เงินบาทแกว่งตัวในกรอบ จับตาประชุม ECB-สถานการณ์โควิดทั่วโลก

หนี้-เงินบาท

ค่าเงินบาทแกว่งตัวในกรอบ ตลาดจับตาการประชุม ECB-สถานการณ์โควิดทั่วโลก ขณะที่ปิดตลาดที่ระดับ 31.32/34 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ หลังสถานการณ์โควิดในประเทศยังรุนแรง

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 22 เมษายน 2564 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (22/4) ที่ระดับ 31.30/31 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดในวันพุธ (21/4) ที่ระดับ 31.32/33 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

โดยค่าเงินดอลลาร์ได้รับแรงกดดันหลังอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐชะลอตัวลง อีกทั้งนักลงทุนวิตกกัวลเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจ หลังมีรายงานว่าไวรัสโควิด-19 ได้กลับมาแพร่ระบาดอย่างหนักในอินเดียและญี่ปุ่น

นอกจากนี้ค่าเงินดอลลาร์ปรับตัวอ่อนค่า 1% เมื่อเทียบดอลลาร์แคนาดา หลังธนาคารกลางแคนาดาส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีหน้า และได้ปรับลดวงเงินในการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ขณะที่นักลงทุนจับตาข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐในสัปดาห์นี้

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังคงรุนแรง โดยศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1,470 ราย เสียชีวิตเพิ่มอีก 7 ราย ส่งผลให้มีจำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมล่าสุดอยู่ที่ 48,113 ราย

นอกจากนี้ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปี 64 จะโตได้ 1.6% จากเดิมที่เคยคาดไว้ 2.8% เนื่องจากผลกระทบการแพร่ระบาดของสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศ ซึ่งทำให้มียอดผู้ติดเชื้อในประเทศเพิ่มขึ้นจำนวนมาก และรัฐบาลได้ยกระดับมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ และคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเหลือเพียง 2.8 ล้านคนเท่านั้น จากเดิมคาด 4 ล้านคน

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 31.26-31.34 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 31.32/34 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรในวันนี้ (22/4) ค่าเงินยูโรเปิดตลาดที่ระดับ 1.2040/41 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (21/4) ที่ระดับ 1.2011/14 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

โดยนักลงทุนจับตาการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในวันนี้ โดยมีการคาดการณ์ว่า ECB อาจเปลี่ยนแปลงวงเงินในการซื้อพันธบัตร ท่ามกลางการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.2022-1.2050 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.2026/27 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนในวันนี้ (22/4) เปิดตลาดที่ระดับ 108.01/04 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (21/4) ที่ระดับ 108.06/08 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยสำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า รัฐบาลญี่ปุ่นเตรียมประกาศภาวะฉุกเฉินรอบใหม่ในกรุงโตเกียว, โอซาก้า และเฮียวโวะเร็ว ๆ นี้ หลังจากที่มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 รุนแรงเพิ่มขึ้นจนส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขในพื้นที่ดังกล่าว

นอกจากนี้นายโยชิฮิเดะ ซูงะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ได้ตัดสินใจยกเลิกการเดินทางเยือนอินเดียและฟิลิปปินส์ในช่วงเทศกาลวันหยุด Golden Week เนื่องจากจำเป็นต้องอยู่ในญี่ปุ่นเพื่อดูแลมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ขณะที่มีการคาดการณ์ว่า นายซูงะจะประกาศภาวะฉุกเฉินครั้งใหม่ในจังหวัดโอซาก้า เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 107.80108.13 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 108.06/07 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (22/4) ดัชนีกิจกรรมเศรษฐกิจทั่วประเทศเดือน มี.ค. จากเฟดชิคาโก (22/4) ยอดขายบ้านมือสองเดือน มี.ค. (22/4) ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นต้นเดือน เม.ย.จากมาร์กิต (23/4) ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นต้นเดือน เม.ย.จากมาร์กิต (23/4) ยอดขายบ้านใหม่เดือน มี.ค. (23/4)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ +0.55/+0.65 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ +6.75/+7.50 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