บีบแบงก์ “ลดดอกเบี้ย-ยืดหนี้” เยียวยาแจกเงิน 9 กิจการ

ครม. เคาะแพ็กเกจมาตรการเยียวยาโควิด แจกเงินแรงงาน ฟรีแลนซ์ ม.39-40 คนละ 5,000 บาท โฟกัสกลุ่มเป้าหมาย 9 กิจการ กิจการก่อสร้าง ที่พักแรม บริการด้านอาหาร กิจกรรมศิลปะ ความบันเทิง-นันทนาการ ฯลฯ ลดค่าไฟ ค่าน้ำ ค่าเทอม ช่วยลูกหนี้สถาบันการเงิน SMEs รอลอตหน้า

วันที่ 13 กรกฎาคม 2564 การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นประธาน ได้อนุมัติมาตรการเยียวยาประชาชนรอบใหม่ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและผลกระทบจากโควิด-19 ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวเป็นไปตามข้อเสนอที่ประชุมร่วม รัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจและทีมที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 12 ก.ค. โดยให้ความช่วยเหลือเร่งด่วนแก่กลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการที่อยู่ในพื้นที่สถานการณ์ควบคุมสูงสุด 10 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และสงขลา

แจกฟรีแลนซ์คนละ 5 พัน

โดยมีรูปแบบการให้ความช่วยเหลือคือ กลุ่มแรงงานที่อยู่ในระบบและนอกระบบสัญชาติไทย ผู้ประกันตน ตามมาตรา 33 จะได้รับความช่วยเหลือเงินจำนวน 2,500 บาท จำนวน 1 เดือน ขณะที่ผู้ประกันตน มาตรา 39 และมาตรา 40 สัญชาติไทยจะได้รับความช่วยเหลือคนละ 5,000 บาท จำนวน 1 เดือน

สำหรับแรงงาน ตามมาตรา 33 เดิมกำหนดว่าเหตุสุดวิสัย มีสิทธิได้เงินทดแทนจากการว่างงาน ร้อยละ 50 ไม่เกิน 7,500 บาท ไม่เกิน 90 วัน เพิ่มเป็นได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐไม่เกิน 10,000 บาท ส่วนนายจ้าง จะได้รับความช่วยเหลือสูงสุดไม่เกินจำนวนลูกจ้าง 200 คน อัตรา 3,000 บาทต่อคน จำนวน 1 เดือน

กรณีผู้ประกอบการในระบบ “ถุงเงิน” ในโครงการคนละครึ่ง เราชนะ ที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับประกันสังคมเพราะไม่มีลูกจ้าง ให้ดำเนินการลงทะเบียนเป็นผู้ประกันตนตาม ม.40 เพื่อรับความช่วยเหลือรายละ 5,000 บาทด้วย 1 เดือน

Advertisment

คาดว่าจะใช้งบประมาณ 3 หมื่นล้านบาท โดยให้สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ไปพิจารณาเปลี่ยนแปลงรายละเอียดการเยียวยานายจ้างและผู้ประกันตนมาตรา 33 และเร่งลงทะเบียนกลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการที่ยังไม่อยู่ในระบบประกันสังคม

9 กิจการที่ได้รับความช่วยเหลือ

กลุ่มเป้าหมายที่ได้รับผลกระทบคือ จากเดิมคือ กิจการก่อสร้าง กิจการที่พักแรมบริการด้านอาหาร กิจกรรมศิลปะ ความบันเทิงและนันทนาการ กิจกรรมบริการด้านอื่น ๆ เพิ่มเป็น 9 สาขา โดยเพิ่มสาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า สาขาขายส่งและการขายปลีก การซ่อมยานยนต์ สาขากิจกรรมการบริหารและบริการสนับสนุน สาขากิจกรรมวิชาชีพ วิทยาศาสตร์และกิจกรรมทางวิชาการ และสาขาข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร

ลดค่าไฟ ค่าน้ำทั่วประเทศ

สำหรับการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายของประชาชน ธุรกิจทั่วประเทศ ประกอบด้วย ลดค่าไฟฟ้า ให้สิทธิส่วนลดบ้านที่อยู่อาศัย กิจการขนาดเล็ก ขนาดกลาง กิจการขนาดใหญ่ กิจการเฉพาะอย่าง องค์กรไม่แสวงหากำไร และการสูบน้ำเพื่อการเกษตร ไม่รวมราชการและรัฐวิสาหกิจ กรณีผู้ใช้ไฟฟ้าบ้าน ไม่เกิน 150 หน่วยต่อเดือน ให้สิทธิฟรี 90 หน่วยแรก ผู้ใช้ไฟฟ้ากิจการขนาดเล็ก ใช้สิทธิไฟฟ้าฟรี 100 หน่วยแรก เป็นเวลา 2 เดือน (ก.ค.-ส.ค.)

