แกนนำพท.ยกทีมแถลงจี้ทบทวน กม.อาญานักการเมือง ชี้ขัดหลักสากล จ่อยื่นนายกฯ

“เพื่อไทย” อ่านแถลงการณ์ขอให้ทบทวนและแก้ไขเนื้อหาของร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จ่อยื่นเรื่องถึงนายกฯ 19 ก.ค.นี้

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 18 กรกฎาคม ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) พ.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ รักษาการหัวหน้าพรรค นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรค นายชูศักศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมาย นายโภคิน พลกุล คณะทำงานฝ่ายกฎหมาย และนายนพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ร่วมอ่านแถลงการณ์ของพรรค พท. เรื่องขอให้ทบทวนและแก้ไขเนื้อหาของร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. ….

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 18 กรกฎาคม ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ รักษาการหัวหน้าพรรค พร้อมด้วยนายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรค นายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมาย นายโภคิน พลกุล นายนพดล ปัทมะ แกนนำพรรค ร่วมแถลงข่าวพร้อมออกแถลงการณ์พรรค พท. เรื่องขอให้ทบทวนและแก้ไขเนื้อหาของร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. ….

โดยนายชูศักดิ์อ่านแถลงการณ์ว่า ตามที่ สนช.ได้มีมติให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. … เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม โดยมีสาระสำคัญบางประการที่แตกต่างไปจากร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญเดิม และหลักการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะเรื่องอายุความ การให้ศาลมีอำนาจพิจารณาคดีลับหลังจำเลย และการตรากฎหมายย้อนหลังที่เป็นโทษกับบุคคล พรรคเพื่อไทยเห็นว่าภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 27 ซึ่งบัญญัติว่า “บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย มีสิทธิและเสรีภาพและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน” และปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ข้อ 7 ซึ่งกำหนดว่า “ทุกคนเสมอภาคกันตามกฎหมายและมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองของกฎหมายเท่าเทียมกัน โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติใด…” ข้อ 10 ที่กำหนดว่า “ทุกคนย่อมมีสิทธิในความเสมอภาคอย่างเต็มที่ในการได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมและเปิดเผย…” รวมถึงกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 14 วรรคหนึ่ง ซึ่งกำหนดว่า “บุคคลทั้งปวงย่อมเสมอกันในการพิจารณาของศาลและคณะตุลาการในการพิจารณาคดีอาญา ซึ่งตนต้องหาว่ากระทำผิด…” ซึ่งประเทศไทยโดยรัฐธรรมนูญทุกฉบับได้บัญญัติรับรองและผูกพันต่อพันธกรณีระหว่างประเทศดังกล่าว รวมถึงคำประกาศของผู้นำประเทศคนปัจจุบัน และแม้แต่เนื้อหาของร่างสัญญาประชาคมก็ยังระบุไว้เช่นเดียวกัน

นายชูศักดิ์กล่าวว่า พรรค พท.มีความเห็นว่า 1.การยกเว้นไม่นำหลักเรื่องอายุความที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญาซึ่งเป็นกฎหมายสาระบัญญัติ มาใช้บังคับกับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นการเฉพาะ ขัดต่อหลักที่กล่าวมาข้างต้น นอกจากนี้การที่กฎหมายที่มีการกำหนดอายุความในทางอาญาหรือแม้แต่ในทางแพ่ง ล้วนมีเจตนารมณ์ไม่ต้องการให้นำคดีมาว่ากล่าวกันเมื่อใดก็ได้ เช่นอีก 30 ปี หรือ 50 ปีข้างหน้า ซึ่งจะเป็นไปไม่ได้เลยที่คู่ความหรือผู้เกี่ยวข้องในคดีจะสามารถนำพยานหลักฐานมาพิสูจน์ข้อเท็จจริง เช่น พยานเอกสารอาจสูญหาย บุคคลอาจจะเสียชีวิตหรือไม่สามารถจำสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตนานๆ ได้อย่างถูกต้อง อันจะกระทบการต่อการอำนวยความยุติธรรมอย่างร้ายแรง การบัญญัติกฎหมายในลักษณะดังกล่าวยังทำให้เกิดความลักลั่นในการบังคับใช้และเป็นการเลือกปฏิบัติ

