ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า หลังตัวเลขเศรษฐกิจอ่อนแอกว่าที่คาดไว้

dollar
REUTERS/Mohamed Azakir

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าเมื่อเทียบเงินสกุลหลัก หลังตัวเลขเศรษฐกิจอ่อนแอกว่าที่คาดไว้ ขณะที่เงินบาททิศทางยังอ่อนค่า ปิดตลาดที่ระดับ 31.30/32 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 1 เมษายน 2564 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (1/4) ที่ระดับ 31.25/27 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (31/3) ที่ระดับ 31.29/30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ เคลื่อนไหวในทิศทางที่อ่อนค่าในช่วงเช้านี้ เนื่องจากตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐ ปรับตัวต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ สถาบันออโตเมติก ดาต้า โพรเซสซิ่ง อิงค์ (ADP) และมูดี้ส์ อนาลิติกส์ ได้เปิดเผยตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชนของสหรัฐ ออกมาอยู่ที่ระดับ 517,000 ตำแหน่ง ในเดือนมีนาคม ซึ่งต่ำกว่าระดับที่คาดการณ์ที่ 525,000 ตำแหน่ง

นอกจากนี้ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐยังได้รับปัจจัยกดดันหลังจากคณะกรรมการกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร (โอเปกพลัส) ได้ทำการปรับลดตัวเลขการคาดการณ์อุปสงค์น้ำมันในปีนี้ลง และราคาน้ำมันยังได้รับแรงกดดันจากความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของมาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป

นอกจากนี้ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐ ได้ออกมาเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับแผนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานมูลค่ากว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ครอบคลุมการใช้จ่ายในระยะเวลา 8 ปี โดยมีเป้าหมายมุ่งเน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐให้ฟื้นตัวในช่วงหลังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และจะมีการปรับขึ้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสู่ระดับ 28% เพื่อเป็นทุนค่าใช้จ่ายในโครงการดังกล่าว

โดยระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 31.20-31.35 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 31.30/32 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้านี้ (1/4) ที่ระดับ 1.1727/31 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (31/3) ที่ระดับ 1.1742/44 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรยังคงเคลื่อนไหวในทิศทางอ่อนค่าเนื่องจากนักลงทุนยังคงกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในกลุ่มประทเศสหภาพยุโรป

อีกทั้งสำนักงานขององค์การอนามัยโลก (WTO) ประจำภูมิภาคยุโรปได้ออกประกาศมาตรการเพิ่มเติมสำหรับประชาชนที่เตรียมเฉลิมฉลองวันหยุดเทศกาลอิสเตอร์ในช่วงปลายสัปดาห์นี้ โดยระบุว่าประชาชนยังคงสามารถเฉลิมฉลองวันหยุดได้ หากดำเนินตามมาตรการป้องกันอย่างเคร่งครัด และจำกัดจำนวนผู้เข้าร่วมงานพิธีกรรมทางศาสนาไม่ให้มากเกินไป

นอกจากนี้สถาบันมาร์กิตได้เปิดเผยตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของสหภาพยุโรป ออกมาอยู่ที่ระดับ 62.5 ซึ่งปรับตัวดีกว่าระดับที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ระดับ 62.4 โดยระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1711-1.1744 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1736/38 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (1/4) ที่ระดับ 110.74/75 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (31/3) ที่ระดับ 110.57/59 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินเยนอ่อนค่าในช่วงเช้าวันนี้ เนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจของญี่ปุ่นปรับตัวดีกว่าที่ระดับคาดการณ์ ซึ่งเป็นปัจจัยหนุนให้นักลงทุนเข้าถือครองสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น

ทั้งนี้สถาบันตังกังแห่งญี่ปุ่นได้ออกมาเปิดเผยตัวเลขดัชนีภาคการผลิตขนาดใหญ่ประจำไตรมาส 1/2564 ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ +5 ดีกว่าที่ระดับคาดการณ์ที่ -1 อีกทั้ง สถาบันมาร์กิตได้เปิดเผยตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมการผลิตของญี่ปุ่นออกมาอยู่ที่ระดับ 52.7 ซึ่งดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ ระดับ 52.1

โดยระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 110.55-110.82 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 110.79/81 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกสหรัฐ (1/4), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อสหรัฐ เดือนมีนาคม (1/4), อัตราว่างงานสหรัฐ เดือนมีนาคม (2/4), รายได้เฉลี่ยรายชั่วโมงสหรัฐ (2/4) และการจ้างงานนอกภาคการเกษตรสหรัฐเดือนมีนาคม (2/4)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap Point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ 0.3/0.45 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ 2.5/3.5 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