“ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” ประเมินมูลค่าตลาดกัญชาไทยมีลุ้นแตะ 7 พันล้านบาท

“ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” ประเมินมูลค่าตลาดกัญชาไทยมีลุ้นแตะ 7 พันล้านบาท หากผลักดันใช้ทางการแพทย์-เชิงพาณิชย์เพิ่มต่อเนื่อง

ดร.ศิวัสน์ เหลืองสมบูรณ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แม้ว่าประเทศไทยถือเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่ได้รับอนุญาตให้ใช้กัญชาอย่างถูกกฎหมายเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ แต่หากดูมูลค่าตลาดกัญชาถูกกฎหมายของไทยยังมีมูลค่าน้อยมาก และส่วนใหญ่ใช้เป็นส่วนผสมในตำรับยาไทย เช่น สารสกัดในมอร์ฟีน เป็นต้น

โดยหากดูมูลค่าตลาดตามรายงานของ The Global Cannabis Report ของ Prohibition Partners ผู้ให้บริการข้อมูลเชิงลึกและที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์ชั้นนำระดับโลก คาดว่ามูลค่าตลาดกัญชาทั่วโลกภายในปี 2567 จะมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 1.03 แสนล้านดอลลาร์ แบ่งเป็น ตลาดกัญชาเพื่อการแพทย์มีสัดส่วนราว 60% ของมูลค่าตลาดกัญชาทั้งหมด และอีก 40% เป็นตลาดกัญชาเพื่อการสันทนาการ
อย่างไรก็ดี ปัจจุบันเริ่มมีบริษัทยักษ์ใหญ่กลุ่มอาหารและเครื่องดื่มของโลกสนใจที่จะใช้สารสกัดจากกัญชาเป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์

สำหรับประเทศไทย แม้จะมีการปลดล็อกการใช้กัญชาอย่างถูกกฎหมาย ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการทดลองเพื่อใช้กับผู้ป่วย โดยหากคำนวณค่าใช้จ่ายโดยเฉพาะค่ายาของผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ในระยะสุดท้ายหรือประคับประคอง มีสัดส่วนประมาณ 60-80% ของค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลของผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายทั้งหมด พบว่าอยู่ที่ประมาณ 6,000-8,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งหากมีการผลักดันให้ใช้กัญชาทางการแพทย์อย่างต่อเนื่อง และหากมีการจำหน่ายในรูปแบบเชิงพาณิชย์ เชื่อว่าตลาดกัญชาเพื่อการแพทย์ของไทยจะมีมูลค่าราว 3,600-7,200 ล้านบาท ซึ่งยังมีขนาดเล็กมาก หรือเป็นสัดส่วนเพียง 0.02-0.04% ของ GDP

นอกจากนี้ กัญชงยังสามารถใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน ทั้งชิ้นส่วนยานยนต์ พลาสติกชีวภาพ โดยเฉพาะการใช้กัญชงเป็นเส้นวัสดุเส้นใยเสริมแรง (Reinforcement) ซึ่งสามารถพัฒนาการเติบโตกับการใช้พลาสติกในรถยนต์ที่คาดว่าในปี 2563-2583 มีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 5% หรือคิดเป็นมูลค่า 2.78 หมื่นล้านดอลลาร์ (ในปี 2583)

“หากมองในเชิงการเพาะปลูกและสามารถนำอะไรบ้าง พบว่า จะมีในเรื่องทางการแพทย์และเส้นใยเสริมแรงในรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งหากเราสามารถปลูกและพัฒนาเป็นสินค้าส่งออกได้ จะเพิ่มมูลค่าได้ และในประเทศเองที่ใช้ในทางการแพทย์ เราก็สามารถลดการนำเข้าตัวยาบางส่วนได้ อย่างไรก็ตาม ตอนนี้เรายังไม่สามารถประเมินได้ว่าความต้องการโลกมีขนาดไหน ประกอบกับการเพาะปลูกยังจำกัดการปลูก และต้องขออนุญาตยังไม่สามารถปลูกได้เสรี ทำให้ต้องรอประเมินอีกครั้ง” ดร.ศิวัสน์กล่าว