นายชูศักดิ์กล่าวต่อว่า 2.การกำหนดให้ศาลมีอำนาจพิจารณาคดีลับหลังจำเลยได้ โดยไม่ต้องมีตัวจำเลยมาศาลหรืออยู่ในอำนาจศาล ซึ่งแตกต่างไปจากการพิจารณาคดีอาญาทั่วไป รวมถึงคดีที่อยู่ในอำนาจศาลคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ซึ่งใช้บังคับกับข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐด้วย ที่กำหนดว่าการพิจารณาและสืบพยานในศาลให้กระทำโดยเปิดเผยต่อหน้าจำเลย แต่ตามร่างกฎหมายนี้กลับยกเลิกหลักการดังกล่าว โดยกำหนดให้ศาลรับฟ้องโดยไม่ต้องมีตัวจำเลยมาศาล และพิจารณาสืบพยานจนถึงการพิพากษาคดีไปได้ ทั้งที่หลักการพิจารณาและสืบพยานต้องกระทำต่อหน้าจำเลยนั้น เป็นหลักยุติธรรมสากล ที่มีขึ้นเพื่อเป็นหลักประกันคุ้มครองสิทธิของจำเลย อันเป็นสาระสำคัญของหลักนิติธรรมและหลักการพื้นฐานในกระบวนการพิจารณาคดีอาญา ซึ่งหลักการดังกล่าวได้รับการรับรองไว้ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 14 วรรคสาม (d) อย่างชัดเจนว่า “ในการพิจารณาคดีอาญาบุคคลทุกคนซึ่งต้องหาว่ากระทำผิดย่อมมีสิทธิที่จะได้รับหลักประกันขั้นต่ำดังต่อไปนี้โดยเสมอภาค… (d) สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาต่อหน้าบุคคลนั้น…” แต่ร่างกฎหมายนี้กลับยกเว้นหลักการดังกล่าว ทำให้การพิสูจน์ความจริงของศาลสามารถกระทำได้เพียงฝ่ายเดียว โดยไม่ต้องฟังความจากฝ่ายจำเลยแต่ประการใด

Advertisment

นายชูศักดิ์กล่าวอีกว่า 3.การกำหนดให้ร่างกฎหมายนี้มีผลใช้บังคับย้อนหลังทั้งๆ ที่ร่างเดิมของ กรธ.ไม่ได้กำหนด จึงเป็นการตรากฎหมายที่มีผลย้อนหลังเป็นโทษต่อบุคคล ขัดกับหลักนิติธรรมอย่างชัดเจน แม้จะอ้างว่าเป็นเรื่องของวิธีพิจารณาแต่ก็ไม่สามารถทำได้เพราะว่าเรื่องอายุความก็ดี การพิจารณาคดีที่ต้องทำต่อหน้าจำเลยก็ดี หากบัญญัติกฎหมายฉบับใหม่ย้อนหลังไปใช้บังคับอันมีลักษณะเป็นการจำกัดตัดสิทธิจำเลย เพื่อทำให้จำเลยเสียเปรียบในคดีอาญา ย่อมถือว่าเป็นการตรากฎหมายย้อนหลังเป็นโทษทั้งสิ้น ทั้งนี้ พรรค พท.ตระหนักว่าการทุจริตและประพฤติมิชอบ เป็นภัยอันร้ายแรงของชาติ และเห็นด้วยต่อการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในทุกรูปแบบ แต่จะต้องกระทำโดยยึดหลักนิติธรรม รัฐธรรมนูญและพันธะกรณีระหว่างประเทศโดยเคร่งครัด มิเช่นนั้นจะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาอย่างร้ายแรง ไม่เป็นที่ยอมรับของนานาอารยประเทศ ซึ่งพรรคจะได้นำเรื่องดังกล่าวเสนอไปยังองค์กรระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนเพื่อพิจารณาต่อไป ขณะเดียวกันก็จะทำหนังสือไปยังนายกฯ โดยเร็วที่สุด ซึ่งอาจจะเป็นวันที่ 19 กรกฎาคมนี้ เพื่อขอให้ส่งความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้พิจารณาวินิจฉัยว่าร่างกฎหมายดังกล่าวขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ด้วย

เมื่อถามว่า ทาง สนช.เองระบุว่ากฎหมายฉบับนี้ก็ให้ประโยชน์ตรงที่สามารถรื้อคดีขึ้นมาพิจารณาใหม่ได้ นายชูศักดิ์กล่าวว่า คิดว่าหลักการสำคัญที่เราพูดกันอยู่ในขณะนี้ คือหลักสากล ที่กฎหมายไม่มีผลย้อนหลังในทางที่เป็นโทษ และหลักความเสมอภาค สิ่งที่ สนช.ได้พูดไปนั้นตนคิดว่าเป็นการกลับหลักกัน เพราะโดยหลักทั่วไปแล้วบุคคลพึงได้รับการพิจารณาคดีต่อหน้าจำเลย แต่ที่พูดมานั้นกลับหลักกัน เหมือนเอาข้อยกเว้นมาพูดเป็นหลัก

