จับทิศเงินบาทหลังสงกรานต์ โควิดลามฉุด “อ่อนค่า” ทะลุ 32 บาท

เงินบาท-ตลาดหุ้น

นับเป็นปีที่ 2 แล้วที่โลกต้องอยู่กับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่ปีนี้มีพัฒนาการในแง่วัคซีนป้องกัน ที่หลายประเทศกำลังเร่งระดมฉีดให้กับพลเมืองของตัวเอง เพื่อเร่งสร้าง “ภูมิคุ้มกันหมู่” ขณะที่ประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา ก็มีการเปลี่ยนแปลงประธานาธิบดี จาก “โดนัลด์ ทรัมป์” มาเป็น “โจ ไบเดน” ซึ่งส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนการดำเนินนโยบายด้านเศรษฐกิจในหลาย ๆ ส่วน

โดยเฉพาะการอัดฉีดเม็ดเงินมหาศาล ทำให้คาดการณ์กันว่า จะผลักดันเศรษฐกิจสหรัฐให้เติบโตร้อนแรง และหนุนเศรษฐกิจโลกโตได้ดีด้วยเช่นกัน ขณะที่เศรษฐกิจไทยแม้จะโตขึ้น แต่ก็เติบโตในระดับไม่สูง

ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุน และกระทบโดยตรงต่ออัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ โดยนับตั้งแต่เริ่มต้นศักราชใหม่ ปี 2564 มาจนถึงปัจจุบัน (ณ 9 เม.ย. 2564) พบว่า เงินบาทอ่อนค่าไปแล้ว 4.71% หรืออ่อนค่าเป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคเอเชีย รองจากค่าเงินเยนของญี่ปุ่น ที่อ่อนค่าไป 5.52%

“โควิด” รอบ 3 กดดันค่าเงินบาท

โดย “นริศ สถาผลเดชา” หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี (TMB Analytics) ประเมินว่า ช่วงหลังสงกรานต์นี้ แนวโน้มค่าเงินบาทยังคงอ่อนค่า โดยต้องจับตาดูว่าการแพร่ระบาดของโควิดระลอก 3 จะรุนแรงมากขึ้นเพียงใด ซึ่งมีโอกาสที่ค่าเงินบาทจะอ่อนค่ามากกว่า 32 บาทต่อดอลลาร์ หากอัตราการติดเชื้อพุ่งเป็นหลักพันคนต่อวัน เช่นเดียวกับช่วงที่โควิดมีการแพร่ระบาดสูงสุดในปลายเดือนมี.ค. 2563 จนทำให้ค่าเงินบาทขณะนั้นอ่อนค่าไปแตะระดับ 33 บาทเลยทีเดียว

“ถ้านับจากต้นปีถึงวันที่ 9 เม.ย. ต้องบอกว่า ปิดตลาดวันที่ 8 เม.ย. เงินบาทอ่อนค่ามากที่สุดแล้ว โดยอยู่ที่ 31.46 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าสุดในรอบกว่า 6 เดือน นับตั้งแต่เดือน ก.ย. 2563 ซึ่งปัจจัยสำคัญมาจากช่วงนี้เป็นฤดูกาลที่บริษัทขนาดใหญ่ส่งกำไรหรือเงินปันผลกลับไปต่างประเทศ และอีกปัจจัยคือความกังวลเรื่องโควิดระลอก 3 โดยมีความเป็นไปได้มากที่ค่าเงินบาทจะอ่อนไประดับ 32 บาท แต่คงไม่เกิน 33 บาท”

จับตาทิศทางเงินดอลลาร์

“นริศ” กล่าวด้วยว่า หลังจากนี้คงต้องขึ้นกับทิศทางค่าเงินดอลลาร์ด้วย ว่าจะแข็งค่าหรืออ่อนค่า ซึ่งตนมองว่าค่าเงินดอลลาร์มีโอกาสจะแข็งค่าขึ้นไปอีก และน่าจะต่อเนื่องไปถึงไตรมาส 3 เพราะตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐออกมาดี สะท้อนภาพการฟื้นตัวอย่างชัดเจน ดังนั้น เงินทุนก็อาจจะไหลกลับไปสหรัฐ จึงอาจจะดึงให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าต่อไปได้

“ผลกระทบโควิด ระยะสั้น อาจจะเห็นค่าเงินบาทอยู่แถว ๆ 31.5 บาท ไปใกล้ ๆ 32 บาทได้ไม่ยาก น่าจะเป็นไตรมาสที่เงินบาทอ่อนค่าที่สุดของปี ส่วนระยะยาวในช่วงครึ่งปีหลัง เงินบาทก็น่าจะแข็งค่ากลับขึ้นมาได้ จากเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้น แต่ทั้งนี้ก็มีความเสี่ยงจากตัวเลขผู้ติดเชื้อว่าจะพุ่งขนาดไหน ถ้าวันละเป็นพันคน เงินบาทอาจจะไปถึง 33 บาทก็ได้ แต่ถ้าควบคุมได้ก็น่าจะวิ่งแถว ๆ 31.5 บาท” นายนริศกล่าว

Q2 จบรอบ “บาทอ่อน”