ค่าน้ำประปา บ้านอาศัย และกิจการขนาดเล็ก ได้ลดค่าน้ำลง 10% เป็นเวลา 2 เดือน (ส.ค.-ก.ย.) โดยให้การไฟฟ้านครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ขอสนับสนุนแหล่งเงินจาก พ.ร.ก.เงินกู้ เพื่อดำเนินมาตรการไม่เกิน 12,000 ล้านบาท

Advertisment

ลดค่าเทอม 1 ภาคเรียน

กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ลดเงินค่าบำรุงการศึกษา ค่าธรรมเนียมอื่น ๆ ในภาคเรียนที่ 1/2564 เป็นกรณีพิเศษ

ช่วยลูกหนี้สถาบันการเงิน

ให้กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย หารือกับธนาคารพาณิชย์ ผ่อนปรนการชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ย หรือการเลื่อนงวดการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยให้แก่ลูกค้าทั้งที่เป็นประชาชนและผู้ประกอบการอย่างจริงจัง โดยจะกำหนดช่องทางร้องเรียนของประชาชน กรณีสถาบันการเงินไม่ให้ความร่วมมือ และจะพิจารณาดำเนินการอื่น ๆ ต่อสถาบันการเงินดังกล่าวด้วย

มาตรการในระยะต่อไป จะให้ความช่วยเหลือเอสเอ็มอีทั่วประเทศ โดยให้สภาพัฒน์ กระทรวงแรงงาน และกระทรวงการคลัง กำหนดรูปแบบช่วยเหลือตามความเหมาะสมต่อไป

ธปท.ถกสมาคมแบงก์ อุ้มลูกหนี้กิจการถูกล็อกดาวน์

แหล่งข่าวสถาบันการเงิน เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสมาคมธนาคารไทย (TBA) ได้มีการประชุมหารือร่วมกันเพื่อหามาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ระลอก 3 โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงหรือกิจการถูกปิดจากมาตรการยกระดับการควบคุมการระบาดของโควิด-19 หรือมาตรการล็อกดาวน์ โดยต้องการให้ธนาคารได้เข้าไปให้การช่วยเหลือลูกค้ากรณีเป็นพิเศษ

ทั้งนี้ จากการประชุมในเบื้องต้น พบว่ามาตรการช่วยเหลือจะเป็นการพักชำระหนี้ (Skip payment) ให้กับกลุ่มลูกค้าที่อยู่ในพื้นที่ล็อกดาวน์ โดยลูกค้าจะต้องแสดงความจำนงกับธนาคารหรือสถาบันการเงินเจ้าหนี้ว่าได้รับผลกระทบแท้จริง เนื่องจากมาตรการดังกล่าวจะไม่ได้เป็นการพักหนี้เป็นการทั่วไปหรือวงกว้าง โดยในเบื้องต้นจะเป็นการพักชำระหนี้ 2 เดือน ในกลุ่มลูกค้าบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล ขณะที่กลุ่มสินเชื่อเช่าซื้อจะพักชำระหนี้สูงสุด 3 เดือน

“ธปท.ต้องการให้แบงก์เข้าไปดูแลกลุ่มลูกค้าที่กิจการถูกกระทบจากการล็อกดาวน์เป็นกรณีพิเศษ ซึ่งโดยปกติมาตรการช่วยเหลือของธนาคารก็มีอยู่แล้วถึงสิ้นปี แต่ ธปท.อยากให้เข้าไปช่วยเหลือเป็นพิเศษโดยการให้พักชำระหนี้ ซึ่งเบื้องต้นที่มีการพูดคุยให้พักหนี้อยู่ระหว่าง 2-3 เดือน ซึ่งจะไม่ได้เป็นการพักเป็นวงกว้าง แต่เราจะดูว่าลูกค้าเข้าข่ายที่ได้รับผลกระทบจากถูกล็อกดาวน์หรือไม่ ถ้าใช่ก็พักหนี้ให้ ส่วนลูกค้าทั่วไปที่ได้รับผลกระทบและเข้าโครงการเราก็มีมาตรการช่วยเหลือหลากหลายตามความเหมาะสมรายกรณี เช่น ปรับโครงสร้างหนี้ ยืดเทอมชำระหนี้ เป็นต้น”