เงินบาทขยับอ่อนค่า 30.75 บาทต่อดอลลาร์ จับตาบอนด์ยีลด์-เงินเฟ้อ

ค่าเงินบาท

แบงก์ประเมินเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบอ่อนค่าอยู่ที่ 30.25-30.75 บาทต่อดอลลาร์ จับตาตัวเลขเงินเฟ้อ-ราคาน้ำมัน กระทบต่อบอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯ หลัง 5 มี.ค.เงินบาทแตะอ่อนค่าสุดในรอบ 4 เดือน

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรอบเงินบาทสัปดาห์หน้า (8-12 มี.ค.64) เคลื่อนไหวอ่อนค่าอยู่ในกรอบ 30.25-30.75 บาทต่อดอลลาร์ โดยปัจจัยที่ต้องติดตามสถานการณ์ก่อนการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ซึ่งจะเป็นตัวบ่งบอกผลตอบแทนพันธบัตรสหรัญฯ (บอนด์ยีลด์) ระยะ 10 ปี ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดทิศทางค่าเงิน ซึ่งช่วงที่ผ่านมาค่าเงินค่อนข้างผันผวนและสวิง

นอกจากนี้ ในช่วงวันพุธจะมีการประกาศยอดน้ำมันคงคลังของสหรัฐฯ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้นำไปใช้ค่อนข้างเยอะ อาจเป็นปัจจัยดันราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น และส่งผลกระต่อบอร์ดยีลด์สหรัฐฯ ได้ รวมถึงตัวเลขอัตราเงินเฟ้อในช่วงปลายสัปดาห์

สำหรับกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย (ฟันด์โฟลว์) ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่า ตัวเลขนักลงทุนต่างชาติเข้ามาซื้อหุ้นสุทธิ 6,500 ล้านบาท และตลาดพันธบัตรเข้ามาซื้อสุทธิ 3,000 ล้านบาท

“กรอบเงินบาทกรอบบน 30.75 บาทต่อดอลลาร์ ไม่น่าจะไปไกลกว่านี้ เนื่องจากยังมีปัจจัยการนำเข้าในส่วนของน้ำมันเข้ามา รวมถึงบริษัทญี่ปุ่นกำลังปิดงบประมาณ ทำให้ยังมีฝั่งขาซื้อดอลลาร์ ทำให้บาทคงไม่ได้อ่อนไปมาก”

นางสาวรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการสายงานวางแผนโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สัปดาห์หน้าธนาคารประเมินกรอบเงินบาทคลื่อนไหวอยู่ที่ 30.25-30.65 บาทต่อดอลลาร์ โดยจับตาข้อมูลการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ของสหรัฐฯ และตัวเลขเงินเฟ้อ และการประชุมธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี)

นอกจากนี้ ภาพใหญ่ตลาดส่วนใหญ่ยังคงให้น้ำหนักไปที่ตลาดบอนด์ของสหรัฐฯ ราคาทองคำ และราคาน้ำมัน

“ค่าเงินบาทสัปดาห์ที่ผ่านมาอ่อนลง โดยในวันที่ 5 มี.ค.แตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบเกือบ 4 เดือน ที่ 30.50 บาทต่อดอลลาร์ สำหรับการซื้อขายในตลาด onshore แม้จะมีกระแสเงินทุนไหลเข้าตลาดทุนไทยระหว่างสัปดาห์ แต่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวของสหรัฐฯ ยังคงปรับตัวสูงขึ้นตามการคาดการณ์เงินเฟ้อ หนุนค่าเงินดอลลาร์ และกดดันราคาทองคำ หลังจากประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) สร้างความผิดหวังให้กับนักลงทุนที่คาดว่าเฟดอาจออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อลดแรงขายในตลาดบอนด์ หรืออย่างน้อยแสดงความกังวลเกี่ยวกับบอนด์ยิลด์ที่สูงขึ้นต่อเนื่อง”