ล็อกดาวน์เหมือนปี’63 หวั่นฉุด GDP ติดลบ-กำไร บจ. ต่ำสุด

ล็อกดาวน์เหมือนไตรมาส 2/63 หวั่นฉุด GDP ติดลบ-กำไร บจ. ไตรมาส 3 อาจต่ำสุดของปี

วันที่ 8 กรกฎาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทยวันนี้ช่วงเช้า (เวลา 11.49 น.) ดัชนี SET Index อยู่ที่ 1,558.83 จุด ปรับตัวลง 17.77 จุด หรือลดลง 1.13% ทำจุดต่ำสุดที่ 1,555.16 จุด มูลค่าการซื้อขายที่ 45,184.96 ล้านบาท

ติดเชื้อโควิดพุ่ง แนวโน้มสู่ล็อกดาวน์คล้าย Q2/63 ที่เข้มงวดนาน 38 วัน

บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซียพลัส จำกัด เผยแพร่รายงานว่า สัญญาณการเพิ่มความเข้มงวดมาตรการควบคุมการระบาดมีให้เห็นอย่างต่อเนื่อง แสดงได้จากสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ยังน่ากังวลอยู่ ไม่ว่าจะเป็น

1.จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ (New case) เพิ่มขึ้นสูง ล่าสุดเพิ่มขึ้น 7,058 ราย ยังสูงกว่าผู้รักษาหายรายใหม่ (Recovered case) ที่ 4,148 ราย กดดันให้จำนวนผู้ที่อยู่ระหว่างรักษา (Active case) เดินหน้าทำ New High ต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมีอยู่ 67,614 ราย

2.การระบาดโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า (พบครั้งแรกที่อินเดีย) ซึ่งสามารถแพร่ระบาดได้รวดเร็วเริ่มรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากสัดส่วนผู้ป่วยจากสายพันธุ์เดลต้าในเขตกรุงเทพฯเพิ่มขึ้น จนล่าสุดแตะระดับราว 70% สูงกว่าสายพันธุ์อัลฟjา (พบครั้งแรกที่อังกฤษ) ที่ราว 30% ส่วนภาพรวมทั้งประเทศพบโควิดสายพันธุ์อัลฟา 65.1%, เดลต้า 32.2% และเบต้า (พบครั้งแรกที่แอฟริกาใต้) 2.6%

3.จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ตรวจพบในพื้นที่ต่างจังหวัดมากขึ้น สะท้อนถึงจำนวนผู้ติดเชื้อเริ่มขยายวงออกไปจากเดิมที่เคยกระจุกอยู่ในเขต กทม. และปริมณฑล โดยปัจจุบันสัดส่วนผู้ติดเชื้อรายใหม่ใน กทม. ต่อ ต่างจังหวัดอยู่ที่ 50 : 50 จากก่อนหน้าที่อยู่ราว 60 : 40

สถานการณ์ดังกล่าวสอดคล้องกับที่ฝ่ายวิจัยเอเซีย พลัสเคยนำเสนอไปตั้งแต่ต้นเดือน ก.ค. 2564 ว่า จำนวนผู้ติดเชื้อของไทยจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจนไปถึงจุดสูงสุด (Peak) ในช่วงสัปดาห์ที่ 3 ของเดือน ก.ค. 2564 โดยจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลให้การล็อกดาวน์ (Lockdown) อาจตามมาได้ คล้ายกับช่วงไตรมาส 2/63 ที่ผ่านมา ที่ล็อกดาวน์เข้มงวดนาน 38 วัน

ผวา ! ฟูลล็อกดาวน์ ฉุด GDP ปี’64 โอกาสติดลบเป็นปีที่ 2

ทั้งนี้หากล็อกดาวน์เข้มงวดเหมือนไตรมาส 2 ปี 2563 และหากยืดเยื้อประเมินตัวเลขเศรษฐกิจไทย (GDP Growth) ปี’64 มีโอกาสติดลบต่อเนื่องเป็นปีที่ 2

โดยดาวน์ไซต์ (Downside) ในการปรับลด GDP Growth ปี 2564 ฝ่ายวิจัยเอเซีย พลัสฯประเมินมีโอกาสถูกปรับลง ถือเป็นเซนติเมนต์ลบต่อตลาดหุ้น โดยปัจจุบันสำนักเศรษฐกิจส่วนใหญ่ และ Consensus ที่คาด GDP Growth อยู่ในกรอบ 1.5-2% เทียบช้วงเดียวกันปีก่อน ฝ่ายวิจัยคาด 1.7% แต่ส่วนใหญ่สมมุติฐานยังไม่รวมผลกระทบของการล็อกดาวน์ 10 จังหวัดระยะเวลา 1 เดือน (ปลายเดือน มิ.ย.-ปลายเดือน ก.ค.)

และปัจจุบันรัฐบาลอาจพิจารณาออกมาตรการล็อกดาวน์ทั้งประเทศ ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องติดตาม เพราะหากเกิดขึ้นผลกระทบ การปรับลด GDP จะขึ้นกับระยะเวลายาวนาน

ไตรมาส 2/63 มูลค่า Real GDP ลดแรง 3.23 แสนล้าน

โดยฝ่ายวิจัยพิจารณาในอดีตจากการล็อกดาวน์ไทยแบบเข้มงวดทั่วประเทศ ปี 2563 รัฐบาลได้ประกาศล็อกดาวน์ ระยะเวลา 26 มี.ค.-3 พ.ค. 63 รวม 38 วัน ในรอบนั้นมูลค่า Real GDP แต่ละไตรมาสเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว พบว่า