Advertisment

ด้านนายโภคินกล่าวว่า เรื่องการรื้อฟื้นคดีอาญาใหม่นั้น แม้กฎหมายฉบับนี้ไม่มีระบุไว้ เราก็มีกฎหมายว่าด้วยการรื้อฟื้นคดีอาญา ซึ่งตรงนี้เป็นกฎหมายทั่วไป และการดำเนินคดีอาญา ถ้ามาแบ่งว่ากลุ่มนี้เป็นอีกอย่าง อีกกลุ่มเป็นอีกอย่าง หรือแม้แต่เรื่องทุจริตด้วยกันถ้าข้าราชการเปิดเผย แต่ถ้านักการเมืองลับหลังได้ ตนเห็นว่ามันลักลั่นและเลือกปฏิบัติ ดังนั้น ข้อดีที่ สนช.ว่าจะเขียนหรือไม่เขียนทุกคนก็มีสิทธิที่จะรื้อฟื้นคดีอาญาอยู่แล้ว

เมื่อถามว่า สาระมุ่งไปที่การปราบปรามการทุจริตของนักการเมือง ตรงนี้มองอย่างไร นายโภคินกล่าวว่า กฎหมายมี 2 ลักษณะ คือ สารบัญญัติคือกฎหมายที่กำหนดความผิด กำหนดโทษ และบัญญัติ หรือวิธีพิจารณา ประเด็นสำคัญคือเรื่องอายุความนั้น กำหนดในประมวลกฎหมายอาญาซึ่งเป็นกฎหมายสาระบัญญัติ ซึ่งทั้งโลกเขาต้องจำกัดอายุความไว้ เพราะเกี่ยวกับการค้นหา และการนำสืบพยานหลักฐาน โดยบางคดีเกี่ยวกับพยานบุคคลถ้านานเกินไปหาพยานเสียชีวิตไปจะทำอย่างไร ทั้งนี้ ที่ผ่านมาประเทศเราไม่เคยมีการพิจารณาคดีลับหลัง และให้กฎหมายมีผลย้อนหลัง แต่มาทำครั้งนี้โดยบอกว่าปัญหาการทุจริตเป็นเรื่องร้ายแรงจึงต้องใช้กับเรื่องนี้ และใช้กับนักการเมืองเท่านั้น ถามว่าเราตอบโจทย์ถูกต้องหรือไม่ การทุจริตเกิดจากฝ่ายเดียว หรือหลายๆ ฝ่าย เราไม่ได้มองเพราะหลายท่านเป็นนักการเมือง แต่เรามองถึงตัวระบบกฎหมายก่อน

เมื่อถามว่า ที่ผ่านมามีกรณีที่นักการเมืองโดนคดีแล้วหนีคดีไป นายโภคินกล่าวว่า เราสร้างหลักอะไรก็ตาม ต้องไม่ขัดต่อหลักการใหญ่ และต้องตอบได้ทุกโจทย์ ทุกจุด ทั้งนี้ เราต้องการเห็นการปราบทุจริตอย่างจริงจัง แต่ต้องไปดูว่ารากฐานอยู่ตรงนั้นใช่หรือไม่ ที่บอกว่าแก้ตรงนี้แล้วจะแก้ปัญหาทุจริตได้ ถ้าหลักนี้กับคนนี้ปฏิบัติอย่าง แต่อีกครปฏิบัติอย่าง ถามว่าอย่างนี้ถูกต้องหรือไม่

เมื่อถามว่า คิดว่าตอนที่ สนช.พิจารณากฎหมาย สนช.คิดถึงหน้าใครหรือไม่ นายโภคินกล่าวว่า อันนี้ตนไม่ทราบ ตนทราบเพียงแต่ว่า หากเราเป็นนักกฎหมายแล้วเราอ่าน เราดูว่าของทั่วโลกเขาเป็นอย่างไร เราก็พยายามทำให้ของเราเป็นหลักสากล

