ธอส. เตรียมรับมือผลกระทบโควิด ปี’64 ตั้งสำรองเพิ่ม 7 พันล้านบาท

ภาพประกอบข่าว ธอส. - Facebook Preview

ธอส. เตรียมความพร้อมรองรับผลกระทบโควิด ตั้งสำรองเพิ่ม 7,000 ล้านบาท พร้อมเผยผลการดำเนินงานไตรมาสแรกปี’64 กำไรพุ่ง 3,300 ล้านบาท ปล่อยสินเชื่อใหม่ 46,847 ล้านบาท วางเป้าทั้งปีปล่อยได้ 215,000 ล้านบาท

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ เปิดเผยว่า ในปี 2564 นี้ ธนาคารจะตั้งสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ 6,000-7,000 ล้านบาท เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรองรับผลกระทบจากโควิด-19  โดยที่ผ่านมาธนาคารยังได้ทยอยตั้งสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญสูงถึง 100,502 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนต่อ NPL สูงถึง 183% สะท้อนให้เห็นถึงความมั่นคงและความพร้อมในการรองรับผลกระทบจาก โควิด-19 ในอนาคต

พร้อมกันนี้ ธอส.ถือเป็นสถาบันการเงินของรัฐแห่งแรกที่มีการตั้งสำรองในระดับสูงเกิน 100,000 ล้านบาท  ขณะที่อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) ยังอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 15.60% ซึ่งสูงกว่าอัตราเงินกองทุนขั้นต่ำที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนด ทำให้ สิ้นไตรมาสที่ 1 ธนาคารมีกำไรสุทธิจำนวน 3,300 ล้านบาท

นายฉัตรชัย กล่าวว่า ผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 1 ของปี 2564  จากปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา2019 (COVID-19) ระลอกใหม่ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2563 ต่อเนื่องถึงต้นปี 2564 ส่งผลให้ประชาชนส่วนหนึ่งชะลอการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยในช่วงต้นปี สะท้อนได้จากจำนวนการปล่อยสินเชื่อใหม่ช่วง 3 เดือนแรกของปี 2564 (วันที่ 1 มกราคม–31 มีนาคม 2564) เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สามารถปล่อยได้จำนวน 46,847 ล้านบาท 29,945 บัญชีลดลง 10.79% แต่ก็ไม่ได้กระทบเป้าการปล่อยสินเชื่อใหม่ ที่วางไว้ 215,000 ล้านบาท

สำหรับสินเชื่อที่ปล่อยใหม่ดังกล่าว แบ่งเป็นสินเชื่อปล่อยใหม่สำหรับผู้มีรายได้น้อยและปานกลางวงเงินกู้ไม่เกิน 2 ล้านบาท จำนวน 20,686 ล้านบาท และสำหรับผู้ที่ขอสินเชื่อวงเงินเกิน 2 ล้านบาท จำนวน 26,161 ล้านบาท ส่งผลให้ธนาคารมียอดสินเชื่อคงค้างรวมทั้งสิ้น 1,346,920 ล้านบาท และมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) จำนวน 54,857 ล้านบาท คิดเป็น 4.07% ของยอดสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้นจาก สิ้นปี 2563 ซึ่งมี NPL อยู่ที่ 47,572 ล้านบาท หรือคิดเป็น3.60% ของสินเชื่อรวม

จำนวน NPL ที่เพิ่มขึ้นเกิดขึ้นจากลูกค้าปัจจุบันของธนาคารที่ครบมาตรการช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบจาก COVID-19 ระยะที่ 1 และไม่ต่อมาตรการช่วยเหลือของธนาคารระยะที่ 2 ประกอบกับมีลูกค้าบางส่วนที่ยังประสบปัญหาด้านรายได้ จำนวน 3,098 ล้านบาท และอีกประมาณ 122 ล้านบาท เป็นลูกค้าที่มาจากการรับโอน Port ลูกหนี้หลังการควบรวมกับบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย หรือ บตท. ที่มีสถานะ NPL ที่ยุบเลิกกิจการเพื่อโอนกิจการ ทรัพย์สิน สิทธิหนี้สิน ทุน และภาระผูกพันของ บตท. ให้แก่ ธอส.”

ขณะที่การให้ความช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ระยะที่ 2 ผ่านโครงการ ธอส. รวมไทย สร้างชาติ  ปี 2564” ด้วยมาตรการลดเงินงวดผ่อนชำระ และการขยายระยะเวลาความช่วยเหลือให้แก่ลูกค้าเดิมที่เคยอยู่ในมาตรการปี 2563 โดยภายหลังจากปิดให้ลูกค้าลงทะเบียนแจ้งความประสงค์เพื่อขยายความช่วยเหลือเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2564 มีลูกค้าเข้าร่วมมาตรการทั้งสิ้น 117,765 บัญชี คิดเป็นวงเงินต้นคงเหลือ 112,694 ล้านบาท

ทั้งนี้ มีลูกค้าถึง 103,587 บัญชี คิดเป็นวงเงินต้นคงเหลือ 98,128 ล้านบาท หรือคิดเป็น 87% ที่มีสถานะการผ่อนชำระเงินงวดได้ตามเงื่อนไขของมาตรการ ส่วนการขยายระยะเวลาความช่วยเหลือลูกค้าที่ยังคงได้รับผลกระทบจากCOVID-19  ในมาตรการที่ 2 พักชำระเงินต้นและชำระเฉพาะดอกเบี้ยรายเดือน เป็นระยะเวลา 1 ปี ไปจนถึง 31 ธันวาคม 2564       ที่เปิดให้ลงทะเบียนในระหว่างวันที่ 1-29 มีนาคม 2564 พบว่ามีลูกค้าเข้าร่วมมาตรการทั้งสิ้น 5,285 บัญชี คิดเป็นวงเงินต้นคงเหลือ 5,364 ล้านบาท