PRI เผยผลสำรวจปี”60 ไทยรั้งเบอร์ 5 ด้านความสัมพันธ์การใช้ชีวิต

พรูเด็นเชียลประกันชีวิตเผยผลสำรวจดัชนีความสัมพันธ์ในการใช้ชีวิตประจำปี60 จากกลุ่มตัวอย่าง 4,600 คน ไทยรั้งอันดับ 5 จาก 9 ประเทศในเอเชียด้วยคะแนน 70 คะแนน ลดลง 1 คะแนนจากปีก่อน ขณะ 30% ยังเกิดช่องว่างในความสัมพันธ์ โดยกัมพูชารั้งเบอร์ 1 ในขณะจีนตกอยู่อันดับสุดท้าย หวั่นเทคโนโลยี-สุขภาพกระทบความสัมพันธ์

นายอามัน โชวลา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.พรูเด็นเชียลประกันชีวิต เปิดเผยว่า จากผลสำรวจดัชนีความสัมพันธ์พรูเด็นเชียลประจำปี 2560 (Prudential Relationship Index) จากกลุ่มตัวอย่าง 4,600 คน จาก 9 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา จีน ฮ่องกง อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม โดยดำเนินการสัมภาษณ์ผู้ใหญ่อายุระหว่าง 25-55 ปี ในช่วงวันที่ 26 มิถุนายน – 20 กรกฎาคม 2560 ในเมืองสำคัญของแต่ละประเทศ สำหรับในประเทศไทย มีการสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่างรวม 500 คน ผ่านช่องทางออนไลน์ โดยผู้ตอบแบบสอบถามเป็นผู้ที่พักอาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งเป็นตัวแทนราว 2 ใน 3 ของผู้ที่มีรายได้ครัวเรือนระดับบนในกรุงเทพฯ

โดยในปีนี้ไทยยังคงอยู่ในอันดับที่ 5 จาก 9 ประเทศในเอเชีย และได้คะแนนความสัมพันธ์ดัชนี PRI อยู่ที่ 70 จาก 100 คะแนน ลดลง 1 คะแนนจากปี 2016 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าโดยเฉลี่ยความสัมพันธ์หลักของผู้คนจะช่วยให้บรรลุ 70% ของความต้องการที่ปรารถนา ส่งผลให้เกิด “ช่องว่างในความสัมพันธ์” อยู่ที่ 30% ในประเทศไทย โดยคะแนนดัชนี PRI ที่สูงที่สุดตกเป็นของประเทศกัมพูชาและฟิลิปปินส์ ในขณะจีนตกอยู่ในอันดับสุดท้าย

“ทั้งนี้ในยุคที่ดิจิทัลเข้ามามีบทบาทกับชีวิตคนอย่างรวดเร็ว ทำให้ความสัมพันธ์ของคนไทยนั้นสั่นคลอนมากขึ้น และเทคโนโลยีซึ่งรวมไปถึงโซเชียลมีเดียเป็นสาเหตุอันดับที่ 2 ในการทะเลาะกันของคู่รักในไทยหรือคิดเป็น 36% ของคู่รักที่ตอบแบบสอบถามโต้เถียงกันเรื่องเวลาที่ใช้ไปกับโทรศัพท์หรืออยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ โดยมี 37% ระบุว่าพวกเขามักจะรู้สึกไม่สบอารมณ์กับการโพสต์ข้อความของคนรักในโซเชียลมีเดีย ขณะที่ 46% ของคนไทยเห็นว่าคนในครอบครัวใช้เวลามากเกินไปกับโทรศัพท์แทนที่จะพูดคุยกัน และอีก 40% เชื่อว่าเวลาที่ใช้ไปกับอุปกรณ์ดังกล่าวมีผลกระทบเชิงลบต่อความสัมพันธ์ในครอบครัวของพวกเขา”

อย่างไรก็ตาม ความต่างระหว่างผู้ชายและผู้หญิงเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีนั้นค่อนข้างชัดเจนประมาณ 71% ของผู้ชายไทยกล่าวว่าพวกเขาเป็นคนที่ให้ความสนใจกับโทรศัพท์มากกว่าอีกฝ่ายเมื่อเทียบกับผู้หญิงอยู่ที่ 51%

นายอามัน กล่าวเพิ่มอีกว่า นอกจากนี้เรื่องการดูแลสุขภาพและความมั่นคงทางการเงินของคนที่เรารักเป็นสิ่งสำคัญอันดับต้นๆของคนไทยทุกคน เพราะกว่า 69% ของคนไทยกังวลว่าพวกเขาจะยังมีร่างกายแข็งแรงเมื่ออายุมากขึ้นหรือไม่ ในขณะ 34% ของคนไทยเชื่อว่าสุขภาพของพวกเขาจะแย่ลงในอีก 5 ปีข้างหน้า

และแม้ว่าจะมีความกังวลแต่ 61% ระบุว่าตนไม่กระตือรือร้นในการรักษาสุขภาพ เมื่อถามพวกเขาว่าถ้าคู่รักในเมืองไทยสามารถเปลี่ยนแปลงอะไรเกี่ยวกับคู่ของพวกเขาได้จะเป็นเรื่องอะไร มากกว่า 54% ระบุว่าต้องการให้คู่ชีวิตของตนมีสุขภาพที่ดีขึ้น

“อย่างไรก็ตาม จากดัชนีผลสำวจแสดงให้เห็นข้อมูลเชิงลึกและเข้าใจถึงความต้องการและข้อกังวลของกลุ่มลูกค้าในตลาด ถึงแม้ว่าสุขภาพจะเป็นปัจจัยหลัก แต่มากถึง 3 ใน 4 ของคนไทยหรือ 66% ยังคงกังวลถึงเงินเก็บว่าจะพอใช้ในวัยเกษียณไหม และอีก 55% ของผู้ตอบแบบสอบถามให้ความสำคัญกับการเก็บเงินไว้ใช้ในวัยเกษียณ ซึ่งผลสำรวจที่ได้นี้ช่วยเสริมสร้างความมุ่งมั่นของเราในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่หลากหลายตามความต้องการของลูกค้าเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้านการออม สุขภาพ ตลอดจนถึงความคุ้มครองชีวิต”นายอามันกล่าว