“เอ็กซิมแบงก์” งานเข็นครกขึ้นภูเขา ดันธุรกิจไทยย้ายฐานปักธง CLMV

สัมภาษณ์พิเศษ

หลังจากธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) หรือเอ็กซิมแบงก์ เข้าสู่โหมด “ปรับบทบาทองค์กร” มาพักใหญ่ โดยทำแผนยุทธศาสตร์ 10 ปี (ปี 2560- 2570) ออกมา

ล่าสุด “พิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา” กรรมการผู้จัดการ เอ็กซิมแบงก์ ให้สัมภาษณ์พิเศษ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปี 2560 นี้ ตั้งเป้าขยับสินเชื่อคงค้างเพิ่มเป็น 85,000 ล้านบาท โตราว 5-6% จากสิ้นปี 2559 ซึ่งหลังผ่านมา 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย. 60) ธนาคารมีกำไรสุทธิ 1,016 ล้านบาท โดยมีเงินให้สินเชื่อคงค้างที่ 84,937 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10,469 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งเป็นสินเชื่อใหม่ 18,576 ล้านบาท

ขณะที่สินเชื่อคงค้างธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) อยู่ที่ 35,890 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5,023 ล้านบาท หรือ 16.27% จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยปัจจุบันแบงก์มีลูกค้าราว 2,500 ราย ซึ่งเพิ่มขึ้นใน 9 เดือนแรกประมาณ 600-700 ราย แต่ก็มีลูกค้าเก่าหายไป 300-400 ราย เนื่องจากลูกค้าที่แข็งแรงขึ้นแล้วมีทางเลือกมากขึ้น สามารถไปขอสินเชื่อจากแบงก์พาณิชย์ได้

“เราก็ดีใจที่เขามีทางเลือกมากขึ้น ส่วนผู้ประกอบการที่เข้ามาใหม่ก็มีขนาดเล็กลง คือขอสินเชื่อไม่เกิน 1 ล้านบาท แต่ก็เป็นกลุ่มที่ส่งออกสินค้าอย่างเดียว จะไม่ได้ออกไปลงทุน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเรามีโปรแกรมให้กู้ไม่เกิน 5 แสนบาท ไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ซึ่งเหมาะกับ SMEs และไม่มีแบงก์อื่นในประเทศไทยที่ให้แบบนี้”

ขณะที่เอ็กซิมแบงก์ประเมินว่า การส่งออกปีนี้น่าจะเติบโตได้ 7-8% สูงสุดในรอบ 6 ปี ซึ่ง “พิศิษฐ์” บอกว่า ธนาคารไม่กังวลการปล่อยสินเชื่อให้เติบโตตามเป้าหมาย แถมยังต้องการทำให้ได้สูงกว่าเป้าอีกด้วย แต่ก็ยอมรับว่า การส่งออกที่ดีขึ้นจะเป็นธุรกิจรายใหญ่กับรายกลางมากกว่า

“เอสเอ็มอีตอนนี้มีสัญญาณฟื้นจริง ๆ อาจจะไม่หวือหวา คงต้องใช้เวลา แต่ดูแนวโน้มดีขึ้น เห็นจากคนมาขอสินเชื่อกันมากขึ้น ยอดปฏิเสธสินเชื่อลดลง เนื่องจากเศรษฐกิจโดยรวมดีขึ้น คุณภาพของคนที่เข้ามาขอสินเชื่อก็ดีขึ้น สะท้อนว่ามีความต้องการสินเชื่อ เอาไปขยาย ทำการค้าจริง”

ส่วนท่ามกลางค่าเงินบาทที่ผันผวน “พิศิษฐ์” ยืนยันว่า ธุรกิจ SMEs มีการตื่นตัวป้องกันความเสี่ยงค่าเงินมากขึ้น ซึ่งโปรดักต์สินเชื่อของเราจะแถมประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนให้อัตโนมัติ

“จากสมัยก่อนที่พอเจ็บตัวแล้วถึงจะเข้ามา แต่วันนี้เริ่มปรับตัวกันมากขึ้น และเนื่องจากโปรดักต์เราไม่ได้ต้องการหลักประกัน ซึ่งเมื่อเราให้สินเชื่อไปแล้ว ก็ให้วงเงินฟอร์เวิร์ดไปด้วยเลย ฉะนั้นลูกค้าเราก็เริ่มมีมา จำนวนรายที่มาขอสินเชื่อแล้วขอบุ๊กฟอร์เวิร์ดด้วยเพิ่มขึ้น 10-20% หรือราว 700 ราย”