เมื่อถามว่า สนช.ให้เหตุผลว่าที่ต้องเข้มงวดกว่าปกติเพราะนักการเมืองเป็นผู้มีอิทธิพล ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อรูปคดี พยาน ฯลฯ นายโภคินกล่าวว่า หากตอบแบบตรงไปตรงมา ถามว่ามีโอกาสเป็นอย่างนั้นบ้างหรือไม่ ก็ต้องบอกว่า อาจมีบ้างในบางกรณี แต่ในกรณีที่ไม่มี เขาก็ต้องรับผลแบบนี้ไปด้วยใช่หรือไม่ เพราะปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นก็มาจาก 3 โจทย์ใหญ่ คือ พ่อค้า ข้าราชการ และผู้มีอำนาจทางการเมือง ไม่ว่าจะมาจากระบบเลือกตั้งหรือไม่เลือกตั้ง ซึ่งเราก็ต้องไปดูว่าส่วนอื่นๆ เราจะป้องกันอย่างไร เราตอบโจทย์ถูกต้องหรือไม่ ถ้าเราตอบโจย์ไม่ถูกต้อง ยิ่งจะทำให้ปัญหาไปกันใหญ่ เราพยายามแก้ปัญหาโดยการลงโทษให้หนักขึ้นเรื่อยๆ แทนที่จะรอบคอบ และสร้างระบบอะไรที่ยั่งยืน ตนคิดว่าหากเราใช้หลักกฎหมายธรรมดา แล้วทำกันอย่างจริงจัง เคร่งครัด ตนคิดว่าพอเพียง แต่พอเราใช้กฎหมายพิเศษไม่คิดหรือว่าจะยิ่งสร้างปัญหาไปกันใหญ่

เมื่อถามว่า มีการระบุว่าไม่ได้ตัดสิทธิจำเลย โดยจำเลยสามารถแต่งตั้งทนายขึ้นมาต่อสู้ แต่หากหนีแปลว่าไม่พร้อมที่จะเข้าสู่กระบวนการ นายโภคินกล่าวว่า หากเราดูรัฐธรรมนูญปี 40 ถึงขนาดที่ว่า คนที่ไม่ได้นั่งในองค์คณะที่พิจารณาคดีตัดสินคดีไม่ได้ นั่นเพราะว่าหากจะยุติธรรมที่สุด ผู้พิพากษาทุกคนต้องได้เห็นหน้า ได้ฟังจบเลยจากปาก ได้ดูสำนวนด้วยตัวเองทั้งหมด ซึ่งจะทำให้คนที่ตัดสินคดีมีวิจารณญาณในการตัดสินคดีได้มากกว่า

เมื่อถามว่า เราจะป้องกันอย่างไรไม่ให้นักโทษหนีคดี นายโภคินกล่าวว่า อย่างทุกวันนี้ ศาลก็ไม่ให้เดินทางออกนอกประเทศ และศาลมีดุลพินิจที่จะไม่ให้ประกัน ส่วนพฤติกรรมส่วนตัวที่จะเกิดแบบนั้นก็เกิดขึ้นได้กับทุกกรณีกับทุกคน ไม่ว่าคดีใดๆ ก็ตาม

