ตั้งกองทุนคืนหนี้ “บีทีเอส” 3 หมื่นล้าน ตลาดทุนติง “ไม่จูงใจ-ส่อเพิ่มภาระรัฐ”

บีทีเอส

บรรยากาศสงกรานต์ที่ผ่านมา ร้อนระอุขึ้นมาทวีคูณ หลังจาก “สุรพงษ์ เลาหะอัญญา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) บริษัทในเครือ “บีทีเอส กรุ๊ป” (BTS) อัดคลิปความยาว 3.01 นาที ทวงหนี้ค่าระบบงานและจ้างเดินรถสายสีเขียวส่วนต่อขยายหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และแบริ่ง-สมุทรปราการ รวมกว่า 3 หมื่นล้านบาทจากกรุงเทพมหานคร (กทม.) และรัฐบาล

โดยที่ผ่านมา ทางบีทีเอสมีข้อเสนอให้แลกหนี้กับการต่ออายุสัญญาสัมปทานสายสีเขียวออกไปอีก เป็นเวลา 30 ปี (2572-2602) แต่ก็ยังไร้คำตอบจากภาครัฐ นอกจากนี้ มีข้อเสนอจากพรรคการเมืองแห่งหนึ่งให้ภาครัฐมีการจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (infrastructure fund) เพื่อระดมทุนไปชำระหนี้ให้กับบีทีเอส แทนการแลกหนี้ด้วยการต่อสัญญาสัมปทานออกไปยาวนานถึง 30 ปี

อย่างไรก็ดี ในมุมตลาดทุน “อนุวัฒน์ ร่วมสุข” กรรมการผู้จัดการ ประธานสายตลาดทุน กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ให้มุมมองเกี่ยวกับเรื่องการจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าวว่า ในมุมตลาดทุนนั้น การจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน หรือจะเป็นลักษณะกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) ก็ตาม โดยหลักสินทรัพย์ต้องมีรายได้ เพราะกองทุนจะต้องนำรายได้จากการประกอบการไปจ่ายเป็นเงินปันผลให้กับผู้ถือหน่วยลงทุน

ทว่า รายได้ที่จะมาจากการเดินรถ พบว่า ปัจจุบันส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียวยังขาดทุนตกวันละ 300 ล้านบาท และจากข้อมูลของ กทม. มีแนวโน้มว่าจะยังขาดทุนไปอีก 9 ปี หรือจนถึงปี 2572 ที่จะครบสัญญาสัมปทาน ดังนั้น ถ้ามองในมุมตลาดทุน ถือว่าไม่ค่อยมีความน่าสนใจที่จะจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าวขึ้นมา

“ปัญหาตอนนี้ คือรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายนั้น ยังขาดทุนอยู่ประมาณวันละ 300 ล้านบาท นั่นแปลว่าระยะเวลาที่เหลืออยู่จนกว่าสัปทานจะหมดอีกประมาณ 9 ปี จะขาดทุนไปเรื่อย ๆ ดังนั้น ในมุมตลาดทุนถือว่าไม่ค่อยน่าสนใจ

แต่จริง ๆ ก็มีทางเลือก ถ้ามีภาครัฐเข้ามาค้ำประกัน (การันตี) ผลตอบแทนให้ ซึ่งหมายถึงรัฐต้องไปกู้เงินเพื่อมาจ่าย ซึ่งตามหลักแล้ว การค้ำประกันจะจ่ายขั้นต่ำ ไม่ใช่จ่ายผลตอบแทนที่ควรจะได้จริง ๆ”

“อนุวัฒน์” กล่าวอีกว่า ที่สำคัญ ปัจจุบันยังมีกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งมวลชนทางราง บีทีเอสโกรท (BTSGIF) อยู่แล้ว ซึ่งให้ผลตอบแทนในรูปเงินปันผล อยู่ที่ราว 7-7.5% ต่อปี ดังนั้น หากภาครัฐต้องการตั้งกองทุนใหม่ขึ้นมา แล้วอยากให้กองทุนมีความน่าสนใจ ก็แปลว่าต้องการันตี หรือรับประกันผลตอบแทนขั้นต่ำให้ออกมาใกล้ ๆ กับผลตอบแทนของ BTSGIF ที่จ่ายอยู่ ซึ่งคาดว่าจะเป็นภาระงบประมาณมหาศาลเลยทีเดียว

“ถ้ามองในมุมนักลงทุน รายได้ของกองก็ยังไม่มี ขาดทุนตลอด แต่กองทุนก็ต้องมีการจ่ายปันผล ดังนั้น ถ้าจะทำ ก็คือ ช่วงที่ไม่มีรายได้ รัฐต้องค้ำประกัน หรือกู้เงินมาจ่าย เป็นเวลาอีก 9 ปี หรือจนถึงปี 2572 ที่จะหมดสัญญาสัมปทาน แล้วถ้าปีไหนที่ไม่มีงบประมาณมาช่วยจะทำอย่างไร จึงมองได้ว่าการตั้งกองทุนใหม่ ความน่าสนใจ ไม่น่าจะมี ไม่น่าจะเป็นคำตอบที่ดี เพราะตอนนี้ความเสี่ยงเต็มไปหมด” นายอนุวัฒน์กล่าว

แหล่งข่าวผู้เชี่ยวชาญด้านกองทุนรวมรายหนึ่งมองว่า การจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย เพื่อระดมทุนมาชำระหนี้ให้บีทีเอสนั้น หากตั้งกองได้ควรตั้งมานานแล้ว แต่ความยากคือ รายได้ของทรัพย์สินยังขาดทุน เพราะจำนวนผู้โดยสารยังไม่ถึงระดับที่สามารถสร้างผลตอบแทนให้เป็นบวกได้ ซึ่งอยู่ในการควบคุมเรื่องค่าตั๋วโดยสาร และการบริหาร (แชริ่ง)

ดังนั้น หากตั้งกองทุนด้วยการทำโมเดลที่ใช้การคำนวณรายได้เป็นเกณฑ์ (income approach) เชื่อว่ากองทุนนี้จะไม่สามารถระดมทุนมาคืนหนี้ให้กับบีทีเอสได้ เพราะรายได้ยังไม่เป็นไปตามประมาณการ และหากจะทำให้ผลตอบแทนออกมาน่าสนใจ ทาง กทม.ก็ต้องมาการันตีส่วนต่างในการจ่ายผลตอบแทน ซึ่งกทม.อาจจะทำไม่ได้

“ตั้งข้อสังเกตว่าทำไมถึงไม่ยอมต่อสัญญา โดยที่จริงแล้วก็ไม่จำเป็นต้องต่อสัญญาให้ยาวถึง 30 ปี เพราะอาจจะยาวเกินไปสำหรับภาครัฐ ดังนั้น อาจต้องประนีประนอม เจอกันครึ่งทาง เพราะรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายยังเป็นระยะแรก (early stage) เหมือนบีทีเอสในช่วงต้น ดังนั้น ควรให้เดินรถไปสักระยะ อาจจะมีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นก็ได้ ซึ่งตอนนั้นอาจทำให้มีรายได้เข้ามามากขึ้น”แหล่งข่าวกล่าว

เสียงท้วงติงเหล่านี้ ภาครัฐคงต้องนำไปพิจารณา หากจะเลือกใช้วิธีตั้งกองทุน หรือหากจะใช้วิธีอื่น ก็ต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อประชาชนด้วย