ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่า หลังรัฐมนตรีคลังให้แนวโน้มขึ้นดอกเบี้ย

ค่าเงินบาท-ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่า หลังรัฐมนตรีคลังให้แนวโน้มขึ้นดอกเบี้ย พื่อป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจสหรัฐร้อนแรงเกินไป ส่วนเงินบาทแข็งค่าขึ้น ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 31.09/12 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราระหว่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 5 พฤษภาคม 2564 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (5/5) ที่ระดับ 31.19/21 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (30/4) ที่ระดับ 31.13/14

ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเทียบกับเงินสกุลหลัก หลังจากนางเยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐ กล่าวว่า อัตราดอกเบี้ยอาจจำเป็นต้องปรับเพิ่มขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจสหรัฐร้อนแรงเกินไป อันเป็นผลมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐ

ทั้งนี้นับตั้งแต่ที่ไวรัสโควิด-19 เริ่มแพร่ระบาดในเดือนมีนาคมปีที่แล้ว สภาคองเกรสได้จัดสรรงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจไปแล้วประมาณ 5.3 ล้านล้านดอลลาร์ นอกจากนี้ประธานาธิบดีสหรัฐ นายโจ ไบเดน ยังได้พยายามผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงินรวม 4 ล้านล้านดอลลาร์เพื่อเยียวยาชาวสหรัฐที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ขณะที่เพิ่มการจ้างงานและการลงทุนในโครสร้างพื้นฐานด้วย

สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเผยว่าคำสั่งซื้อภาคโรงงานของสหรัฐปรับตัวเพิ่มขึ้น 5.8 พันล้านดอลลาร์ หรือ 1.1% เมื่อเทียบเป็นรายเดือน แตะ 5.129 แสนล้านดอลลาร์ในเดือนมีนาคมจากที่คาดว่าจะเพิ่ม 1.3%

ขณะที่กระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานว่า สหรัฐขาดดุลการค้าเพิ่มขึ้น 5.6% แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 7.44 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เนื่องจากความต้องการในสหรัฐปรับตัวเพิ่มขึ้นจนทำให้ต้องนำเข้าเพิ่มขึ้น จากที่คาดการณ์ว่า สหรัฐอาจขาดดุลการค้าเพิ่มขึ้นอีกเมื่อเศรษฐกิจสหรัฐ ฟื้นตัวขึ้นมากกว่าประเทศอื่น ๆ

และเมื่อแยกตามหมวดแล้ว สหรัฐส่งออกเพิ่มขึ้น 6.6% แตะ 2 แสนล้านดอลลาร์ ขณะที่นำเข้าเพิ่มขึ้น 6.3% แตะ 2.745 แสนล้านดอลลาร์

สำหรับค่าเงินบาทยังเคลื่อนไหวในทิศทางอ่อนค่าหลังวันหยุดยาวในวันแรงงาน และวันฉัตรมงคล ทำให้เกิดแรงขายทำกำไรเพื่อลดความเสี่ยงเนื่องจากยังไม่รู้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ในประเทศจะเป็นอย่างไรบ้างในช่วงวันหยุด

นอกจากนี้ ตลาดคาดว่าเม็ดเงินจะไหลออกจากเอเชีย หลังตัวเลข GDP สหรัฐออกมาดี ขณะที่นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง.วันนี้ว่า คณะกรรมการมีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปี โดยประเมินว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงมากจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 3 ซึ่งส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายในประเทศและแนวโน้มการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยว

ทั้งนี้ กนง.เห็นว่าโจทย์สำคัญที่สุดของเศรษฐกิจไทย ณ ปัจจุบันคือการจัดหาและการกระจายวัคซีนให้เพียงพอและทันการณ์ในส่วนของด้านการเงิน มาตรการที่สำคัญคือการกระจายสภาพคล่องไปยังธุรกิจและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากการระบาดระลอกใหม่ โดยเฉพาะมาตรการสินเชื่อและการเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้จะช่วยลดภาระทางการเงินได้อย่างตรงจุดมากกว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่ปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำและยังสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

กนง.จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในการประชุมครั้งนี้ และรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงินที่มีจำกัดเพื่อใช้ในจังหวะที่เหมาะสมและเกิดประสิทธิผลสูงสุด โดยระหว่างวันค่าเงินบาทปรับตัวระหว่าง 31.06-31.22 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 31.09/12 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (5/5) ที่ระดับ 1.2017/21 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (30/4) ที่ระดับ 1.3017/21 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในกรอบแคบ แม้ว่าจะมีการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่สดใส

โดยไอเอชเอส มาร์กิตซึ่งเป็นบริษัทให้บริการข้อมูลทางการเงิน เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายของยูโรโซนปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 62.9 ในเดือนเมษายน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่เริ่มมีการรวบรวมข้อมูลในเดือนมิถุนายน 2540 จากระดับ 62.5 ในเดือนมีนาคม ขณะที่ยอดค้าปลีกของเยอรมนีเพิ่มขึ้นรายปีมากที่สุดในเดือนมีนาคมนับตั้งแต่ไวรัสโควิด-19 เริ่มแพร่ระบาดในปีที่ผ่านมา

ขณะที่คณะกรรมาธิการยุโรปแนะนำให้ทำการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติจากประเทศต่าง ๆ จำนวนมากขึ้นเข้าสู่ยูโรโซน ซึ่งคาดว่าจะช่วยหนุนอุตสาหกรรมท่องที่ยวในฤดูร้อนนี้ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1984-1.2026 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.2007/09 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (5/5) ที่ระดับ 109.32/35 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (30/4) ที่ระดับ 108.58/60 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนอ่อนค่าลงจากการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ

โดยกระทรวงสาธารณสุขแรงงานและสวัสดิการของญี่ปุ่น รายงานเมื่อวันอังคาร (4/5) ว่า ญี่ปุ่นมีผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการรุนแรงจำนวนมากถึง 1,050 คนทั่วประเทศ ซึ่งเป็นจำนวนที่มากที่สุดนับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19

ขณะที่กระทรวงต่างประเทศญี่ปุ่นเปิดเผยว่า นายโทชิมิตสึ โมเดกิ รัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่นเตรียมประชุมกับนายแอนโธนี บลินเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐในวันนี้

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 109.18-109.47 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 109.34/36 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ 0.60/0.70 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยุ่ที่ 0.20/1.20 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