สแตนชาร์ตฯ ยืนจีดีพีปีนี้ 2.4% ลั่นเห็น ธปท. คงดอกเบี้ยต่ำยาว 3 ปี

สแตนดาร์ดชาเตอร์

ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด คงประมาณการจีดีพีปี 64 อยู่ที่ 2.4% หวังเห็นนโยบายการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจจริง แม้หนี้สาธารณะแตะกรอบ 60% แต่เกิดการจ้างงาน-การบริโภค หนุนจีดีพีเพิ่มไม่ห่วง รับเห็นธปท.คงดอกเบี้ยยาว 3 ปี แนะต้องสื่อสารให้ตลาดรับรู้ชัดเจน ด้าค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอ่อนค่าก่อนขยับกรอบแข็งค่าสิ้นปีที่ระดับ 31 บาทต่อดอลลาร์

วันที่ 8 เมษายน 2564 ดร.ทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) เปิดเผยว่า ธนาคารยังคงประมาณการอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) อยู่ที่ระดับ 2.4% แม้ว่าจะมีการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ เนื่องจากประมาณการของธนาคารค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับแห่งอื่น

เช่น กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่คาดการณ์อยู่ที่ 2.6% หรือธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อยู่ที่ 3% โดยมองว่า อัตราการขยายตัวในไตรมาสที่ 1 ของปีนี้เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนยังคงติดลบ และจะขยายตัวเป็นบวกได้ในไตรมาสที่ 2 แต่เป็นผลจากฐานที่ต่ำในปีก่อน โดยมองจีดีพีปี 65 อยู่ที่ระดับ 3%

โดยภายใต้คาดการณ์เศรษฐกิจขยายตัว 2.4% มองว่า ความไม่แน่นอนและความมั่นใจในการบริโภคและภาคธุรกิจยังคงเปราะบางและอาจได้รับผลกระทบได้ง่าย โดยตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญอย่างการบริโภคและการท่องเที่ยวยังไม่ชัดเจน ซึ่งการบริโภคมีสัดส่วนคิดเป็น 50% ของจีดีพี แม้จะมีมาตรการกระตุ้นตั้งแต่โควิด-19 ระบาดรอบแรก จะเห็นว่าการบริโภคยังคงทรงตัว

ประกอบกับตัวเลขหนี้ครัวเรือนที่ปรับเพิ่มขึ้น ขณะที่ ภาคการท่องเที่ยวคิดเป็น 20% ของจีดีพี มองว่าอยู่ในทิศทางกำลังฟื้นตัวหลังรํบบาลมีโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ที่คาดว่าจะเปิดรับนักท่องเที่ยวได้ในไตรมาสที่ 3-4 ซึ่งจะเป็นผลบวกต่อความเชื่อมั่นได้ อย่างไรก็ดี การระบาดของโควิด-19 และวัคซีนยังเป็นปัจจัยสำคัญต่อการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว

ขณะที่นโยบายการคลัง จะเริ่มเห็นความกังวลในเรื่องของสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นปลายปีอยู่ที่ระดับ 60% จากก่อนมีโควิด-19 สัดส่วนหนี้ฯ อยู่ที่ระดับ 40% แต่หลังจากออกมาตรการกระตุ้นไป 1 ปีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 50% แต่หากย้อนมาดูอัตราการเติบโตเศรษฐกิจในปี 63 เห็นหดตัว -6% จึงอยากเห็นงบประมาณที่ลงไปสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจจริงให้เกิดประโยชน์ได้ โดยจากวงเงินงบประมาณ 1 ล้านล้านบาท

ซึ่งมีแผนใช้ไปแล้วกว่า 70% และเหลืออีกราวกว่า 20% จะต้องก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษบกิจ เช่น การบริโภคเพิ่มขึ้น ภาคธุรกิจสามารถดำเนินธุรกิจได้ และก่อให้เกิดการจ้างงาน เพราะหากจีดีพีไม่เพิ่มขึ้น และหนี้ยังคงเพิ่ม จะไม่เหลือช่องในการกระตุ้นเพิ่ม เนื่องจากไม่สามารถคาดเดาการระบาดโควิด-19 ได้

ดังนั้น หากนโยบายการคลังไม่สามารถดำเนินการได้ จะเห็นว่านโยบายการเงินจะต้องเข้ามาช่วยกระตุ้น แต่จะเห็นว่าขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (Policy Space) เหลือค่อนข้างน้อย โดยดอกเบี้ยอยู่ที่ระดับ 0.50% ซึ่งมองว่าธปท.จะคงอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำไปอย่างน้อย 3 ปี (ปี 64-66)

อย่างไรก็ดี หากนโยบายการคลังไม่สามารถทำงานเต็มที่ ทำให้ธปท.มีความจำเป็นต้องลดดอกเบี้ย ขณะที่ทั่วโลกอยู่ในช่วงการฟื้นตัวและดอกเบี้ยยขาขึ้น อาจจะทำให้เห็นการไหลออกของเงิน และค่าเงินบาทอ่อนค่าได้ อย่างไรก็ดี สิ่งที่ธปท.จะต้องทำคือสื่อสารให้ชัดเจน เพื่อให้ตลาดการเงินและภาคธุรกิจเข้าใจ

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท ประเมินว่า ในช่วงต้นปีจะเห็นเงินบาทมีทิศทางแข็งค่าอยู่ที่ระดับ 29.80 บาทต่อดอลลาร์ และปัจจุบันเคลื่อนไหวอ่อนค่าระดับ 31.45 บาทต่อดออลาร์ โดยมองว่าภายในช่วงกลางปีนี้จะเห็นค่าเงินอ่อนค่าที่ระดับ 31.50 บาทต่อดอลลาร์ และหลังจากนั้นในช่วงครึ่งหลังของปีค่าเงินจะทยอยแข็งค่าขึ้นไปแตะระดับ 31 บาทต่อดอลลาร์ในสิ้นปีนี้ โดยปัจจัยที่จ้องจติดตามจะเป็นเรื่องของดุลบัญชีเดินสะพัด

ทั้งดุลการค้าและดุลบริการขาดดุล ซึ่งประเทศไทยเกิดดุลมาต่อเนื่อง เป็นผลมาจากภาคการท่องเที่ยวยังไม่ชัดเจน ทำให้บาทจากแข็งค่ามาอ่อนค่า แต่คาดว่าการท่องเที่ยวจะกลับมาปลายปีเป็นผลมาเงินบาทกลับมาแข็งค่าได้

“การใช้นโยบายการคลังและนโยบายการเงินมีข้อจำกัดเนื่องจากหนี้สาธารณะใกล้แตะเกณฑ์ที่กฏหมายกำหนด แม้ว่าเราจะเห็นนโยบายที่มากกว่านโยบายการเงิน โดยธปท.ออก 2 มาตรการทั้งสินเชื่อฟื้นฟูและโกดังพักหนี้วงเงิน 3.5 แสนล้านบาท แต่เรื่องการบริโภคและการท่องเที่ยวต้องการมากกว่านโยบายการเงิน ในขณะที่โอกาสลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอาจมีอยู่ไม่มาก โดยเราคาดว่าค่าเงินบาทจะฟื้นตัวในปลายปี 2564 เนื่องจากภาคท่องเที่ยวค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นปลายปี”