EXIM BANK เร่ง “ซ่อม-สร้าง-เสริม” SME สู่บทบาทแบงก์เพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย

EXIM BANK

EXIM BANK พลิกโฉมสู่บทบาท “ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย” ช่วยผู้ประกอบการทุกระดับ พัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ นำทัพธุรกิจไทยรุกตลาดโลกอย่างสมดุล

วันที่ 21 เมษายน 2564 นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยภายหลังเข้ารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ EXIM BANK ตั้งแต่ต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ว่า ภารกิจหลักของ EXIM BANK ในปี 2564 ได้แก่ การเร่ง “ซ่อม สร้าง เสริม” การพัฒนาประเทศไทย

1. การเร่ง “ซ่อม” และ “สร้าง” ภาคอุตสาหกรรมของไทยให้เติบโตไปสู่อนาคต

• ประคับประคองผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมที่ประสบวิกฤต

• สร้างอุตสาหกรรมใหม่ อาทิ อุตสาหกรรมแห่งอนาคต (เช่น เทคโนโลยีด้านสุขภาพ รถยนต์ไฟฟ้า) เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) โครงสร้างพื้นฐาน และการปรับโครงสร้างภาคอุตสาหกรรมขนานใหญ่

2. การเร่ง “สร้าง” ผู้ส่งออกและนักลงทุนไทย ตั้งแต่รายย่อยไปจนถึงรายกลางและรายใหญ่ ทำให้ Supply Chain ภาคส่งออกไทยแข็งแกร่งและเชื่อมโยงกับการลงทุนภายในประเทศและระหว่างประเทศ

• เป็นสะพานเชื่อมต่อโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาล โดยเฉพาะในประเทศเพื่อนบ้าน

• เติมเต็มช่องว่างทางธุรกิจให้แก่ลูกค้ารายใหญ่ โดยเฉพาะการแชร์ความเสี่ยงในช่วงเริ่มต้นของโครงการ

• สร้างผู้ส่งออก SMEs รายใหม่ให้ส่งออกได้และแข็งแรงขึ้น เพื่อให้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนอื่น ๆ ที่มีต้นทุนต่ำกว่าในระยะถัดไป

• สนับสนุนซัพพลายเออร์และผู้ประกอบการทั้งหมดใน Supply Chain การส่งออก

• สร้างช่องทางในลักษณะ Thai Pavilion นำสินค้าไทยสู่ตลาดโลกผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ชั้นนำของโลก

3. การเร่ง “เสริม” ศักยภาพการแข่งขันของผู้ส่งออกและนักลงทุนไทยในตลาดหลักและตลาดใหม่ (New Frontiers) อย่างสมดุล

• สนับสนุนให้ผู้ประกอบการแข่งขันได้ โดยเฉพาะประเทศที่ธุรกิจไทยเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ยาก ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นตั้งแต่ในช่วงเริ่มต้นของโครงการลงทุน

• ป้องกันความเสี่ยง พร้อมเปิดประตูสู่ตลาดใหม่ ๆ ให้แก่ผู้ประกอบการไทย

นายรักษ์ กล่าวว่า EXIM BANK วันนี้ต้องมีจุดยืนที่มีเสน่ห์ เพื่อทำให้องค์กรโตขึ้น ชัดเจนขึ้น และช่วยพัฒนาประเทศได้มากขึ้น โดยเริ่มต้นจากการช่วยให้นักลงทุนไทยที่มีศักยภาพเข้าไปรับงานในต่างประเทศได้มากขึ้น ควบคู่กับการขยายโครงการลงทุนภายในประเทศ เพื่อกระตุ้นการจ้างงาน ควบคู่กับการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมให้ก้าวข้ามข้อจำกัดต่าง ๆ โดยสร้างนวัตกรรมหรือกระบวนการผลิตที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

ขณะเดียวกัน EXIM BANK จะเข้าไปดูแลผู้ประกอบการรายย่อยให้สามารถค้าขายหรือลงทุนระหว่างประเทศได้โดยสะดวกขึ้น สามารถบริหารความเสี่ยงและเข้าถึงโอกาสใหม่ ๆ ทางธุรกิจ นำไปสู่การพัฒนาภาคส่งออกและการลงทุนของไทยตลอดทั้ง Supply Chain ของไทยให้เชื่อมโยงกับ Supply Chain ของโลกในยุค New Normal ที่ให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจบนหลักการแห่งความยั่งยืน

“ผมตั้งใจเข้ามาทำหน้าที่นายธนาคารยุคใหม่เพื่อการพัฒนา เดินหน้าปรับเปลี่ยน EXIM BANK ขนานใหญ่ให้สามารถรับความเสี่ยงได้มากขึ้น และเป็นกลไกให้ผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ SMEs ปรับตัว เปลี่ยนผ่านไปสู่โลกยุคใหม่ได้ เส้นทางใหม่ของ EXIM BANK ครั้งนี้มีเป้าหมายชัดเจนที่จะ ‘ฝันให้ใหญ่’ สู่การเป็น Thailand Development Bank แล้ว ‘ไปให้ไกล’ สู่ New Frontiers โดย ‘ไม่ทิ้งคนตัวเล็ก’ หรือ SMEs เพราะทุกภาคส่วนล้วนเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงประเทศ” ดร.รักษ์ กล่าว