ดอลลาร์อ่อนค่า จับตาประชุมเฟด และสถานการณ์โควิดทั่วโลก

ดอลลาร์สหรัฐ
REUTERS/Dado Ruvic/Illustration/File Photo

ดอลลาร์อ่อนค่าหลังบอนด์ยีลด์ยังชะลอตัว จับตาการประชุมเฟด (27-28 เม.ย.) และสถานการณ์โควิดทั่วโลก หลังญี่ปุ่นเผชิญการระบาดระลอกที่ 4 ขณะที่เงินบาทแนวโน้มยังอ่อนค่า ก่อนปิดตลาดวันนี้(26 เม.ย.) ที่ระดับ 31.41/44 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 26 เมษายน 2564 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (26/4) ที่ระดับ 31.38/41 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (23/4) ที่ระดับ 31.40/42 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

โดยค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก เนื่องจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐยังคงชะลอตัว และได้บดบังปัจจัยบวกจากตัวเลขเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของสหรัฐ โดยนักลงทุนในตลาดเงินทั่วโลกจับตาการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันที่ 27-28 เมษายนนี้อย่างใกล้ชิด เพื่อจับทิศทางอัตราดอกเบี้ยในปีนี้

ด้านนักวิเคราะห์คาดว่า เฟดมีแนวโน้มจะบ่งชี้ถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงิน ทั้งนี้เฟดได้ตรึงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นใกล้ระดับ 0% มาตั้งแต่โควิด-19 เริ่แพร่ระบาด และยังคงซื้อสินทรัพย์รายเดือนขั้นต่ำ 1.20 แสนล้านดอลลาร์ จึงทำให้งบดุลบัญชีของเฟดเพิ่มขึ้นสู่ระดับเกือบ 8 ล้านล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 2 เท่าแล้วนับตั้งแต่วิกฤตไวรัสโควิดระบาดได้เริ่มขึ้น

สำหรับปัจจัยภายในประเทศมีรายงานข่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขปรับระดับสีจังหวัดจากเดิม 2 สีให้เพิ่มเป็น 3 สี คือ สีแดงเข้ม ให้เป็นจังหวัดควบคุมสูงสุดในกรณีพิเศษ สีแดง และสีสันตามลำดับความรุนแรง และขอให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดปรับมาตรการในรูปแบบทาร์เก็ตล็อกดาวน์ปิดกิจการกิจกรรมต่าง ๆ ที่มีผลต่อการรวมตัวของคนจำนวนมาก

โดยยังคงต้องจับตาสถานการณ์และติดตามอย่างใกล้ชิดว่า จะมีมาตรการเพิ่มเติมหรือไม่ หลังมีปัญหาผู้ติดเชื้อรายใหม่ตกค้างและเสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น

ด้านการฟื้นฟูเศรษฐกิจ กระทรวงการคลังเปิดเผยว่ารัฐบาลได้เตรียมงบประมาณสำหรับการดำเนินการแก้ไขปัญหาเยียวยา และเฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 กว่า 3 แสนล้านบาท

โดยมาตรการของกระทรวงการคลังที่จะพิจารณาดำเนินการ จะเป็นการช่วยอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ลดภาระของประชาชนและกระตุ้นการใช้จ่ายและการบริโภคภายในประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะต่อไป

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 31.38-31.49บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 31.41/44 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรในวันนี้ (26/4) ค่าเงินยูโรเปิดตลาดที่ระดับ 1.2096/97 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (23/4) ที่ระดับ 1.2093 /94 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

โดยนางเออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ให้สัมภาษณ์กับเดอะนิวยอร์กไทมส์ว่า ประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรป (EU) ทั้ง 27 ประเทศ เตรียมเปิดประเทศรับชาวอเมริกันที่ฉีดวัคซีนซึ่งองค์กรยาแห่งสหภาพยุโรป (EMA) ให้การยอมรับครบโดสแล้วอย่างไม่มีเงื่อนไข

ทั้งนี้ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.2089-1.2117 และปิดตลาดที่ระดับ 1.2106/09

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนในวันนี้ (26/4) เปิดตลาดที่ระดับ 07.89/91 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (26/4) ที่ระดับ 107.91/93 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แม้ยอดรวมผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ในญี่ปุ่นพุ่งขึ้นแตะระดับ 10,000 รายแล้วในขณะนี้

โดยญี่ปุ่นกำลังเผชิญกับการแพร่ระบาดระลอกที่ 4 เนื่องจากไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์มีอัตราการแพร่เชื้อสูงขึ้น ทำให้นายโยชิฮิเดะ ซูงะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุนประกาศภาวะฉุกเฉินในกรุงโตเกียว, เกียวโต, โอซาก้า และเฮียวโงะ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ 25 เมษายน จนถึงวันที่ 11 พฤษภาคมนี้

ทั้งนี้ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 107.64-107.94 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 107.67/68 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจของเยอรมันโดย Ifo (26/4), ยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนมีนาคม (2564), มติอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ BOJ (27/4), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐเดือนเมษายนจาก CB (27/4), ตัวเลขสต๊อกน้ำมันรายสัปดาห์ของสหรัฐ (28/4),

มติอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ FED (29/4), ประมาณการจีดีพีไตรมาส 1/2021 ของสหรัฐ (29/4), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์สหรัฐ (29/4), ยอดทำสัญญาขายบ้านเดือนมีนาคม (29/4), ผลิตภัณพ์มวลรวมภายในประเทศไตรมาส 1/2021 ของเยอรมนี (30/4)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ +0.65/+0.75 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือน ต่างประเทศอยู่ที่ +5.50/+6.00 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