Sell in May กดดัน SET ต่อ

หุ้นไทย-set
คอลัมน์ เติมความคิด พิชิตการลงทุน
เอกภาวิน สุนทราภิชาติ
บล.ไทยพาณิชย์ (SCBS)

สวัสดีครับท่านผู้อ่าน SET เริ่มแสดงการปรับฐาน เนื่องจากปัจจัยลบในประเทศ หลังมีความกังวลต่อสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ (ระลอก 3) ซึ่งเป็นเชื้อโควิดสายพันธุ์อังกฤษที่แพร่ได้เร็ว ทำให้มีตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่และแพร่กระจายไปในหลายจังหวัดที่ดูจะรุนแรงกว่าระลอก 1 (เม.ย. 63) และระลอก 2 (ธ.ค. 63)

โดยการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอก 3 ในวันที่ 18 เม.ย. 64 ที่ผ่านมามีจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันในไทยแตะ 1,767 ราย ทำนิวไฮ เมื่อเทียบกับระลอก 1 ที่ 188 ราย (22 มี.ค. 63) และระลอก 2 ที่ 959 ราย (26 ม.ค. 64) แม้ว่าในช่วงสั้น SET ล่าสุดมีการฟื้นตัวมาเคลื่อนไหวแถวบริเวณ 1,580-1,590 จุด หลังรัฐบาลยังไม่มีมาตรการเคอร์ฟิวและล็อกดาวน์

อย่างไรก็ตาม ผมมอง SET เป็นแค่การรีบาวนด์ และคาดว่าจะยังผันผวนและมีความเสี่ยงปรับฐานลงต่อได้ หากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งจากนี้คงต้องจับตาการแพร่ระบาดของโรคหลังผ่านพ้นเทศกาลสงกรานต์ รวมถึงในช่วงเดือน พ.ค. คาดว่าดัชนีจะปรับตัวลงได้ต่อ จากปัจจัยกดดันเรื่อง Sell in May

ซึ่งหากดูจากสถิติ (ดูกราฟประกอบ) มีความน่าจะเป็นสูงที่มีโอกาสเกิดขึ้น โดยหากดูจากสถิติย้อนหลังไป 10 ปี มี 7 ใน 10 ปี ที่ SET ในเดือน พ.ค.ปรับตัวลง หรือคิดเป็นความน่าจะเป็นที่ระดับสูงกว่า 70% และหากดูเฉพาะในปีนี้ในเดือน พ.ค.ที่ SET ปรับตัวลง หาก 4 เดือนก่อนหน้า คือ ม.ค.-เม.ย.ของทุกปี หาก SET มีการปรับตัวขึ้นไปก่อนหน้าแล้ว โอกาสเกิด Sell in May หรือการที่ SET จะปรับตัวลงในเดือน พ.ค. มีความน่าจะเป็นสูงถึง 90%

ดังนั้นหากดูในปีนี้ที่ SET ในเดือน ม.ค.-เม.ย. หรือนับแต่เดือน เม.ย. ปีก่อน SET ยังไม่เคยเกิดการปรับฐานเลย ยิ่งเพิ่มโอกาสมากขึ้นว่าในเดือน พ.ค.ของปีนี้ มีโอกาสเกิด Sell in May ส่งผลให้ผมมอง SET ยังมีความเสี่ยงด้าน downside โดยมีโอกาสลงไปหาบริเวณ 1,500 จุด ซึ่งถึงตอนนั้นจะเป็นจุดวัดพลังในภาพรวมอีกครั้ง ว่าจะกลับมาไต่ระดับขึ้นได้ต่อ หรือลงต่อ โดยกรณีต่ำกว่า 1,500 จุด จะเป็นสัญญาณลบ และมีแนวรับถัดไปที่ 1,450, 1,400 และ 1,350 จุด ตามลำดับ

มุมมองด้านกลยุทธ์การลงทุน แนะนำให้ลดพอร์ตก่อนนะครับ และถือเงินสดมากขึ้น ส่วนพอร์ตลงทุน แนะนำรอซื้อด้วยน้ำหนักการลงทุน 25% บริเวณแนวรับ 1,500 จุดเพื่อแต้มต่อในการลงทุนที่สูงขึ้น และเก็บกระสุนไว้ เพื่อซื้อเพิ่มตามแนวรับที่ 1,450, 1,400 และ 1,350 จุด ตามลำดับ

ส่วนการเข้าตลาดช่วงนี้ เป็นเพียงซื้อขายเก็งกำไร โดยใช้กลยุทธ์ Selective Buy ในหุ้น 4 กลุ่มที่มีปัจจัยบวกเฉพาะ ดังนี้

กลุ่ม Defensive ที่ได้ประโยชน์จากการแพร่ระบาดโควิด-19 แนะนำ TQM, BDMS, BCH, CHG, RJH, EKH

กลุ่ม Defensive ที่ได้ประโยชน์จากกระแส Clean Energy และ EV แนะนำ EA, KCE, GULF, BGRIM

กลุ่ม Mid-Small ที่ไม่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และกำไร 1Q64 (ไตรมาสแรกปี 2564)

โตเด่น YoY แนะนำ STARK, TWPC, TNP, WICE

ส่วนกลุ่ม Reopen (BEM, CPALL, CPN, CRC, ERW, CENTEL) ให้รอจังหวะเข้าซื้อ หลังอัตราผู้ติดเชื้อรายใหม่เริ่มชะลอตัวซึ่งคาดเร็วสุดอาจใช้เวลา 1-2 สัปดาห์ ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขคาดใช้เวลาควบคุมสถานการณ์ได้ใน 1 เดือน

ทั้งนี้ หุ้นในกลุ่มต่าง ๆ ผมเลือกมา 5 ตัว ที่อยากแนะนำ ได้แก่

1) BCH ในระยะสั้นได้ปัจจัยหนุนจากความต้องการการใช้บริการตรวจคัดกรองโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้น รวมถึงยังมีพัฒนาการเชิงบวกจากการให้บริการวัคซีนโควิด-19

2) KCE คาดได้อานิสงส์จากการเติบโตของสินค้า Consumer Electronics และอุตสาหกรรมยานยนต์โลกที่เริ่มฟื้นตัวดีขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนต่อคำสั่งซื้อ PCB และยังได้อานิสงส์จากเงินบาทที่อ่อนค่า

3) TQM ยอดขายเบี้ยประกันจะเติบโตแกร่ง โดยเฉพาะประกันโควิด-19 ขณะที่ฐานะทางการเงินยังแข็งแกร่ง โดยมีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดอยู่ในมือสูงถึง 43% ของสินทรัพย์

4) WICE คาดได้อานิสงส์จากค่าระวางที่สูงขึ้นจากภาวะตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน ขณะที่ลูกค้ารายใหม่ทั้งในประเทศและต่างประเทศมาใช้บริการขนส่งทางทะเลและทางอากาศของบริษัทเพิ่มขึ้น

5) TNP บริษัทได้อานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายทั้งทางตรง คือการเข้ามาซื้อสินค้าของประชาชนหลัง TNP เป็นร้านค้าธงฟ้าที่ใช้สิทธิได้โดยตรง และทางอ้อมคือ การซื้อสินค้าจากร้านค้าธงฟ้าอื่น ๆ และร้านคนละครึ่งที่ประชาชนไปใช้สิทธิได้ รวมถึงยังได้อานิสงส์จากการเพิ่มวงเงินบัตรสวัสดิการแห่งรัฐใน 1Q64