– ไตรมาส 1 ลดลง 5.8 หมื่นล้านบาท
– ไตรมาส 2/63 ลดลงแรงถึง 3.23 แสนล้านบาท
– ไตรมาส 3-4 ของปี’63 มูลค่า GDP ยังลดลงต่อ

เพราะทั่วโลกเผชิญโควิดและนักท่องเที่ยวไม่มีเข้าไทย รวมถึงภาคส่งออกลดลงตามการค้าโลก และถ้าพิจารณาตัวบ่งชี้ (Indicator) ในปีที่แล้ว จะพบว่าความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลงต่อเนื่อง และคนออกจากบ้านลดลง สะท้อนจาก google mobility index

โดยจากข้อมูลในปี 2563 ดังกล่าว ฝ่ายวิจัยประเมินหากรัฐประกาศล็อกดาวน์ทั่วประเทศรอบนี้ (รอรัฐบาลพิจารณาวันที่ 11-12 ก.ค. 64) คาดจะกระทบเศรษฐกิจเหมือนปีที่แล้ว เบื้องต้นกำหนดไตรมาส 2/63 เป็นกรณี Worst Case คาด GDP ไทยหากได้รับผลกระทบล็อกดาวน์ มูลค่าประเมินจะหดตัวลงไม่ควรเกินนี้ เพราะเป็นไตรมาสที่เลวร้ายที่สุด โดยประเมินว่า GDP งวดไตรมาส 2/64-3/64 มูลค่าจะลดลงจากปีที่แล้ว คาดจะหดตัวทั้งไตรมาสก่อนหน้า (qoq) และช่วงเดียวกันปีก่อน (yoy) และมีโอกาสสูงที่ GDP Growth ทั้งปี 2564 อาจจะพลิกกลับมาติดลบ

ล็อกดาวน์ฉุดกำไร Q3 อาจต่ำสุดของปี

นอกจากนี้อัตราการเติบโตของกำไรเป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญที่ช่วยในการผลักดันตลาดหุ้นไทย ซึ่งปัจจุบันกำไรบริษัทจดทะเบียน (บจ.) มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น จากการแพร่ระบาดหนักของโควิด-19 ในประเทศ และหากภาครัฐมีการประกาศล็อกดาวน์ในช่วงไตรมาส 3/64 นี้ มีโอกาสกดดันให้กำไร บจ.เป็นหลุมต่ำสุดของปี และลดลงทั้งไตรมาสก่อนหน้า (qoq) และช่วงเดียวกันปีก่อน(yoy) ได้ด้วย 3 เหตุผลดังนี้

1.ตัวเลขผู้ติดเชื้อเฉลี่ยในช่วงไตรมาส 3/64 เกือบ 6 พันรายต่อวัน และสูงโดดเด่นเกิน 1 เท่าตัวจากไตรมาสที่ผ่านมา อีกทั้งช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนแทบไม่มีผู้ติดเชื้อเลย ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญที่รัฐใช้ในการพิจารณาล็อกดาวน์ ประเด็นดังกล่าวส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจลดน้อยลง และกระทบต่อภาพรวมกำไร บจ.

2.หากมีการล็อกดาวน์จริง มาตรการน่าจะเข้มงวดขึ้นกว่าทั้งไตรมาสที่ผ่านมา และช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน มาตการล็อกดาวน์แม้จะช่วยควบคุมการแพร่ระบาดได้ แต่ต้องแลกมากับเศรษฐกิจฟื้นตัวได้ช้าลง ซึ่งหากเปรียบเทียบกับช่วงไตรมาส 3/63 ไม่ได้มีมาตการคุมเข้มอะไร และช่วงไตรมาส 2/64 มีเพียงมาตการแบ่งโซนสี ดังนั้นมาตการที่ออกมาน่าจะกดดันเศรษฐกิจและกำไรให้เป็นหลุมพอสมควร

4 เซ็กเตอร์หุ้นกระทบล็อกดาวน์

3.จำนวน 4 เซ็กเตอร์ (Sector) ที่กำไรน่าจะถูกกดดันมากสุดหากมีการล็อกดาวน์คือ ยานยนต์ (AUTO), มีเดีย (MEDIA), ขนส่ง (TRANS), บริการรับเหมาก่อสร้าง (CONS) โดย Sector ดังงกล่าวเคยพลิกเป็นขาดทุนในช่วงไตรมาส 2/63 ซึ่งอยู่ในช่วงที่มีมาตรการล็อกดาวน์

ขณะเดียวกันกำไรหุ้นกลุ่มพลังงานอาจพยุงกำไรตลาดได้น้อยลง หากกลุ่ม OPEC มีการปรับเพิ่มกำลังผลิตในไตรมาสนี้ กดดดันให้ราคาน้ำมันมีโอกาสย่อตัวหลังจากทำจุดสูงสุดในรอบ 3 ปี ช่วงต้นไตรมาส

ทั้ง 3 ปัจจัยล้วนกดดันกำไรบริษัทจดทะเบียนเป็นหลุมต่ำสุดของปีและลดลงทั้งไตรมาสก่อนหน้า (qoq) และช่วงเดียวกันปีก่อน (yoy) หากการล็อกดาวน์คุมเข้มและยืดเยิ้อกินระยะเวลานาน

เสี่ยงปรับประมาณกำไร บจ.

นอกจากนี้ในมุมมองกำไรต่อหุ้น (EPS Consensus) ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูงถึง 83.6 บาท/หุ้น (สูงกว่าที่ฝ่ายวิจัยประเมินไว้ที่ 71.2 บาท/หุ้นมาก) ถือเป็นความเสี่ยงสำคัญที่น่าจะเห็นการปรับประมาณการกำไรลงในช่วงต่อจากนี้