ค่าเงินบาทวิ่งในแนวอ่อนค่า ยังถูกกดดันจากสถานการณ์โควิดในประเทศ

เงินบาท-หุ้นไทย

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 12 กรกฎาคม 2564

ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (12/7) ที่ระดับ 32.59/60 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (9/7) ที่ระดับ 32.51/53 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินบาทช่วงนี้ยังคงผันผวน โดยได้รับแรงกดดันจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศที่ยังรุนแรง ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีได้ประกาศล็อกดาวน์ 14 วัน รวมถึงประกาศเคอร์ฟิวในพื้นที่ 10 จังหวัดควบคุมสูงสุดให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันนี้ (12/7) เป็นต้นไป ซึ่งตลาดอาจมองว่าจะส่งผลลบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากกว่าครั้งที่ผ่าน ๆ มา ทั้งนี้นักลงทุนคอยติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาด การควบคุม และการกระจายวัคซีนป้องกันโควิด-19 อย่างใกล้ชิด

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐนั้น ปรับตัวอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลหลัก โดยตลาดเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น (risk-on sentiment) นักลงทุนเข้าถือสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น สอดคล้องกับตลาดหุ้น Dow Jones, S&P500 และ Nasdaq ของสหรัฐ ที่ปิดแตะระดับสูงสุดในประวัติการณ์ อย่างไรก็ตาม นักลงทุนจับตาตัวเลขเงินเฟ้อและยอดค้าปลีกประจำเดือนมิถุนายนของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 32.58-32.66 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 32.65/67 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรปิดตลาดเช้านี้ (12/7) ที่ระดับ 1.1876/77 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (9/7) ที่ระดับ 1.1860/64 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร นางคริสติน ลาการ์ด ประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) ให้สัมภาษณ์กับบลูมเบิร์กทีวีว่า ECB จะปรับเปลี่ยนสัญญาณชี้นำนโยบายการเงินในการประชุมครั้งหน้าเพื่อสะท้อนให้เห็นถึงกลยุทธ์ใหม่และความมุ่งมั่นของ ECB ในการกระตุ้นเงินเฟ้อ

ทั้งนี้การประชุม ECB ครั้งล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ECB ได้ประกาศเปลี่ยนแปลงเป้าหมายเงินเฟ้อจากเดิมที่กำหนดให้ “อยู่ใกล้ แต่ไม่เกินระดับ 2% เป็น “อยู่ที่ระดับ 2%” แต่ยืดหยุ่นให้เงินเฟ้ออยู่สูงกว่าระดับ 2% ได้หากมีความจำเป็น โดยถ้อยแถลงของประธาน ECB บ่งชี้ได้ว่า ECB จะไม่คุมเข้มนโยบายการเงินก่อนกำหนด และหนุนความคาดหวังตลาดว่าเงินฟ้อจะปรับตัวสูงขึ้นในอนาคต ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1854-1.1879 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1857/59 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (12/7) ที่ระดับ 110.10/11 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (9/7) ที่ระดับ 109.94/97 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ นักลงทุนขายเงินเยนเพื่อเขาถือเงินดอลลาร์สหรัฐ มากขึ้นหลังจากที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี (US Bond Yield) ดีดตัวขึ้นมาจากระดับต่ำสุดในสัปดาห์ที่แล้วที่ 1.25% และอยู่ที่ระดับ 1.33% สำหรับตัวเลขสำคัญทางเศรษฐกิจที่ได้เปิดเผยในวันนี้

ได้แก่ ยอดสั่งซื้อเครื่องจักรพื้นฐาน (ไม่รวมเครื่องจักรสำหรับอุตสาหกรรมต่อเรือและสาธารณูปโภคไฟฟ้า) ปรับตัวขึ้น 7.8% ในเดือนพฤษภาคม เมื่อเทียบเป็นรายเดือน สูงกว่าเดือนก่อนหน้าที่เพิ่มขึ้นเพียง 0.6% โดยยอดสั่งซื้อเครื่องจักรซึ่งเป็นดัชนีวัดการใช้จ่ายด้านทุนของภาคเอกชนปรับตัวขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 แล้ว จึงนับเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นมีแนวโน้มฟื้นตัวจากผลกระทบที่เกิดจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 109.97-110.27 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 110.11/14 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคของสหรัฐประจำเดือนมิถุนายน (13/7), ยอดส่งออก/นำเข้าของจีน ประจำเดือนมิถุนายน (14/7), ผลผลิตอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น ประจำเดือนพฤษภาคม (14/7), ผลผลิตอุตสาหกรรมของยูโรโซนประจำเดือนพฤษภาคม (14/7), ดัชนีราคาผู้ผลิตของสหรัฐประจำเดือนมิถุนายน (14/7), ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศจีน ประจำไตรมาส 2 (15/7), ผลผลิตอุตสาหกรรมของจีน ประจำเดือนมิถุนายน (15/7),

อัตราการว่างงานของสหราชอาณาจักร ประจำเดือนพฤษภาคม (15/7), ดัชนีภาคการผลิตจาก Fed สาขา Philadelphia ประจำเดือนกรกฎาคม (15/7), จำนวนผู้รับสวัสดิการว่างานรายสัปดาห์ครั้งแรกของสหรัฐ (15/7), ผลผลิตอุตสาหกรรมของสหรัฐ ประจำเดือนมิถุนายน (15/7), ผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (16/7), ดัชนีราคาผู้บริโภคของยูโรโซน ประจำเดือนมิถุนายน (16/7), ยอดค้าปลีกของสหรัฐ ประจำเดือนมิถุนายน (15/7), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐ จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน (15/7)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -0.1/0.1 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ 4/4.5 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