ออมสิน เบรกทำตลาดรูดปรื้ด เดินหน้า “ธนาคารเพื่อสังคม”

หลังจากธนาคารออมสินประกาศปรับบทบาทมุ่งสู่การเป็น “ธนาคารเพื่อสังคม” (social bank) ตามวิสัยทัศน์ของ “วิทัย รัตนากร” ที่ก้าวขึ้นมานั่งเก้าอี้ผู้อำนวยการธนาคารออมสินคนที่ 17 (ปัจจุบัน) เมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2563

นับแต่นั้น ในช่วงที่ผ่านมาก็จะเห็นการขับเคลื่อนแบงก์รัฐแห่งนี้ไปสู่พันธกิจใหม่ดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นการเข้าไปลงทุนในธุรกิจจำนำทะเบียนรถ เพื่อหวังเป็นผู้นำกำหนดอัตราดอกเบี้ยในตลาดให้ต่ำลง เพื่อช่วยลดภาระให้แก่ประชาชน รวมถึงการออกสินเชื่อที่มุ่งตอบโจทย์การให้ความช่วยเหลือประชาชนฐานรากอย่าง “ตรงจุด” มากขึ้น เช่น สินเชื่อมีที่ มีเงิน เป็นต้น

ขณะเดียวกัน ช่วงที่ผ่านมาก็เริ่มเห็นภาพการทยอยยกเลิก หรือไม่ทำตลาดต่อในหลาย ๆ ธุรกิจ อาทิ ธุรกิจบัตรเครดิตที่ไม่ทำตลาดต่อ เน้นแต่ดูแลลูกค้าเดิม และแอปพลิเคชั่น “GSB PAY” ที่รวมบัตรเดบิต/บัตรเครดิตไว้ทุกธนาคาร กับแอป “GSB PAY MERCHANT” หรือร้านค้ารับบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของธนาคารออมสิน ที่ลูกค้าได้รับแจ้งปิดการใช้งานตั้งแต่วันที่ 15 เม.ย. 2564 เป็นต้นไป

โดย “วิทัย” บอกว่า การเป็นแบงก์เพื่อสังคมคือ ต้องช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ และแก้ไขปัญหาความยากจน ส่วนการดำเนินธุรกิจเชิงพาณิชย์ทั่วไป ธนาคารก็ยังมีการดำเนินงานต่อเนื่อง ทั้งการปล่อยสินเชื่อบ้าน สินเชื่อขนาดใหญ่ และสินเชื่อเอสเอ็มอี ซึ่งในส่วนดังกล่าวนี้ ก็จะทำให้มีรายได้เข้ามาหล่อเลี้ยงแบงก์ได้ อย่างไรก็ดี หากการทำธุรกิจในเชิงพาณิชย์ไม่ตรงกับพันธกิจหลักของธนาคารออมสิน หรือทำแล้วขาดทุนก็จะทบทวน

“เราจะทบทวนว่าอะไรคือจุดที่เหมาะสม อย่างเช่น ธุรกิจบัตรเครดิต เป็นต้น เพราะตอนนี้ผลประกอบการอาจจะไม่ค่อยดี ก็จะมานั่งทบทวนว่าจะอยู่ตรงจุดไหนที่เหมาะสม หรือกำหนดเป้าหมายแบบใดจะเหมาะสมกว่า ซึ่งการที่ไม่ได้ทำเอง ก็อาจจะทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น โดยที่ผ่านมาก็ทำเฉพาะการตลาด แต่ไม่ได้ดูระบบหลังบ้าน เช่น การตามหนี้ การควบคุม ไม่มี ดังนั้น สำหรับธุรกิจบัตรเครดิตที่เราจะโฟกัส จะเน้นกลุ่มเป้าหมายที่เราทำธุรกิจแล้วมีกำไร เพื่อลดความเสี่ยง”

ทั้งนี้ สิ่งที่ธนาคารออมสินกำลังเดินหน้าไปคือ การได้ทำให้คนที่ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อ ไม่เคยกู้สถาบันการเงินได้ สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ โดยที่ผ่านมาได้ช่วยคนไปแล้วกว่า 1.7 ล้านคน ผ่านการออกสินเชื่อฉุกเฉิน วงเงิน 10,000 บาทต่อราย และสินเชื่อเสริมพลังฐานราก 50,000 บาทต่อราย ในจำนวนนี้มี 1.5 ล้านคนที่ไม่เคยมีประวัติด้านเครดิต และอีก 2 แสนคนมีประวัติด้านเครดิต แต่เกณฑ์ประเมินออกมาต่ำกว่าเกณฑ์

นอกจากนี้ ช่วงต้นปี 2564 ธนาคารก็มีการแก้ปัญหาเรื่องหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยไม่ให้กลายเป็นหนี้เสีย ประมาณ 5 แสนบัญชี หรือ 4 แสนราย มีมาตรการตั้งแต่การพักชำระหนี้เงินต้น จ่ายเฉพาะดอกเบี้ยและการพักชำระหนี้ รวมถึงลดดอกเบี้ยให้ลูกค้า

