ความท้าทายหรือโอกาสอาหารไทย

คอลัมน์ Smart SMEs

ดวงกมล ลิมป์พวงทิพย์
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา

 

ธุรกิจอาหารในประเทศไทยเป็นอุตสาหกรรมที่มีขนาดใหญ่ โดยในปี 2563 นั้นมีมูลค่าตลาดถึงกว่า 8.2 แสนล้านบาท และยังเป็นอุตสาหกรรมที่มีธุรกิจกระจายหลายระดับตั้งแต่ผู้ประกอบการรายย่อยจนถึงผู้ประกอบการรายใหญ่ ทั้งในหลายรูปแบบตั้งแต่ผู้ผลิตวัตถุดิบ ผู้แปรรูป ผู้จัดจำหน่าย ผู้ส่งออกนำเข้า รวมถึงมีการจ้างงานที่สูงมากเป็นอันดับต้นเลยทีเดียว จึงกล่าวได้ว่าอุตสาหกรรมอาหารของไทยมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจเป็นอย่างยิ่ง

โดยธนาคารกรุงศรีอยุธยาเล็งเห็นความสำคัญในเรื่องนี้ จึงได้จัดกิจกรรมเพื่อให้ข้อมูล ความรู้ มุมมองให้แก่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหารผ่านการสัมมนาออนไลน์ Krungsri Business Talk : Food for The Future เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

ซึ่งก็มีเนื้อหาส่วนหนึ่งที่น่าสนใจที่ดิฉันอยากมาเล่าสู่กันฟังก็คือ เรื่องแนวโน้มอุตสาหกรรมอาหารกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ซึ่งเป็นผลจากเมกะเทรนด์ของโลกเพื่อให้ผู้ประกอบการธุรกิจอาหารของไทยได้นำข้อมูลไปใช้เตรียมความพร้อม ปรับธุรกิจและสร้างข้อได้เปรียบในการแข่งขันสู่โอกาสธุรกิจที่อาจจะเกิดขึ้น โดยเมกะเทรนด์ของโลกที่ว่านั้นมี 5 ประการใหญ่ ๆ ได้แก่ เทคโนโลยี สุขภาพ ธรรมชาติ ประชากร ระเบียบโลก

ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีถือเป็นส่วนสำคัญในธุรกิจ อุตสาหกรรมอาหารจำเป็นต้องนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพธุรกิจเช่นกัน ไล่ตั้งแต่ช่วยการผลิต เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต พัฒนาปรับปรุงผลิตภัณฑ์ ตรวจสอบวัตถุดิบและอาหาร เพิ่มคุณสมบัติอาหาร ไปจนถึงการซื้อขาย

ซึ่งปัจจุบันเทคโนโลยีที่มีการกล่าวถึงเป็นอย่างมากก็คือ nanotechnology หรือ bioengineering ที่ถูกนำมาใช้เพิ่มคุณสมบัติหรือคุณค่าของอาหาร การเพาะเลี้ยงเซลล์ การเกษตรในสภาพแวดล้อมที่เป็นไปไม่ได้ พืชตัดต่อพันธุกรรม

ทั้งนี้ เทคโนโลยียังหมายรวมที่เกี่ยวกับฝั่งผู้บริโภค เช่น การให้ลูกค้าสามารถตรวจสอบความน่าเชื่อถือในคุณภาพและที่มาของอาหารผ่านเทคโนโลยี blockchain

ด้านสุขภาพจะเห็นได้ว่าในปัจจุบันผู้คนให้ความสำคัญกับสุขภาพเพิ่มมากขึ้น มองว่าอาหารเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อสุขภาพโดยตรง ไม่ได้มองหาเพียงความอร่อยเท่านั้น ผู้บริโภคมองหาอาหารที่ให้คุณค่าเชิงป้องกัน เสริมสร้างและฟื้นฟูหรือรักษาสุขภาพ ให้ความสำคัญไปจนถึงคุณค่าทางโภชนาการของส่วนประกอบ มาตรฐานการผลิตที่ให้คุณค่าอาหารที่สูงขึ้น ก่อให้เกิดอาหารทางเลือกต่าง ๆ เช่น อาหารดูแลรูปร่าง อาหารโพรไบโอติกส์ อาหารจากกัญชง อาหารตามยีนแต่ละบุคคล อาหารทางการแพทย์ โปรตีนทางเลือก อาหารเสริมโปรตีนหรือวิตามิน

ธรรมชาติ ซึ่งในที่นี้ก็คือ สิ่งแวดล้อม ความยั่งยืน ภัยพิบัติ ภัยแล้ง ขยะของเสีย สิ่งเหล่านี้ในปัจจุบันถือเป็นปัญหาใหญ่ในสังคมโลกที่ต้องร่วมด้วยช่วยกัน ทำให้ผู้บริโภคคาดหวังสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ได้แก่ อาหารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมรวมถึงการผลิตจะต้องไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม เกษตรอินทรีย์ เกษตรฟื้นฟู คำนึงถึงความยั่งยืนและรับผิดชอบต่อสังคม ไม่ทารุณกรรมสัตว์ การจัดการความสูญเสียและขยะจากอาหาร รวมไปถึงการสนับสนุนวัตถุดิบหรือการผลิตในชุมชน

ประชากร ทั้งในเรื่องโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนไปสู่ความหลากหลายมากขึ้น ประชากรที่เพิ่มขึ้น การเพิ่มขึ้นของชุมชนเมืองจึงมีความต้องการอาหารที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นอาหารที่ตอบโจทย์ตามความหลากหลายทางวัฒนธรรม ความเชื่อ อาหารที่สามารถผลิตได้ครั้งละจำนวนมาก อาหารที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตที่เร่งรีบ อาหาร DIY อาหารสังเคราะห์

ระเบียบโลก ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่สำคัญโดยเฉพาะธุรกิจที่มีการส่งออกไปต่างประเทศ จะต้องคำนึงและศึกษาถึงกฎระเบียบ ข้อกำหนดการค้า การผลิต ประเด็นที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม หรือแม้กระทั่งรูปแบบธุรกิจการตลาดที่หลากหลายและซับซ้อนมากยิ่งขึ้น โดยต้องเป็นอาหารรวมถึงส่วนประกอบที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย โดยผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจถูกต้องตามกฎหมาย

และเมื่อมองจากแนวโน้มอุตสาหกรรมอาหารโลกแล้ว กลับมามองที่ประเทศไทย เชื่อว่าธุรกิจอาหารของไทยเรานั้นถือว่ามีศักยภาพในหลายเรื่องที่กล่าวมา ขอเพียงผู้ประกอบการตระหนัก พร้อมปรับเปลี่ยน ตื่นตัว แสวงหาข้อมูลความรู้เพิ่มเติม จับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปได้เร็ว กล้านำเทคโนโลยีใหม่มาใช้เพื่อสร้างความแตกต่างและข้อได้เปรียบให้กับธุรกิจ ก็จะเป็นผู้ชนะทั้งในตลาดปัจจุบัน อนาคต และตลาดโลกได้

ทั้งนี้ ดิฉันได้นำเนื้อหาเพียงบางส่วนจากสัมมนามาเล่าสู่กันฟัง หากท่านที่สนใจชมคลิปสัมมนานี้แบบเต็ม ๆ สามารถรับชมผ่านช่องทาง Krungsri Business Empowerment Facebook ซึ่งได้มีข้อมูลความรู้อื่น ๆ ทั้งจากสัมมนาหลายครั้งที่ผ่านมาและบทความเพื่อธุรกิจแบบจัดเต็มที่เป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการธุรกิจด้วยเช่นกัน