จับทิศทาง “หุ้น-ทอง-เงินบาท” หลังเฟดส่งสัญญาณ “ขึ้นดอกเบี้ย-ลดคิวอี”

ส่องทิศทาง “หุ้น-ทองคำ-ค่าเงินบาท” จะไปทางไหนต่อ หลังเฟดส่งสัญญาณเตรียมปรับขึ้นดอกเบี้ยเร็วขึ้น รวมถึงอาจหารือปรับลดคิวอีในเดือน ส.ค.นี้ 

หลังจากที่ประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่มีประชุมไปเมื่อวันที่ 16-17 มิ.ย.ที่ผ่านมา ส่งสัญญาณจะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเร็วขึ้น และเตรียมหารือลดวงเงินมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) ลง ปัจจัยดังกล่าว จะส่งผลกระทบต่อทิศทางการลงทุน ทั้งในตลาดหุ้น ทองคำ และ ค่าเงินบาท อย่างไรบ้าง บรรดาผู้เชี่ยวชาญแต่ละด้านได้วิเคราะห์ไว้ ดังนี้

ลดคิวอี กดดัน SET

โดย “นายมงคล พ่วงเภตรา” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เคทีบี (ประเทศไทย) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เฟดส่งสัญญาณเตรียมขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเร็วขึ้น

“เราเห็นภาพแล้วว่าปี 2566 เฟดขึ้นดอกเบี้ยแน่ ๆ เป็นกำหนดการเดิม แต่คิวอีที่เดิมเฟดกำหนดไว้ว่าจะเริ่มลดปี 2565 แต่ประชุมรอบนี้ไม่ได้พูดถึง ซึ่งถือเป็นการสร้างความคลุมเครือให้ตลาด โดยที่ตลาดตีความในทางลบไปเลย” นายมงคลกล่าว

ทั้งนี้ คาดว่าจะมีผลต่อตลาดหุ้นไทยช่วง 2-3 วันแรก แต่สัปดาห์หน้า (21-25 มิ.ย. 2564) คาดว่าตลาดหุ้นไทยน่าจะเสถียรและนิ่งขึ้นจากเรื่องนี้ แต่ตลาดคงไม่แรลลี่ เพราะนักลงทุนจะต้องไปไล่ตามกรรมการเฟดไปพูดตามเวทีต่าง ๆ รวมไปถึงนางเจเน็ต เยเลน รมว.คลังสหรัฐด้วย นอกจากนี้ ต้องติดตามการประชุมเฟดในแต่ละเดือนหลังจากนี้ที่จะมีติดต่อกัน 4 เดือน (มิ.ย.-ก.ย. 2564) ซึ่งหลายฝ่ายคาดว่าจะถูกส่งสัญญาณครั้งแรกในเวทีประชุมธนาคารกลางโลก (Jackson Hole) ช่วงปลายเดือน ส.ค. 2564

“ส่วนตัว ผมมองว่าเฟดควรจะส่งสัญญาณการลดคิวอีก่อน ในเดือน ก.ค. 2564 เพื่อจะลดคิวอีในเดือน ม.ค. 2565 เพราะต้องมีเวลาให้ทุกคนเตรียมตัว ถ้าเกิดเฟดไปส่งสัญญาณช่วงเดือน ส.ค. เฟดต้องกลับมาพิจารณาในเดือน ก.ย. ซึ่งจะไม่ทันต่อการลดคิวอี ในเดือน ม.ค. 2565 โดยโมเมนตัมตลาดหุ้นไทยในเดือน ก.ค. จะแกว่งตัวไซด์เวย์ เห็นได้ชัดหลังประชุมเฟดที่ผ่านมา นักลงทุนผันตัวเองถอยออกจากกลุ่มหุ้นที่ฟื้นตัวจากเศรษฐกิจ” นายมงคลกล่าว

ซึ่งหากย้อนไปในช่วงปี 2556 นายเบน เบอร์นันเก้ อดีตประธานเฟด ประกาศลดคิวอี ช่วงเดือน ก.ค. ตลาดหุ้นดิ่งลง 5% แค่เดือนเดียวและดีดตัวขึ้นยาว ประเมินว่ารอบนี้แพทเทิร์นน่าจะคล้ายเดียวกัน แต่ดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐจะไม่ตกแรงถึง 5% เพราะรอบนี้หุ้นวัฏจักรอาจจะไม่มาก และคนเตรียมตัวมาแล้ว

ส่วนหุ้นไทย ไม่ได้เกี่ยวข้องทางตรงและนำมาเทียบไม่ได้เพราะช่วงปี 2556 ไทยมีการชุมนุมของคนเสื้อแดง อาจจะมีผลในแง่เม็ดเงินลงทุนต่างชาติ (ฟันด์โฟลว์) หากตลาดหุ้นสหรัฐลงโฟลว์จะหาย และตลาดหุ้นไทยจะไม่ค่อยดี แต่ถ้าหุ้นสหรัฐดีดตัวขึ้นโฟลว์จะมาที่ตลาดหุ้นเอเชีย ซึ่งตลาดหุ้นไทยจะได้แรงหนุนจากการเปิดประเทศ ขณะเดียวกันเศรษฐกิจไทยฟื้นและกำไรบริษัทจดทะเบียนดีกว่าในหลายประเทศในภูมิภาคนี้

จับตาราคาสินค้าโภคภัณฑ์ฉุดหุ้นไทย

นายมงคล กล่าวต่อว่า จริง ๆ มีมมุมองว่าผลประชุมเฟดไม่ได้กระทบตลาดมากนัก แต่ช่วงนี้ประเด็นที่เข้ามากดดันตลาดหุ้นไทยแรงคือ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ (คอมมูนิตี้) หลังจีนพยายามคุมราคาคอมมูนิตี้ ส่งผลให้ราคาร่วงหนัก และลากหุ้นน้ำมันและหุ้นคอมมูนิตี้ไทยร่วง ซึ่งเป็นภัยร้ายอย่างแท้จริง