เมื่อถามว่ามีข้อเสนอแนะอะไรในเรื่องกฎหมายนี้อย่างไร เพื่อป้องกันการหลบหนีคดี และเรื่องการจำหน่ายคดี ทั้งตัวจำเลยและตัวบทกฎหมาย นายนพดลกล่าวว่า การแก้ไขเรื่องการพิจาณาลับหลังหรือเรื่องอายุความเป็นการแก้ไขชั้นกรรมาธิการ ฉะนั้นเราคิดว่าร่างแรกของ กรธ.ที่เสนอไปไม่ได้มีเงื่อนไขดังกล่าวเหล่านี้ ตนคิดว่ากลไกที่มีอยู่ก็พอเพียงกับการจัดการเรื่องของการทุจริต ซึ่งร่างของ กรธ.ไม่ได้มีเรื่องมีผลย้อนหลังหรือไต่สวนลับหลัง แต่โดยหลักเราคิดว่าหลักการพิจารณาคดีควรให้จำเลยได้ต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ อีกทั้งการกำหนดอายุความมีหลักการให้กระบวนการแสวงหาข้อเท็จจริงอยู่ในระยะเวลาพอสมควรและพยานหลักฐานไม่สูญหาย เมื่อถามว่าร่างแรกก็มีให้ไต่สวนลับหลัง แต่ไม่มีผลย้อนหลัง นายนพดลกล่าวว่า เอาเป็นว่ามีหลายร่าง แต่การไต่สวนลับหลังหรือไม่ไต่สวนต่อหน้าโจทย์ เป็นหลักการที่น่าจะขัดต่อรัฐธรรมนูญ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมือง ซึ่งเป็นพันธะผูกพันที่ประเทศไทยต้องปฏิบัติตาม
ด้านนายภูมิธรรม เวชยชัย กล่าวว่า ขอให้ยึดหลักการของปัญหาทางกฎหมายและให้คิดถึงสิทธิต่างๆ ของจำเลยและผู้ถูกกล่าวหา ที่ผ่านมาเราคำนึงผู้ถูกกล่าวหาทุกคนเป็นผู้บริสุทธิ์ แต่วิธีการและกระบวนการต่างๆ เปรียบเสมือนว่ากล่าวหาใครแล้วคนนั้นเป็นจำเลยไปแล้ว เราเอาข้อยกเว้นต่างๆ ขึ้นมาเป็นหลักทั่วไปทั้งหมด ซึ่งขัดกับหลักสากลที่ทั่วโลกเขายึดถือ ส่งผลต่อความเชื่อมั่นต่อต่างประเทศ ซึ่งหากเอาผู้บริสุทธิ์ไปเข้าคุกเพราะตัดสินผิดไป จะเป็นเรื่องร้ายแรงมาก ส่วนที่ สนช.ออกกฎหมายแบบนี้เพราะคิดถึงคดีของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ หรือไม่นั้น เราไม่ได้พิจารณาในเรื่องตัวบุคคล แต่สิ่งที่เราพูดคือไทยจะอยู่ร่วมกับสังคมโลกอย่างไร จะมีระบบกฎหมาย ระบบยุติธรรมทั้งหมดอย่างเหมาะสมที่ทำให้ทั่วโลกเชื่อถือได้อย่างไร เพราะปัญหาของไทยที่ผ่านมาคือปัญหาเรื่องความเชื่อมั่น มีหลักนิติธรรมในการที่จะทำให้ประเทศเดินไปข้างหน้าแล้วเป็นที่ไว้วางใจของนานาอารยะประเทศ ถ้าเรายังไม่คำนึงถึงหลักนี้ แล้วไปเที่ยวไล่ล่าตัวบุคคล ปัญหาทั้งประเทศไม่ว่าจะเรื่องความเชื่อมั่น เรื่องความปรองดอง การยอมรับต่างๆ จะเกิดขึ้นหรือไม่

เมื่อถามว่า ที่ผ่านมากระทรวงการต่างประเทศพยายามร้องขอประเทศต่างๆให้ส่งตัวนายทักษิณกลับมาดำเนินคดีในประเทศไทยแต่ถูกปฏิเสธจากนานาประเทศ คิดว่าสาเหตุมาจากเรื่องใด นายภูมิธรรมกล่าวว่า ต้องไปทบทวนว่าที่เรากล่าวหาเขาด้วยข้อกฎหมายใด แล้วต่างประเทศมองว่าการที่จะดำเนินการทางคดีกับบุคคลต่างๆ ทำโดยผิดกฎหมายข้อใดหรือเขามองว่าเป็นคดีการเมืองก็ต้องไปพิจารณาดู นายโภคินกล่าวกรณีที่ผู้ต้องหาหลบหนีแล้วจะทำอย่างไรว่า เรื่องนี้สามารถส่งผู้ร้ายข้ามแดนได้ ถ้ามีข้อตกลงและมีพันธะกรณีต่อกัน แต่ก็ต้องดูว่าทำไมเขาถึงไม่ส่งผู้ร้ายข้ามแดนให้ ต้องไปดูว่าหลักกฎหมายเราถูกต้องหรือไม่ ซึ่งในต่างประเทศก็เกิดขึ้นเหมือนกันว่า พอเกิดการส่งผู้ร้ายข้ามแดน แล้วกฎหมายบอกดำเนินคดีลับหลังได้ อีกประเทศเขาไม่ส่งให้ เราต้องวางหลักกฎหมายที่นานาอารยะประเทศเขารับรองก่อน ซึ่งคนหลบหนีไม่รู้จะไปห้ามได้ตรงไหน ทั้งนี้หากหลักกฎหมายเราวางไม่ถูกต้องอาจเป็นประเด็นที่ต่างชาติเขาไม่ยอมส่งผู้ร้ายข้ามแดนได้ ถ้าวางถูกต้องประเด็นกฎหมายจะไปได้ด้วยกันทั้งหมด

เมื่อถามว่าจะยื่นเรื่องนี้ไปให้ ป.ป.ช.พิจารณาก่อนตั้ง กมธ.ร่วมกับ กรธ.หรือไม่ นายชูศักดิ์กล่าวว่า คงเสนอไปถึงนายกฯ เพราะเราคิดว่าท้ายที่สุดกฎหมายนี้คงจะผ่านไปเพื่อให้ส่งความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเป็นหลัก

 

ที่มา : มติชนออนไลน์