ขณะที่ “พูน พานิชพิบูลย์” นักกลยุทธ์ตลาดเงิน ตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย มองว่า ไตรมาสที่ 2 น่าจะเป็นไตรมาสสุดท้ายที่เห็นเงินบาทอ่อนค่า แตะระดับ 31.75 บาท โดยตอนนี้มีปัจจัยเรื่องการระบาดของโควิด-19 ซึ่งหากจำนวนผู้ติดเชื้อมีจำนวนมากขึ้น เฉลี่ย 500-1,000 คนต่อวัน อาจเห็นค่าเงินบาทอ่อนค่าไปถึงระดับ 32 บาท เพราะกระทบความเชื่อมั่น และเป็นความเสี่ยงกระทบแผนการเปิดรับนักท่องเที่ยวช่วงปลายปีนี้

นอกจากนี้ ยังมีกระแสเงินไหลออกจากการจ่ายเงินปันผลที่จะเห็นธุรกรรมเกิดขึ้นช่วงหลังสงกรานต์ไป โดยในเดือน พ.ค. จะมีธุรกรรมเกิดขึ้นอีกราว 1.3 หมื่นล้านบาท

ขณะเดียวกัน ค่าเงินดอลลาร์มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย จากตัวเลขเศรษฐกิจต่าง ๆ ออกมาค่อนข้างดี มีการฉีดวัคซีนที่เร็ว จึงเป็นปัจจัยกดดันค่าเงินสกุลอื่น รวมถึงไทยให้มีทิศทางอ่อนค่าลง

ครึ่งปีหลัง ‘จุดกลับ’ เงินดอลลาร์

“พูน” ยังมองว่า ช่วงไตรมาส 3 และ 4 จะเป็นจุดกลับของค่าเงินดอลลาร์ เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศกลุ่มยูโรโซน น่าจะทยอยฟื้นตัวดีขึ้น การค้าโลกมีการฟื้นตัว รวมถึงธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ยังไม่ได้เปลี่ยนนโยบายการเงิน ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะกดให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าได้

ทั้งนี้ กรอบเงินบาทไตรมาส 3 น่าจะอยู่ที่ 30.75-31.00 บาท และต้นไตรมาส 4จะเริ่มเห็นกระแสเงินทุนไหลเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทย หลังการท่องเที่ยวมีความชัดเจน ทำให้ค่าเงินบาทในไตรมาส 4 มีโอกาสแข็งค่าแตะ 30 บาท

“เงินบาทช่วงครึ่งปีแรกจะเป็นการเคลื่อนไหวในกรอบอ่อนค่า โดยไตรมาส 2 จะเห็นการอ่อนค่าเป็นไตรมาสสุดท้าย และในครึ่งปีหลังทิศทางเงินบาทจะขยับแข็งค่า แต่สิ่งที่ต้องจับตาคือการระบาดของโควิดรอบใหม่ที่มีการกลายพันธุ์” นายพูนกล่าว

หวั่นรัฐเพิ่มดีกรี “ล็อกดาวน์”

“พีรพรรณ สุวรรณรัตน์” ผู้ชำนาญการงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุนอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย วิเคราะห์ว่า เงินบาทจะยังคงอ่อนค่าในช่วงหลังสงกรานต์ เนื่องจากเป็นช่วงที่บริษัทจ่ายเงินปันผล ทำให้ต่างชาติที่ได้รับเงินปันผลมีการส่งเงินกลับประเทศ อย่างไรก็ดี ช่วงนี้ปัจจัยนำที่กดดันเงินบาท น่าจะเป็นเรื่องการระบาดของโควิดระลอกใหม่ ยิ่งหากรัฐบาลมีการปิดเมืองเพิ่ม จะยิ่งกดดันความเชื่อมั่น โดยช่วงสั้น ๆ ค่าเงินบาทมีแนวต้านสำคัญที่ 31.50-31.80 บาท

ฟาก “รุ่ง สงวนเรือง” ผู้อำนวยการสายงานวางแผนโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา มองว่า ค่าเงินบาทไตรมาส 2 ยังมีแนวโน้มอ่อนค่าในกรอบ 31.00-31.25 บาท โดยปัจจัยหลักมาจากฤดูกาลการจ่ายปันผล

ส่วนปัจจัยที่ต้องติดตามจะเป็นเรื่องของผลตอบแทนพันธบัตร (บอนด์ยีลด์) สหรัฐ และมาตรการภาครัฐในการบริหารจัดการการระบาดโควิด-19 ครั้งใหม่ หากคุมเข้มจะกระทบความเชื่อมั่น การบริโภค และแผนการเปิดประเทศที่จะล่าช้าออกไป ทั้งนี้ เงินบาทจะกลับมาแข็งค่าได้ หากการเปิดรับนักท่องเที่ยวมีความชัดเจน และการกระจายวัคซีนทำได้รวดเร็ว

“เราให้กรอบเงินบาทสิ้นปีนี้ที่ 30.75 บาท แต่ทั้งนี้ ค่าเงินยังคงมีความผันผวนต่อเนื่องจากปัจจัยแวดล้อม ทั้งเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐและจีน ความไม่สงบของเมียนมา เป็นต้น โดยในไตรมาส 2 เรายังคงเห็นเงินบาทอ่อนค่าจากปัจจัยที่รุมเร้า รวมถึงเราต้องติดตามดูว่า ภาครัฐจะมีมาตรการล็อกดาวน์เข้มข้นแค่ไหน หลังมีการระบาดโควิด ซึ่งอาจจะกระทบต่อการฟื้นตัวได้” นางสาวรุ่งกล่าว

ทั้งหมดนี้เป็นเทรนด์ค่าเงินบาทหลังจากเทศกาลสงกรานต์เป็นต้นไป ที่บรรดากูรูจากสำนักต่าง ๆ ได้วิเคราะห์กันไว้ ส่วนของจริงจะเป็นอย่างไร คงต้องติดตาม