“วิทัย” กล่าวอีกว่า อีกด้านหนึ่ง กลุ่มลูกค้าที่อยู่ในระบบอยู่แล้ว ก็ต้องช่วยกดให้ดอกเบี้ยที่แพงเกินไปต่ำลงมา อย่างการเข้าไปรุกธุรกิจจำนำทะเบียนรถ หรือการช่วยกลุ่มเอสเอ็มอี ด้วยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) คิดดอกเบี้ยเพียง 0.01% เพื่อให้แบงก์นำไปปล่อยกู้ต่อให้กับเอสเอ็มอี ซึ่งก็สามารถช่วยเอสเอ็มอีได้เป็นจำนวนมาก

ส่วนสินเชื่อมีที่ มีเงิน ก็ดำเนินการไปแล้ว 2 เฟส เฟสแรก วงเงิน 10,000 ล้านบาท และเฟส 2 เพื่อการท่องเที่ยวอีก 10,000 ล้านบาท โดยจะช่วยทำให้คนที่มีที่ดิน แต่ไม่มีสภาพคล่อง สามารถเข้าถึงสภาพคล่องได้

“การทำสินเชื่อมีที่ มีเงิน ทำให้เราเกิดมุมมองอีกหนึ่งอย่างว่า หลายคนมีที่ดิน แต่ไม่มีเงิน ก็จะดูว่าจะเข้าไปช่วยอะไรได้บ้าง ตอนนี้ก็กำลังดูอยู่ว่าจะทำธุรกิจขายฝาก เรามองว่าน่าสนใจ แต่ตอนนี้ยังไม่ตกผลึก หากทำก็ต้องไปหาพันธมิตรเข้ามาร่วมทุน แต่อย่างรอบที่แล้วที่ร่วมทุนจำนำทะเบียนรถ ก็มีคนมาพยายามทำให้ล้มดีล ซึ่งการหาพันธมิตรมาทำธุรกิจขายฝาก ก็มีโอกาสจะถูกล้มดีลได้ ก็กำลังดูอยู่ว่าจะทำอย่างไรให้คนเสียประโยชน์แทรกแซงได้น้อย”

“วิทัย” บอกว่า เป้าหมายที่อยากทำธุรกิจขายฝากที่ดินนั้น เนื่องจากปัจจุบันพบว่ามีการปล่อยกู้กันคิดอัตราดอกเบี้ยสูงถึง 20-30% ปล่อยกู้โดยอาศัยกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ห้ามคิดอัตราดอกเบี้ยเกิน 15% แต่ส่วนใหญ่ก็คิดเกิน จึงอยากทำให้ลดลงมาต่ำกว่านั้น เพื่อช่วยคนจนในต่างจังหวัดหรือเอสเอ็มอีไม่ให้ถูกยึดที่ดิน

“ธุรกิจเหล่านี้อยู่นอกระบบ เพราะไม่ต้องปล่อยสินเชื่อด้วยใบอนุญาต แต่ปล่อยตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เกี่ยวกับการกู้ยืมปกติ อย่างเช่น คุณมีที่แล้วอยากได้เงิน ถ้าไปแบงก์ คุณต้องเอาที่ดินไปจำนอง แต่ขายฝากไม่ใช่ ต้องโอนที่ให้นายทุนตั้งแต่วันแรกที่มากู้เงิน ซึ่งหากไม่มาไถ่ถอนภายในวันที่กำหนด ก็จะถูกยึดที่ดินไปเลย โดยการปล่อยกู้แบบนี้คนทั่วไปก็สามารถทำได้ เช่น ราคาประเมิน 100 บาท คุณเอาไป 50 บาท แต่ในสัญญาอาจจะเขียนว่าคุณกู้ 100 บาท แล้วก็เสียดอกเบี้ยต่างหาก”

ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ช่วงครึ่งปีหลังของปี 2564 นี้ ออมสินก็ทำในเรื่องการสร้างอาชีพ ช่วยให้คนตกงานกลุ่มต่าง ๆ กลับมามีอาชีพ เช่น อาจจะมีสินเชื่อแฟรนไชส์ตั้งแต่ 50,000-100,000 บาท หรืออาจจะร่วมกับอาชีวศึกษาสอนอาชีพคนที่อยู่ในต่างจังหวัด เป็นต้น โดยกลุ่มเป้าหมายที่จะช่วยเหลือคาดว่ามีกว่า 6-7 แสนคน

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งในการก้าวไปสู่การเป็นธนาคารเพื่อสังคมอย่างเต็มรูปแบบ ตามที่มีการประกาศวิสัยทัศน์ไว้ ซึ่งคงต้องติดตามความคืบหน้ากันต่อไป