ขุนคลังเล็งต่อเวลาพักหนี้เกิน 2 เดือน หวังพยุงธุรกิจฟื้น

“อาคม” เล็งขยายพักหนี้ทั้ง “เงินต้น-ดอกเบี้ย” หวั่นแค่ 2 เดือน ไม่เพียงพอช่วยธุรกิจฟื้นตัว สศค.เดินหน้าใช้นโยบายการคลัง “ขาดดุล” รับมือวิกฤต พร้อมขยายเพดานกู้เพิ่มตามความจำเป็น

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวในงานสัมมนา Thailand Economic Monitor “เส้นทางสู่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ” จัดโดยธนาคารโลกว่า รัฐบาลได้วาง 3 แนวทางในการฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะต่อไป ได้แก่

1.มาตรการช่วยเหลือเยียวยาผลกระทบโควิด-19 โดยเฉพาะมาตรการระยะสั้น เช่น การปรับโครงสร้างหนี้ เป็นต้น ซึ่งจะมีการประเมินสถานการณ์อีกครั้ง ว่าจะต้องยืดอายุมาตรการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยออกไปอีกหรือไม่ เนื่องจากระยะ 2 เดือนอาจไม่เพียงพอให้ภาคธุรกิจได้ฟื้นตัว

2.การปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจใน 4 ด้าน คือ (1) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เน้นการลดใช้พลังงานและเน้นไปที่พลังงานสะอาดมากขึ้น (2) การมุ่งสู่เศรษฐกิจดิจิทัล (3) การเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศ หรือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ผ่านนโยบายส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) และ (4) การส่งเสริมท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

3.การบริหารเศรษฐกิจมหภาค เช่น การปฏิรูปการจัดเก็บรายได้ภาครัฐ การส่งเสริมการลงทุนที่ทำให้เม็ดเงินลงสู่เศรษฐกิจฐานราก และการดึงส่งเสริมให้คนไทยเข้ามาอยู่ในระบบประกันสังคมหรือประกันสุขภาพมากขึ้น เช่น กองทุนประกันสังคม กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือกองทุนต่าง ๆ บัตรสวัสดิการ เป็นต้น

“ปีนี้เศรษฐกิจไทยส่งสัญญาณดีขึ้น จากการส่งออกที่ขยายตัวดีขึ้น รัฐบาลได้เริ่มเปิดประเทศ เริ่มที่ภูเก็ตแซนด์บอกซ์ และล่าสุดได้เปิดสมุยพลัสโมเดล โดยรายได้จากภาคการท่องเที่ยว มีส่วนสำคัญต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทย ดังนั้น รัฐบาลจะเปิดประเทศควบคู่การดำเนินมาตรการทางเศรษฐกิจ เพื่อหนุนให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ดีขึ้น และมองว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2564 และปี 2565 จะฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป”

รมว.คลังกล่าวว่า จากการใช้มาตรการเข้มงวด เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดใน 10 จังหวัด รัฐบาลได้ออกมาตรการเยียวยา ซึ่งเน้นไปที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและแรงงานที่อยู่ในระบบประกันสังคมเป็นหลัก รวมทั้งการช่วยเหลือลดภาระค่าใช้จ่าย ค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าเทอม

ขณะที่มาตรการทางการเงิน นอกจากมาตรการยืดเวลาการชำระหนี้ไปถึงสิ้นปี 2564 แล้วยังได้มีการยกระดับมาตรการด้วยการพักชำระหนี้ทั้งต้นและดอกเบี้ย เป็นระยะเวลา 2 เดือน ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งโครงการคนละครึ่ง และโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ ยังคงดำเนินการตามแผน

น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่าจากการเผชิญสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา บทเรียนที่สำคัญ คือ ภาคการคลังเป็นส่วนสำคัญมากในการดำเนินมาตรการบรรเทาวิกฤต โดยใช้นโยบายการคลังเป็นหลัก เนื่องจากภาคเอกชนเดินไม่ได้ ซึ่งในระยะนี้ยังต้องใช้นโยบายการคลังแบบขยายตัว ยังต้องขาดดุลอยู่ ส่วนจะมีการกู้เงินเพิ่มเติมหรือไม่นั้น ตอนนี้ยังมีเม็ดเงิน แต่ถ้ายังมีวิกฤตและต้องกู้เงินเพิ่มจริง ๆ ก็ยังมีช่องว่างที่ทำได้ โดยสามารถขยายเพดานหนี้สาธารณะออกไป

แต่ทั้งนี้จะต้องดูระยะเวลาที่เหมาะสมและจำเป็นเท่านั้น ส่วนในปีนี้แม้จะกู้เต็มที่ ก็ยังสามารถรักษาวินัยการเงินการคลังได้ตามกรอบวินัยทางการคลัง คือหนี้สาธารณะไม่เกิน 60% ของ GDP