทุนรอบ series C มูลค่า 80 ล้านเหรียญสหรัฐของ Anchorage แพลตฟอร์มรับฝากสกุลเงินดิจิทัล (cryptocurrency) แก่นักลงทุนสถาบันที่ได้รับอนุญาตแห่งแรกของสหรัฐอเมริกา

Advertisment

ซึ่งจะนำไปสู่ความร่วมมือในการนำเอาองค์ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญและโซลูชั่นระดับโลกของ Anchorage มาใช้ในการพัฒนาและต่อยอดเพื่อให้บริการแก่ลูกค้าของธนาคารไทยพาณิชย์ที่มีความสนใจในสินทรัพย์ดิจิทัล รวมถึงผู้ใช้งานที่มีศักยภาพในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองรับเทรนด์การให้บริการทางการเงินดิจิทัลแห่งโลกอนาคต

ภัทรพงศ์ กัณหสุวรรณ
ภัทรพงศ์ กัณหสุวรรณ

นายภัทรพงศ์ กัณหสุวรรณ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย และประธานกรรมการ บริษัท กสิกร วิชั่น จำกัด (KVision) กล่าวว่า แผนกลยุทธ์ของ KVision ในปี 2564 ยังคงแสวงหาการลงทุนในบริษัทเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับสถาบันการเงิน เพื่อเชื่อมโยงและยกระดับการให้บริการลูกค้าธนาคารกสิกรไทยในประเทศไทย และในระดับภูมิภาค ซึ่งในปี 2564 นี้จะเน้นลงทุน 3 ประเทศหลัก ได้แก่ จีน เวียดนาม และอินโดนีเซีย โดยตั้งงบประมาณการลงทุนไว้ที่ราว 3,000-4,000 ล้านบาท

“การลงทุนในบริษัทเทค พวกกลุ่มเทคโนโลยีการเงิน (financial technology)แต่ละราย จะวงเงินไม่สูงมากเฉลี่ยอยู่ที่ 1 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 30 ล้านบาทต่อราย โดยในปีนี้จะเห็นการลงทุนที่มีวงเงินสูงสุดอยู่ที่ 20 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 600 ล้านบาท”

โดยในเวียดนามจะมีการลงทุนในบริษัทเทคเพิ่มอีก 3 รายในปีนี้ จากก่อนหน้านี้ลงทุนไปแล้ว 2 ราย ทั้งผ่านการถือหุ้นและผ่านกองทุน (Venture Capital Fund) ซึ่งเป็นการลงทุนในเทคโนโลยีเกี่ยวกับระบบการชำระเงิน

Advertisment

ขณะที่ในอินโดนีเซีย ปีนี้จะลงทุนเพิ่มเติมอีก 1 รายจากที่ลงทุนไปแล้ว 2 ราย เป็นเทคโนโลยีเกี่ยวกับทางด้านระบบการชำระเงิน และธุรกิจอาหาร

ส่วนในจีน มีการลงทุนต่อเนื่องผ่านบริษัท กสิกร วิชั่น อินฟอร์เมชั่น เทคโนโลยี จำกัด (K-TECH) ที่จัดตั้งขึ้นในเมืองเสิ่นเจิ้น โดยใช้เม็ดเงินลงทุนกว่า 300 ล้านหยวน หรือราว 1,500 ล้านบาท เป็นศูนย์กลางในการพัฒนาและลงทุนในเทคโนโลยีรูปแบบใหม่ ๆ เพื่อต่อยอดบริการให้กับลูกค้าจีนและไทย

“ที่ผ่านมา ในจีนเราได้พัฒนาแพลตฟอร์มการปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้ารายย่อย ซึ่งได้ดำเนินการปล่อยสินเชื่อไปแล้ว หรือการลงทุนในระบบนิเวศของการบริหารจัดการทางด้านทรัพยากรบุคคล เนื่องจากธุรกิจในจีนที่เป็นธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) สามารถนำไปใช้ในเรื่องการจ่ายเงินเดือนพนักงาน (payroll) หรือการบริหารงานบุคลากร เป็นต้น”

นายแซม ตันสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท กรุงศรี ฟินโนเวต จำกัด กล่าวว่าในปี 2564 บริษัทได้ตั้งงบประมาณลงทุนในเทคสตาร์ตอัพไว้เบื้องต้น 500 ล้านบาท ในเทคสตาร์ตอัพจำนวน 8 ราย เน้นใน 3 กลุ่ม เช่น กลุ่มฟินเทค กลุ่มเทคโนโลยีที่นำมาใช้ในธุรกิจการขายประกัน (InsurTech) และกลุ่มเทคโนโลยีทางด้านการตลาด (MarketingTech หรือ MarTech) ซึ่งเป็นสตาร์ตอัพที่สนับสนุนการเติบโตและสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ของธนาคารกรุงศรีฯในเรื่องของการสร้างระบบนิเวศ

“เรากำลังเจรจากับเทคสตาร์ตอัพ 2 ราย คาดว่าภายในเดือน มี.ค.นี้ น่าจะประกาศความร่วมมือได้ เป็นกลุ่ม InsurTech วงเงินอยู่ที่ราว 100 ล้านบาทและภายในไตรมาส 2 จะเพิ่มอีก 2 รายที่เหลือจะเป็นการระดมทุนเพิ่มเติม เช่น จาก series A ไปสู่ระดับ series B, C เป็นต้น

ทั้งนี้ ปีนี้เราจะเน้นหาเครื่องมือทางด้านเทคโนโลยีที่จะเข้ามาช่วยลดความผิดพลาดของมนุษย์ (human error) และทำงานได้ดีขึ้น

โดยเฉพาะ InsurTech ที่จะมาช่วยให้ขายประกันง่ายขึ้น จะเป็นแพลตฟอร์มที่เชื่อมโยงระหว่างช่องทางการขายให้มีประสิทธิภาพ ทั้งช่องทางพนักงาน สาขา และออนไลน์ ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้ให้แบงก์ ทดแทนรายได้หลายตัวของแบงก์ที่ปรับลดลง”

นายแซมกล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาบริษัทได้ลงทุนในเทคสตาร์ตอัพไปแล้วกว่า 10 ราย และมีบางรายที่เริ่มเข้าใกล้ระดับยูนิคอร์น และภายในปี 2566 คาดว่า FINNOMENA ฟินเทคสตาร์ตอัพ จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้ ซึ่งบริษัทดังกล่าวมีอัตราการเติบโตถึง 25%