ขณะเดียวกันเมื่อคืนวันที่ 17 มิ.ย. 2564 เลขาหน้าห้องนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐ ออกมาพูดว่านายไบเดนกำลังพิจารณาเรื่องน้ำมันไบโอดีเซลและเอทานอล ใช้พืชมาก และแนวโน้มโลกจะมุ่งไปสู่พลังงานทดแทนสูง ทางสหรัฐจึงกลัวคนในธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันจะตกงานสูง

“กำลังคิดว่าอาจจะกำหนดสัดส่วนไบโอดีเซลและเอทานอลจะใช้พืชได้ไม่เกินกี่เปอร์เซ็นต์ สมมุติสหรัฐมีดีมานด์ข้าวโพดอยู่ 100 ล้านตัน อาจจะเอามาใช้เป็นพืชน้ำมันแค่ 20 ล้านตันเท่านั้น อีก 70 ล้านตันต้องบริโภคหรือส่งออก ซึ่งประเด็นเหล่านี้จะกระทบต่อราคาสินค้าเกษตรทั่วโลก” นายมงคลกล่าว

ทองดิ่งหนักเข้าสู่โหมด “ขาลง”

นายณัฐวุฒิ วงศ์เยาวรักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) โกลเบล็ก เปิดเผยว่า แนวโน้มราคาทองคำน่าจะตกอยู่ในภาวะซึม หรือทรงตัวไปจนกว่าจะมีการประชุมเฟดอีกครั้งในเดือน ส.ค. 2564 ซึ่งหากในเดือนดังกล่าวมีการปรับลดคิวอี ก็น่าจะเป็นแรงกระแทกที่สำคัญที่อาจจะทำให้ราคาทองร่วงลงแรงได้อีก โดยหลังจากประชุมเฟดเมื่อวันที่ 16-17 มิ.ย.ที่ผ่านมา ราคาทองคำต่างประเทศ (Gold Spot) ปรับตัวลดลงทันที

“ทองน่าจะจบรอบขาขึ้นแล้ว จากก่อนหน้านี้เคยคิดว่าจะเด้งกลับขึ้นไปได้ที่ 1,920-1,950 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ แต่พอไม่ได้ แล้วมีข่าวแบบนี้ ราคาลงแรงแบบนี้ จึงคิดว่าน่าจะจบรอบแล้ว” นายณัฐวุฒิกล่าว

ทั้งนี้ ตามรายงานของสมาคมค้าทองคำ ราคาทองปิดตลาดเมื่อวันที่ 16 มิ.ย. อยู่ที่ 1,858.50 ดอลลาร์ และ เปิดตลาดในวันที่ 17 มิ.ย. ที่ 1,823.50 ดอลลาร์ และปิดตลาดที่ 1,807 ดอลลาร์ ระหว่างวันปรับลงอย่างต่อเนื่องถึง 6 ครั้ง ก่อนจะปรับขึ้น 50 ดอลลาร์ก่อนตลาดปิด ต่อมาในวันที่ 18 มิ.ย. เปิดตลาดราคาทองร่วงลงไปที่ 1,783.50 ดอลลาร์ แต่ระหว่างวันมีการปรับตัวขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 1,792.50 ดอลลาร์

ค่าเงินบาทไซด์เวย์รอสัญญาณเฟด

ในส่วนของค่าเงินบาทนั้น “นางสาวรุ่ง สงวนเรือง” ผู้อำนวยการสายงานวางแผนโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ประเมินว่า ค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่า โดยมีโอกาสทดสอบระดับ 31.50 บาทต่อดอลลาร์ หรืออ่อนค่าไปมากกว่านี้ได้

“หลังการส่งสัญญาณของเฟด ส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าสุดที่ระดับ 31.41 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับอ่อนสุดนับตั้งแต่ 20 พ.ค. 2564 โดยเป็นการเคลื่อนไหวสอดคล้องกับทิศทางตลาดโลกในภาพรวม ส่วนแนวโน้มค่าเงินบาทระยะข้างหน้า อาจจะต้องคอยดูกันใหม่ ว่าตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐจะเป็นอย่างไร และเฟดจะมีถ้อยแถลงอะไรต่อ แต่ในระยะสั้นจะเห็นค่าเงินบาทอ่อนค่า” นางสาวรุ่งกล่าว

ขณะที่ “นางสาวพีรพรรณ สุวรรณรัตน์” ผู้ชำนาญการงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุนอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า รอบนี้สัญญาณเฟดค่อนข้างแข็งแรงมาก ว่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยเร็วขึ้น และจะหารือลดคิวอีเร็ว ๆ นี้ จึงคาดว่าแนวโน้มค่าเงินบาทระยะสั้น น่าจะเคลื่อนไหวไซด์เวย์ โดยเปิดตลาดและค้างอยู่แถว ๆ 31.33 บาท เหมือนกับค่าเงินทั่วโลกที่อ่อนค่า เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ

“ตอนนี้ที่ตลาดรอคือ เมื่อไหร่จึงจะเริ่มลดคิวอี ถึงตอนนั้นเงินดอลลาร์คงแข็งค่าต่อ และทำให้เงินบาทอ่อนค่า ซึ่งน่าจะเป็นช่วง Jackson Hole Symposium ที่จะมีประชุมใหญ่ วันที่ 26-18 ส.ค.นี้ เฟดอาจส่งสัญญาณลดคิวอี” นางสาวพีรพรรณกล่าว