ด้านสินเชื่อโครงการระหว่างประเทศของเอ็กซิมแบงก์มียอด ณ สิ้น ก.ย. 2560 จำนวน 35,554.51 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,062 ล้านบาท เติบโต 9.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นสินเชื่อในกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม) สัดส่วนกว่า 70% ของสินเชื่อต่างประเทศทั้งหมด

ในด้านการลงทุนที่โจทย์สำคัญอันเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์หลักของแบงก์ คือ การส่งเสริมการค้าและการลงทุน เน้นตลาดหลักและตลาดใหม่ (New Frontier Markets) ที่มีโอกาส รวมถึงเป็นนโยบายที่ได้รับมอบหมายจาก “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรี ให้มุ่งเน้นขยายการลงทุนในกลุ่ม CLMV นั้น

“พิศิษฐ์” ยอมรับว่า หลังเข้าไปเปิดสำนักงานตัวแทนแห่งแรกที่ประเทศ “เมียนมา” เมื่อกลางปีที่ผ่านมา ยังมีการขอสินเชื่อเพื่อการลงทุนเข้ามาค่อนข้างน้อยแค่หลักพันล้านบาท แถมจำนวนรายก็ยังไม่มาก ซึ่งแบงก์ยังไม่ได้อนุมัติ เนื่องจากยังต้องรอขั้นตอนต่าง ๆ ของทางเมียนมา

“ตอนนี้ติดต่อมาประมาณ 10 ราย แต่ยังต้องรอขั้นตอนต่าง ๆ เพราะขั้นตอนฝั่งเมียนมาค่อนข้างมาก ซึ่งต้องมีความชัดเจนจากฝั่งโน้นก่อน จึงจะมาใช้เงิน ระหว่างนี้ก็เตรียมตัวกันไป ทั้งนี้ เงินจะออกได้น่าจะปลายปีหน้า”

ขณะเดียวกันก็พบว่าธุรกิจตั้งแต่รายกลางลงมา ส่วนใหญ่ยังไม่ตัดสินใจย้ายฐานการผลิต มีแต่รายใหญ่ เช่น ธุรกิจปูนซีเมนต์ เป็นต้น แต่ก็มีผู้ประกอบการที่สนใจธุรกิจด้านพลังงานในเมียนมา ซึ่งแบงก์ก็พร้อมซัพพอร์ต โดยเฉพาะการให้ข้อมูลเชิงลึก เนื่องจากเมียนมาไม่มีหน่วยงานลักษณะ “เครดิตบูโร”

ขณะที่การไปตั้งสำนักงานตัวแทนใน สปป.ลาวนั้น แบงก์คาดว่าจะเป็นเดือน ม.ค. 2561 และขยายไปกัมพูชาต่อไป ซึ่งนอกจาก CLMV แล้ว แบงก์ยังพร้อมสนับสนุนตลาดใหม่ ๆ อย่างอิหร่านและอินเดียด้วย ซึ่งล่าสุดเอ็มดีเอ็กซิมแบงก์ได้ยืนยันกับทางสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว

“เราอยากส่งเสริมการลงทุนใน CLMV อยากให้ผู้ประกอบการใช้ประกันการส่งออกด้วย โดยเรามียุทธศาสตร์ชัดเจนว่า ไม่แข่งกับธนาคารพาณิชย์ แต่ให้เป็นทางเลือก นอกจากนี้เราก็จะไป Step in ประเทศที่ธนาคารพาณิชย์ไม่ปล่อย อย่างเช่น อิหร่าน แอฟริกา เป็นต้น จากเดิมที่ผู้ประกอบการต้องไปผ่านนายหน้าคนกลาง เราก็จะไปช่วยเพื่อให้ต้นทุนของผู้ประกอบการถูกลง เพียงแต่เงื่อนไขอาจจะไม่ง่าย แต่การไม่มีคนช่วย ความเสี่ยงจะสูงมาก ดังนั้นก็ไม่อยากให้หงุดหงิดรำคาญ ถ้าเราต้องขอข้อมูล”

ทั้งหมดนี้คือหนทางที่เอ็กซิมแบงก์วาดฝันไว้ว่าจะยกระดับองค์กรให้เทียบชั้น “ธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น” (JBIC) แม้ว่าจะยังต้องใช้เวลาอีกไม่น้อยก็ตาม